free geoip

เรื่องค้างคาจากนโยบาย 66/2523 : ชาติพันธุ์ม้ง สัญญาใจ และการทรยศ

สงครามประชาชนระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสุดลงไปกว่า 3 ทศวรรษแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงมาจากนโยบายตามมติ ครม.ที่ 66/2523 ที่นิรโทษกรรมให้โอกาส “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” วางอาวุธเข้ามอบตัวกับรัฐบาลไทย

แม้เรื่องราวที่เกี่ยวกับการสู้รบทุกอย่างจะจบลงไปแล้ว แต่ผลตกค้างจากความขัดแย้งในครั้งนั้น ยังไม่คลี่คลายอยู่มาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ม้ง สัญญาใจ และการทรยศหักหลัง

ในยามที่การต่อสู้ขยายตัวออกไป หนึ่งในกลุ่มมวลชนสำคัญกลุ่มหนึ่งของ พคท. ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่าเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มชาวม้ง

“เข็กน้อย” ที่ตั้งอยู่ใน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ก็เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นของ พคท. ที่ชาวม้งจำนวนมากต่างหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

ในอีกฟากหนึ่ง รัฐบาลไทยก็มีการทำสัมพันธ์กับกลุ่มชาวม้ง จูงใจให้ชาวม้งจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายกองทัพไทย จนสามารถจัดตั้งกองร้อยอาสาที่ 31 และ 32 ขึ้นมาช่วยรัฐบาลไทยสู้รบกับ พคท. ได้สำเร็จ

ภายใต้คำมั่นสัญญาจากฝ่ายกองทัพ ว่าเมื่อใดที่การสู้รบจบลง พวกเขาจะได้ที่ดินทำกินที่พวกเขามีส่วนช่วยยึดคืนจาก พคท. ได้ เป็นกรรมสิทธิ์อยู่กินไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ขณะเดียวกัน ภายใต้นโยบาย 66/2523 ที่ออกมา กองทัพเองก็จูงใจให้มวลชนชาวม้งในฝ่าย พคท. ยอมวางอาวุธเข้ามอบตัวกับรัฐบาล โดยตกปากรับคำว่าพวกเขาจะได้รับที่ดินทำกินเป็นกรรมสิทธิ์ตอบแทนการกลับตัวกลับใจเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นั่นคือความสำเร็จของนโยบาย 66/2523 ที่ทำให้ในที่สุดสงครามก็สงบลง  แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด เพราะในหลายกรณี กลายเป็นว่าสัญญาไม่เป็นสัญญา

ในเข็กน้อยเพียงที่เดียว 2 ปีให้หลังจากการออกนโยบาน 66/2523 ทางกองทัพ ก็ได้โอนที่ดินที่กองทัพภาคที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์อยู่จำนวนกว่า 20,000 ไร่ เพื่อภารกิจด้านความมั่นคงในการปราบปราม พคท. ไปให้กรมธนารักษ์ และยังให้กองทัพใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นอยู่

ทุกวันนี้ ต.เข็กน้อย ที่มีประชากรกว่า 17,000 คน กระจายตัวอยู่ใน 12 หมู่บ้าน เป็นชาวม้งแทบจะทั้งหมด มีพื้นที่อยู่กว่า 51,000 ไร่ เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ถึง 20,000 ไร่ เป็นพื้นที่นิคมชาวเขา 25,000 ไร่ และเป็นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 6,600 ไร่

นั่นแปลว่าที่ดินเกือบจะทั้งหมดของ ต.เข็กน้อย ไม่มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์เอกชนของชาวบ้านเลย

และนั่นก็คือสาเหตุที่เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยประธานคณะกรรมาธิการ อภิชาติ ศิริสุรทร พร้อมด้วยทีมงาน ส.ส. พรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็น สมชาย ฝั่งชลจิต, ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ และ เบญจา แสงจันทร์ ได้เดินทางมาเพื่อรับฟังปัญหาจากที่ได้รับร้องเรียนมา ก่อนจะเปิดเวทีเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือที่ จ.พิษณุโลกในวันถัดมา

อภิชาติและคณะ ได้รับข้อร้องเรียนจากวงพูดคุยกับชาวม้งที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และทหารผ่านศึกชาวม้ง ที่ร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพไทยมาเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว ที่เต็มไปด้วยความอัดอั้นใจ

คณะผู้บริหาร อบต.เข็กน้อย ซึ่งเป็นชาวม้งเช่นเดียวกัน ระบุว่าปัญหาการจัดการที่ดินเป็นกรณีปัญหาที่ประชาชนใน ต.เข็กน้อยต้องการให้แก้ไขมากที่สุด และแม้แต่ อบต.เข็กน้อยเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก ไม่ว่าจะมีโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่บนผืนที่ดิน ล้วนแต่ต้องได้รับความยินยอมจากกรมธนารักษ์

“ไม่ว่าโครงการอะไรก็ตามที่เราพยายามจะทำ ก็ติดปัญหาว่าต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์ หลายครั้งพอไปขอกรมธนารักษ์ก็มอบให้เป็นอำนาจกองทัพตัดสินใจ บางครั้งกองทัพก็โยนกลับมาที่กรมธนารักษ์ ทำให้หลายโครงการติดขัดไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย”

