
ครบรอบ 2 ปี ‘ผู้พิพากษาคณากร’ ยิงตัวตาย หวังกระบวนการยุติธรรมไทยดีขึ้น
2 ปีที่แล้ว คณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาติดสินใจจบชีวิตตัวเอง หลังจากเปิดโปงการถูกกดดันจากอธิบดีผู้พิพากษาให้เปลี่ยนคำตัดสินคดี และเรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
2 ปีผ่านมาแล้ว แต่ระบบกฎหมายและกระบวนยุติธรรมของประเทศไทย ก็ยังไม่มอบความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเสนอหน้า
เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ‘ตะวัน’ นักกิจกรรมรณรงค์ยกเลิก 112 เพิ่งถูกแจ้งข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ตามมาตรา 112, ข้อหายุงยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในกรณีถ่ายไลฟ์และวิพากษ์วิจารณ์ขบวนเสด็จที่ถนนราชดำเนิน และทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่ลานสยามพารากอนก่อนหน้านี้
ล่าสุดศาลให้ประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท พร้อมวางเงื่อนไขห้ามทำในลักษณะเดียวกันอีก หรือร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และหรือทำการใดที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไลข้อเท้า EM
“ผมไม่เชื่อจริงๆ ว่าในทุกวันนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจไปจนถึงผู้พิพากษาทั้งหลาย หากยังมีสัมปชัญญะเยี่ยงวิญญูชน และยังจดจำวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาได้ จะกล้ากล่าวอ้างอย่างสนิทใจได้ว่า ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยแห่งนี้ ถูกต้อง เหมาะสม ไม่มีอะไรผิดปรกติ เราได้เห็นการบิดเบือนกฎหมายเพื่อใช้ทำร้ายคนบางกลุ่ม หรือให้ท้ายคนอีกกลุ่ม เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเดิมพันของผู้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในชั้นของพนักงานสอบสวน ในชั้นของอัยการ หรือในชั้นของศาล”
รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรรคก้าวไกล กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผู้พิพากษาคณากรเสียชีวิต เป็นช่วง 2 ปี ที่มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้น เราเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นตลอด เห็นการใช้กฎหมายทำร้ายผู้เห็นต่างตลอดมา เช่น กรณีของตะวัน ที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า การแสดงความคิดเห็นของตัวเองโดนรุมกระหน่ำด้วยกำลังและอำนาจสารพัดที่อ้างว่าทำในนามของกฎหมาย
เราเคารพการตัดสินใจของผู้พิพากษาคณากร ความแน่วแน่ของผู้พิพากษาคณากร และ เจ้าหน้าที่ในการยุติธรรมทำได้มากกว่านี้ เพื่อให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ดีขึ้น ไม่ต้องสละชีพเหมือนกับที่ผู้พิพากษาคณากร แต่ขอเพียงทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเอง และร่วมกันยืนหยัดในหลักการ
“เพียงแค่ว่าพวกท่านกล้าหรือไม่ กล้าแม้แต่จะเริ่มที่กรณีเล็กๆ อย่างของคุณตะวัน หรือผู้ชุมนุม ผู้แสดงความเห็นคนอื่นๆ ที่ถูกยัดคดีเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง กล้าที่จะให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขาหรือไม่ หากเพียงเท่านี้ท่านยังไม่กล้า แล้วจะให้ประชาชนกล้าเชื่อคำตัดสินของพวกท่านได้อย่างไร”
รังสิมันต์ ระบุ