free geoip

สตรีผู้ใช้แรงงานควรลาคลอดได้อย่างน้อย 180 วัน


29 ปี ไม่เพิ่มวันลาคลอด เสนอ สตรีผู้ใช้แรงงานลาคลอดได้ 180 วัน

“ในปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากกฎหมายผู้ใช้แรงงานที่กดทับและลิดรอนสิทธและเสรีภาพ หากถามว่าในที่ 8 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็น ‘วันสตรีสากล’ คิดถึงอะไร เรายังคงเห็นภาพของสตรีผู้ใช้แรงงานที่มีภาระในด้านการเลี้ยงดูบุตรและเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะหากเราเป็นผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการที่จะหางานทำดีๆ ในสังคม จะพบว่ามีข้อจำกัดอย่างหลากหลายที่ทำให้แรงงานสตรีส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากไปทำงานในธุรกิจสิ่งทอ เพราะเป็นกิจการที่รับสตรีมากกว่ากิจการในประเภทอื่น แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ธุรกิจกิจสิ่งทอเริ่มปิดกิจการมากขึ้น จึงส่งผลกระทบให้แรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้เสียทั้งงานและรายได้ที่มั่นคง”

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวในวงเสวนาในหัวข้อ ‘พ่อแก่ เเม่ป่วย ลูกเล็ก มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี’ ที่จัดโดย ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตพรรคก้าวไกล ( Think Forward Center ) เนื่องในวันสตรีสากล

วรรณวิภา กล่าวอีกว่า เมื่อนึกถึงวันสตรีสากล เรายังนึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิงที่เกี่ยวกับวันลาคลอด ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ที่แรงงานหญิงเรียกร้องเรื่องนี้ในวันสตรีสากล จนทำให้มีวันลาคลอดจากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน สิทธินี้ได้มาจากการเรียกร้องจากสตรีมีครรภ์ที่ต้องออกไปประท้วง กรีดเลือด อดข้าว จนได้สิทธิวันลาคลอดได้เพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เราได้วันลาคลอดเพิ่มให้เป็น 98 วัน แต่มีข้อเเม้ว่า 8 วันนั้น ไม่ระบุว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างหรือไม่ กลายเป็นไม่มีประโยชน์ไป เพราะเมื่อใช้สิทธิลาแต่หากไม่ได้รับค่าชดเชย พวกเขาก็เลือกที่จะลาเพียง 90 วัน เหมือนเดิม สะท้อนให้เห็นว่า 29 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเปลี่ยนเลยด้านวันลาคลอด”

วรรณวิภา กล่าว

ตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล เล็งเห็นปัญหาของการจ้างงานในปัจจุบันว่า นอกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็ยังมีปัญหาการบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจังในประเทศไทย บางข้อตัวกฎหมายมันดีอยู่แล้ว แต่เราไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง พรรคก้าวไกลจึงยกร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานและได้ยื่นซ้ำอีกครั้งหลังจากฉบับก่อนถูกนายกรัฐมนตรีใช้เทคนิคทางกฎหมายปัดตกไป และเราจะต่อสู้ต่อไปเพื่อให้นโนบายของผู้ใช้แรงงานเป็นจริง ทั้งสิทธิวันลาคลอด ต้องไม่น้อยกว่า 180 วัน สิทธิค่าแรง ค่าล่วงเวลาต่างๆ และห้ามเลือกปฏิบัติทั้งในเรื่องของเพศสภาพ

วรรณวิภา ยังย้ำว่า รัฐบาลจะต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเเรงงานให้เป็นปัจจุบัน ต้องเพิ่มในเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และควรแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ควรรับอนุสัญญา ILO ข้อที่ 87 และ 98 เพื่อให้เเรงงานมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อย่างถูกต้องและแข็งแรงตามกฎหมาย ซึ่งกลไกที่เราปฏิเสธนี้ทำให้โดนตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ เนื่องจากถูกมองว่าละเมิดสิทธิแรงงานด้าน รวมถึงการค้ามนุษย์ แนวทางที่กล่าวมานี้สามารถทำได้ทันทีด้วยมติ ครม. ไม่ต้องใช้งบประมาณ และจะเป็นผลดีต่อการสร้างงานในอนาคต ทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทยได้

ขณะที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติที่กดทับของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่า การจ้างงานในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบดั้งเดิมที่สังคมกำหนด คือ การแบ่งเป็นสองเพศเท่านั้น และยังอยู่ในกรอบที่มองว่าเพศชายเป็นช้างเท้าหน้า เพศหญิงเป็นช้างเท้าหลัง คุณค่าความชายหญิงที่สังคมให้ มีความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน ทำให้มองคุณค่าทางเศรษกิจไม่เท่ากันด้วย เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศอย่างไร จึงย้อนกลับไปที่สังคมให้คุณค่าของเพศทางสังคม อาทิ หญิง ชาย เพศที่สาม กลุ่มรักข้ามเพศ เท่ากันหรือไม่ เมื่อไม่เท่ากันจึงนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในกลุ่มผู้มีความหลากหลายด้วย

“ขอถามว่า ขณะนี้เรามีบุคคลข้ามเพศเป็นผู้บริหารมากน้อยแค่ไหนในสังคม ทั้งที่เขาเหล่านี้มีความสามารถไม่แพ้หญิงชาย ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนข้ามเพศในสังคม และต้องขอถามว่า ในปัจจุบันกฎหมายแรงงานมีการออกแบบเพื่อรองรับต่อกลุ่มคนข้ามเพศบ้างหรือไม่ เราเห็นเรื่องเหล่านี้แล้วในหลายประเทศแต่ในไทยยังไม่ชัดเจน หลายอย่างยังเป็นความเหลื่อมล้ำที่หาทางออกไม่เจอ นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือ เราอยากเห็นเรื่องสมรสเท่าเทียมที่กลุ่ม LGBTQ+ สามารถได้สิทธิและเสรีภาพในการดูแลมรดกของคู่ชีวิตในการดูแลกันและกันได้ เรื่องความเหลื่อมล้ำยอมรับว่ามันฝังรากลึก แต่มันกัดกินสังคมไทย เราต้องทำให้เกิดการสร้างงานโดยการไม่เลือกปฏิบัติในทุกเพศสภาพ การดูแลความมั่นคงของมนุษย์ต้องอยู่ภายใต้ความสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจและสังคมท่ามกลางวัฒนธรรมที่รุ่มรวย เพื่อเป็นมูลค่าในอนาคต”

ธัญวัจน์ กล่าว


ย้อนฟังการเสวนาได้ที่นี่


ชวนอ่านบทความจาก TFC ต่อที่นี่

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า