ปัจจุบัน ข้อบัญญัติที่ อบต. ได้ทำไว้กว่า 40 โครงการติดการขออนุญาตทั้งสิ้น อย่างเช่นโครงการขุดอ่างเก็บน้ำ เราตั้งโครงการขออนุญาตเพื่อการขุดอ่างแล้ว ทำเรื่องต่อไปที่ธนารักษ์ แต่ธนารักษ์ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่กองทัพยังถือครองใช้อยู่ ยังไม่ใช่ของกรมธนารักษ์โดยสมบูรณ์” ณัฐพงษ์ ทรงสวัสดิ์วงศ์ นายก อบต. เข็กน้อย กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ

ขณะที่ในส่วนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็ได้สะท้อนความคับข้องใจที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของประชาชนชาวม้งที่นี่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาต่างได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับ พคท. ก็เพราะการถูกกดทับรังแกจากรัฐ มาจนเมื่อพวกเขายอมเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็ได้แต่หวังว่ารัฐจะได้มองเห็นความสำคัญของพวกเขา จากคำสัญญาที่ดูจริงใจในเวลานั้น

แต่แล้ว ทุกอย่างก็เป็นเพียงเรื่องของลมปาก เมื่อผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ได้ในสิ่งที่กองทัพเคยสัญญาไว้กับพวกเขาว่าจะมอบให้

“เรื่องนโยบาย 66/23 เราอยากถามว่าทางกองทัพได้แก้ปัญหาหรือทำตามนโยบายครบถ้วนหรือยัง อยากให้ชี้ว่าจัดที่ดินให้ชาวบ้านที่ไหนบ้าง ณ เวลานี้ทางอุทยานฯ เองก็ยืนยันว่าที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ในกฤษฎีกา ที่ให้ทำกินวันนี้ก็แค่อนุโลม แต่จะเอาคืนเมื่อไหร่ก็ได้

ที่ผ่านมาความจริงใจของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินธนารักษ์มีปัญหามากที่สุด พอเราเห็นต่างท่านก็บอกว่าเราไม่หวังดีต่อชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคง

มันนานเกินไปแล้ว ชาวบ้านเบื่อระอาเต็มทีแล้ว เอกสารสิทธิ์ที่ดินไม่จำเป็นต้องเป็น นส.3 ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโฉนดที่ซื้อขายได้ก็ได้ ขอแค่อยู่ได้โดยมีความมั่นคง ทำกินอยู่ได้ถึงชั่วลูกชั่วหลานก็พอแล้ว ไม่ใช่แค่คำปากว่าจะให้ที่ทำกิน แล้วอยู่ ๆ มาบอกจะให้แค่ 30 ปี” ตัวแทนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยกลุ่มหนึ่งพรั่งพรูความอัดอั้นออกมา

สำหรับทหารผ่านศึกชาวม้ง พวกเขายิ่งเจ็บช้ำน้ำใจยิ่งกว่า เพราะพวกเขาจำนวนมากได้เสียสละชีวิตเคียงข้างทหารไทยจำนวนมากระหว่างการสู้รบในอดีตที่ผ่านมา แต่มาวันนี้ พวกเขาเองก็ถูกทอดทิ้ง ไม่ต่างอะไรกับพี่น้องชาวม้งที่เคยหันปืนเข้าหากันในอดีตไม่มีผิด

“เราเป็นคนมาบุกเบิกที่นี่ เราช่วยกองทัพต่อสู้ผู้ก่อการร้าย คุมสองข้างทางทำถนนขึ้นมาบนนี้จนมาตั้งเป็นกองร้อยได้ ได้รับเงินวันละ 12 บาท กองทัพรับปากว่าสงครามสงบลงจะให้พวกเรามีที่ดินทำกินอยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน เสียดายว่าตอนนั้นเราไม่รู้จักทำคำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร พี่น้องม้งเราใช้สัจจะอย่างเดียว มีเรื่องอะไรก็คุยกัน ชนแก้วอย่างเดียว พูดติดปากมีสัจจะ

แต่พอสงครามสงบลง กองทัพกลับเอาที่ดินที่สัญญาว่าจะให้กับเรา ไปมอบให้กรมธนารักษ์ไป ข้อนี้เราขัดข้องว่าทำไมเขาหลอกเราอย่างนี้

วันนี้เหมือนเราถูกหลอกใช้จากทหาร ที่เราอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะกองร้อย 31 ของเราเข้ามาบุกเบิกช่วยกองทัพยึดพื้นที่จากผู้ก่อการร้าย แต่ทุกวันนี้เรากลับมีปัญหาทั้งที่ราชพัสดุ  อุทยาน นิคม ที่ไม่ได้รับการแก้ไขเลยมาจนทุกวันนี้” หนึ่งในทหารผ่านศึกชาวม้งระบายความอัดอั้นน้อยใจในชะตากรรมให้เราฟัง

ในวันรุ่งขึ้น คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและคำชี้แจงจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กอ.รมน. เข้าร่วมหารือโดยมีประธานคณะกรรมาธิการเป็นตัวกลางเพื่อหาทางออก

