
รัฐยังใช้กฎหมายปิดปาก ประชาชนหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและชุมนุมทางการเมือง 2 คดีด้วยกัน ได้แก่ คดีของทานตะวัน นักศึกษาอายุ 20 ปี ที่ไลฟ์ก่อนมีขบวนเสด็จ บริเวณถนนราชดำเนินนอก และทำโพลโพลความคิดเห็นเรื่องขบวนเสด็จที่สยามพารากอน และคดีของนิรพร เเนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจหนึ่ง
กรณีเเรกคือ คุณทานตะวัน ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่พนักงานและต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่พนักงานในการไลฟ์ก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายหลัง ยังถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานยุยงปุกปั่นตามมาตรา 116 และขัดขวางเจ้าหน้าที่พนักงานฐานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่พนักงานในกรณีทำโพลความคิดเห็นเรื่องขบวนเสด็จบริเวณลานหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ออกหมายเรียกบุคคลอื่นรวมอีก 8 ราย หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุเพียง 15 ปี
กรณีที่สอง คุณนิรพร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่ คุณนิรพร ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และได้โพสต์ข้อความจำนวนหนึ่งโพสต์
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 25 และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงความเห็นของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการดำเนินคดีเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลยังไม่ทีท่าที่จะยุติที่จะดำเนินคดีต่อกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ยังคงทำร้ายเยาวชนและนักศึกษา ทั้งที่พวกเขาเพียงออกมาแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้ข้อหาร้ายแรง โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 อย่างหว่านแห คลุมเครือ ทั้งที่กฎหมายทางอาญานั้นมีโทษขั้นสูง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนและต้องมีพื้นฐานการตัดสินใจอยู่บนความเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ณัฐชา ยังกล่าวด้วยว่า การตีความ มาตรา 112 และกระบวนการทางยุติธรรมของไทยในเวลานี้ ถูกตั้งคำถามมากขึ้น หลังศาลอาญาได้พิจารณาการติดสติกเกอร์ กูkult บนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563
คดีดังกล่าว ศาลพิพากษาให้จำเลยกระทำความผิดมีโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของหลักการในการตีความคำว่าหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น และการขยายขอบเขตอย่างคลุมเครือถึงการกระทำต่อวัตถุสิ่งของ นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ปกติ เช่น การพยายามตัดพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยออกไปทั้งหมด และการไม่บันทึกคำถามค้านของทนายฝ่ายจำเลย ทำให้คดีมีการพิพากษาที่รวดเร็วมาก
“พรรคก้าวไกล เห็นว่าการดำเนินคดีการเมืองโดยเฉพาะการบังคับใช้ มาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ จะยิ่งเป็นการสะสมความขัดแย้งทางการเมืองที่รอวันระเบิด ซึ่งจะส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนเสื่อมคลายลง ส่งผลให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม สถาบันตุลาการ และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน การแลกเปลี่ยนทางความคิดในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านทุกยุคสมัยจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักและทบทวนอีกครั้งก่อนที่จะใช้กฎหมายปิดปากประชาชน”
ณัฐชา กล่าวทิ้งท้าย