free geoip

12 นโยบายกรุงเทพ เพื่อ ‘สร้างเมืองที่คนเท่ากัน’

“ผมเชื่อว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่คนกรุงเทพกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ คนกรุงเทพไม่ได้ต้องการผู้ว่า ที่อ้างความเป็นกลาง แล้วนิ่งดูดายลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แต่คนกรุงเทพต้องการผู้ว่า ที่ยืนเคียงข้างพวกเขา คำว่าเป็นกลาง ที่จริงแล้วไม่ใช่กลาง แต่คือการละเลยที่ทำให้ประชาชนถูกบีฑาย่ำยี ไม่คิดแยแสอะไรเลย ทั้งที่อำนาจมาจากประชาชน”

เปิด 12 นโยบาย ‘จุดคานงัด’ เปลี่ยนแปลงกรุงเทพ ที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ประกาศเป็น ‘หมุดหมายแรก’ ที่ต้องปักเป็นหลักการบริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อ ‘สร้างเมืองที่คนเท่ากัน’ ให้สำเร็จ


📌 นโยบายที่ 1 สวัสดิการคนเมือง โอบอุ้มเด็ก คนชรา และผู้พิการ

สามารถจัดสรรเงินที่ได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในกรุงเทพ ทุกคนจะได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท ,เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร แรกเกิด – 6 ปี ให้เด็กในกรุงเทพทุกคน ได้รับเดือนละ 1,200 บาท และเพิ่มสวัสดิการคนพิการเป็น 1,200 บาทต่อเดือน


📌 นโบายที่ 2 วัคซีนฟรี จากภาษีของประชาชน

เพราะวัคซีนควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องจัดหาวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบให้กับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคปอดอักเสบ เป็นโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมากเป็นอันดับ 3 และเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเจาะคอและนอนติดเตียง รวมถึงควรขยายสิทธิวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก อายุ 9-16 ปี ต้องได้รับวัคซีนไข้เลือดออกฟรี เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนยังมีราคาแพง กลุ่มเปราะบางในชุมชนแหล่งเพาะพันธุ์ยังเข้าไม่ถึง แต่เป็นที่รู้กันว่าการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 มีอันตรายมากกว่าเดิมและถึงแก่ชีวิตได้


📌 นโยบายที่ 3 หยุดระบบอุปถัมป์ด้วย ‘งบที่คนกรุงเทพเลือกเองได้’

คนกรุงเทพต้องได้ถืองบประมาณ ต้องไม่เหมือนที่ผ่านมาที่ไม่ยอมแก้ปัญหาแล้วอ้างว่าไม่มีงบ ปัจจุบันมีงบส่วนราชการอยู่ในสำนัก เขต และงบกลางผู้ว่าฯ ที่เพิ่มมาเป็น 14,000 ล้านบาท การจัดสรรด้วยโครงการแบบเดิมๆไม่ตอบโจทย์และส่วนใหญ่คือการประเคนไปให้ผู้รับเหมา ต้องดึงงบประมาณออกมาจากส่วนราชการ 4,000 ล้านบาท แล้วแบ่งเป็น 1,400 ล้านบาทกระจายไปให้ชุมชน ชุมชนละ 500,000-1,000,000 บาท ส่วนอีก 2,400 ล้านบาท กระจายให้ประชาชนทั้ง 50 เขต และอีก 200 ล้านบาท ให้ประชาชนในกรุงเทพฯโหวต ว่าต้องการนำไปใช้ทำอะไร โดยวางกลไลให้ประชาชนได้โหวตเลือกเองได้


📌 นโยบายที่ 4 ‘บ้านคนเมือง’ ที่อยู่อาศัยใจลางเมืองในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้

สร้างที่อยู่อาศัยในตัวเมือง 10,000 ยูนิต ในเวลา 4 ปี ในราคาที่คนทั่วไปจ่ายไหว มีสัญญาเช่า 30 ปี พร้อมเงื่อนไขต่อสัญญา โดยทำเลอยู่ในตัวเมือง เข้าถึงขนส่งสาธารณะ กรุงเทพสามารถออกพันธบัตรมาลงทุนและซื้อที่ดินได้ และสามารถเช่าที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ได้


📌 นโยบายที่ 5 ลดค่าครองชีพ ด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว

ปัจจุบัน กทม.สามารถขออนุญาตเดินรถเมล์เองได้โดยไม่ผ่าน ขสมก. ต้องมีการเพิ่มสายรถเมล์ในย่านที่อยู่อาศัยที่ยังไม่มีขนส่งสาธารณะมาป้อนให้ระบบรถไฟฟ้า โดยสามารถทำตั๋วคนเมืองในราคา 70 บาท เพื่อใช้เป็นค่าโดยสาร 100 บาทได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดยืนในการทำ ‘ระบบตั๋วร่วม’ และ ‘ค่าโดยสารร่วม’ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งภาระกิจแรกที่สามารถทำได้ทันทีเมื่อเป็นผู้ว่า คือการเอากุญแจไปเปิดเซฟบันทึกการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดมาเปิดให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ‘รถไฟฟ้าแพง’


📌 นโยบายที่ 6 ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ เอาเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะในครัวเรือน

ปัจจุบันนายทุนเจ้าของห้างจ่ายค่าขยะอย่างไม่สมเหตุผล โดยจ่ายเพียงเดือนละ 20,000-30,000 บาท ซึ่งถ้ามองว่าสมเหตุผลจริง ให้ห้างเอาเงินก้อนนี้คืนไปแล้วไปจัดการขยะเอาเอง หลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะต้องเข้มงวดกับการเดินรถขยะและออกข้อบัญญัติใหม่เพื่อค่าขยะที่เป็นธรรม ไม่ใช่เอาภาษีประชาชนไปแบกค่าขยะให้นายทุน


📌 นโยบายที่ 7 อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ศูนย์ละ 5 ล้าน ให้มีคุณภาพเท่าเอกชน

เพราะการลงทุนกับพัฒนาการของเด็ก คือการลงุทนเพื่ออนาคตประเทศ จะปล่อยให้ กทม.ลงทุนกับเด็กตามมีตามเกิดไม่ได้ ต้องกล้าลงทุนมากกว่านี้ บรรจุครูพี่เลี้ยงให้เป็นลูกจ้างประจำ และพัฒนาทักษะการศึกษาปฐมวัยให้ครูพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง


📌 นโยบายที่ 8 สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามความฝันของตัวเองได้

จากนี้ไป กรุงเทพมหานครไม่จำเป็นต้องเอาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นปัญหามาเป็นกะลาครอบหัวเด็ก แต่ต้องโฟกัสวิชาสำคัญ ลดการสอบ เลิกขโมยเวลาจากเด็ก คืนอำนาจอธิปไตยในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดให้กับครูและโรงเรียน จัดทำหลักสูตร online ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเข้าถึงการเรียนการสอนที่ดีในวิชาสำคัญได้อย่างเท่าเทียม ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่า TCDC หรือ อพวช. ในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน แจกคูปองตาสว่างให้เด็กไปใช้เปิดโลกทัศน์ ค้นหาตัวตนตามแรงบันดาลใจกับกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนอื่นๆ


📌 นโยบายที่ 9 ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง

ต้องดึงอ้อยออกจากปากนายทุน เอางบอุโมงค์ยักษ์ที่ประเคนให้นายทุนปีละ 2,000 ล้านบาท มาแก้ปัญหาน้ำท่วมที่หน้าบ้านของคนกรุงเทพ


📌 นโยบายที่ 10 เปลี่ยนที่รกร้าง เป็นสวนสาธารณะ

ที่สำคัญคือ จะปล่อยให้นายทุนเอาที่ดินรกร้างในย่านธุรกิจไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินดังที่เป็นอยู่ไม่ได้ ไม่มีมหานครไหนในโลกยอมให้ทำแบบนี้ แต่เราสามารถดึงดูดเอกชนที่ยังไม่ใช้ประโยชน์จากที่ดินเปล่า มอบสิทธิระยะยาวให้กับกรุงเทพนำไปทำเป็นสวนสาธารณะโดยแลกกับการยกเว้นภาษีที่ดินได้


📌 นโยบายที่ 11 ทางเท้าที่ดีเท่ากันทั้งกรุงเทพ ด้วยสเปคและราคากลางที่เท่ากัน

คำถามคือทำไมทางเท้าเอกชนจึงดีกว่า นั่นหมายความว่า ความจริงแล้วปัญหาอยู่ที่การประมูลจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่วิศวกรรม มีการจ้างช่วงฟันหัวคิวและผลประโยชน์เพื่อแลกกับงานห่วยๆแต่ตรวจรับผ่าน ถึงเวลาต้องใช้บุคคลที่สาม (Third Party) ในการตรวจรับงานและเรียกจ่ายค่าปรับ เพื่อไม่ให้ต้องทำไปซ่อมไปไม่มีวันจบสิ้น


📌 นโยบายที่ 12 “เจอส่วย แจ้งผู้ว่า! กรุงเทพโปร่งใส ไร้คอรัปชั่น”

ประชาชนต้องไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นไพร่ที่ต้องคอยส่งส่วยเลี้ยงมูลนาย หรือต้องมาทนเห็นนายทุนที่จ่ายเงินเลี้ยงดูปูเสื่อได้รับการปรนเปรอดูแลในฐานะอภิสิทธิ์ชน ได้รับการละเว้นให้จ่ายค่าธรรมเนียมแบบตีตั๋วเด็ก แต่ประชาชนทั่วไปกลับถูกหาเรื่อง เตะถ่วง เรียกรับประโยชน์ ต้องมีช่องทางร้องเรียนและจัดการอย่างจริงจัง ใช้บุคคลที่สาม (Third Party) ในงานที่ต้องใช้ดุลพินิจในการประเมินตลอดการตรวจรับงาน และต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส เปิดให้เครือข่ายประชาชนรู้ และมีผู้สังเกตการณ์อิสระร่วมตรวจสอบ

“22 พฤษภา ที่จะถึงนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่กรุงเทพมหานครจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่พวกเราจะร่วมกันประกาศฉันทามติใหม่ ว่าเราจะไม่ยอมให้ใครปล้นเอาความฝันของเราไปอีกแล้ว ให้ผมและ ส.ก. ของพรรคก้าวไกล ไปขับเคลื่อนทั้ง 12 นโยบาย”


22 พฤษภา เลือก วิโรจน์ เป็นผู้ว่า
ออกไปกา ให้คนเท่ากัน


ย้อนชมงานเปิดนโยบายได้ที่นี่




ผู้ผลิต วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ที่อยู่ผู้ผลิต พรรคก้าวไกล เลขที่ 167 ชั้น 6 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น
ผลิตวันที่ 27 มีนาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า