ซึ่งพี่น้องประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์จากหลากหลายจังหวัด ทั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ รวมถึงจังหวัดในพิ้นที่ใกล้เคียงทั้งตาก เชียงราย เลย ได้เดินทางมาร่วมเวทีอย่างคับคั่ง

ปัญหาร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย 66/2523 ได้พรั่งพรูออกมาจากหลายปาก แม้รายละเอียดจะมีความแตกต่างกัน ลักษณะที่ดินแตกต่างกัน เรื่องราวเบื้องหลังก็แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด

แต่หัวใจหลักของเรื่องล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือมาจากกรณีความขัดแย้ง ที่จบลงได้ด้วยคำสัญญา 66/2523 ที่ว่าจะให้ที่ดินทำกินแก่พวกเขาไปจนชั่วลูกชั่วหลานหากยอมวางอาวุธ แต่สุดท้ายแล้วทุกกรณีก็ยังไม่มีการปฏิบัติตามสัญญามาจนถึงทุกวันนี้

ทางด้านตัวแทนของหน่วยงานของรัฐที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้ ก็รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ดีเพราะได้รับการร้องเรียนมาตลอด  และมีความเห็นใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน

แต่สุดท้ายแล้วทุกส่วนต่างก็ให้ความเห็นไปในทางที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือทุกอย่างล้วนต้องเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเห็นใจพี่น้องชาวม้งเพียงใด พวกเขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบาย การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องทำจากระดับนโยบายเท่านั้น

นั่นคือผ่านนโยบายรัฐบาล กฎหมายระดับกฤษฎีกาจากรัฐบาล และกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร

ในเวทีวันนี้ ที่ปัญหาต่าง ๆ ได้ถูกพรั่งพรูออกมาอย่างมหาศาล กรรมาธิการที่ดินฯได้เป็นตัวกลางดึงเอาทุกฝ่ายที่ประสบปัญหา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมารับฟังเสียงสะท้อนแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่านั่นก็ยังไม่ใช่จุดจบของปัญหาทุกประการ

เพราะศูนย์กลางของปัญหานี้ คือสิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยศูนย์กลางของอำนาจรัฐ นั่นคือในระดับรัฐบาลที่มีความจริงใจ มีความมุ่งมั่น และเป็นเอกภาพ เพื่อออกนโยบายหรือกฎหมายที่เหมาะสม มาแก้ปัญหาให้พวกเขามีความมั่นคงในที่ทำกินให้ได้

บทสรุปของเรื่องนี้ แน่นอนว่ายังไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวันนี้ หรือแม้แต่ต่อจากนี้ไป ตราบที่เรายังต้องอยู่ภายใต้สภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ การแก้ไขปัญหาจะกินเวลาอีกยาวนานและยืดเยื้อ งัดข้อกันอีกหลายครั้งหลายโอกาสระหว่างประชาชน ผู้แทนของเขา และอำนาจรัฐผู้เป็นศูนย์กลางของปัญหา

และสุดท้าย หนทางที่จะเปิดฉากไปสู่การแก้ปัญหานี้ อาจจะต้องไปลงเอยอย่างในคำสรุปของอภิชาติ ในฐานะตัวกลางระหว่างประชาชนชาวชาติพันธุ์และหน่วยงานราชการในเวทีนี้

“ถ้าทางออกที่ปลายอุโมงค์ของพี่น้อง คือความมั่นคงในที่ดิน ปลายทางแสงสว่างที่จะทำให้เกิดความมั่นคงได้ก็คือโฉนด ในปัจจุบันแม้ธนารักษ์จะมีทางออกให้ ด้วยการให้เช่าที่ดินทำกิน อุทยานแห่งชาติก็มีทางออกให้ด้วยการอนุโลมให้ทำกินได้ แต่สุดท้ายจะปลายทางที่เป็นทางออกอย่างแท้จริงก็คือโฉนด ซึ่งก็จะติดกฎหมาย ถ้าไม่แก้กฎหมายก็ต้องใช้อำนาจบริหาร ก็คือรัฐบาล ในการออกกฤษฎีกา เพิกถอนที่ธนารักษ์ ที่อุทยานต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี แล้วหลังจากออกกฤษฎีกาแก้ไขแล้ว ภาระหลักก็คือกรมที่ดิน ออกโฉนดผ่านทั้งการเดินสำรวจและการอ้างอิงเอกสารที่ดินอื่น ๆ ที่มีอยู่

สภาผู้แทนราษฎรของเราก็อาจจะแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับที่ออกโดย สนช.ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ตัวผมเองก็กำลังทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินอุทยานแห่งชาติอยู่ อาจจะยื่นทันเมษายนนี้ แต่ก็ไม่แน่ว่ารัฐบาลจะยกมือให้ผ่านหรือไม่ เพราะเราเป็นฝ่ายค้าน

พูดให้ถึงที่สุด การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้ระดับนโยบาย ที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลง และเราต้องการรัฐบาลที่มีเจตจำนงและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้มาดำเนินการ”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า