free geoip

จับตาประชุมผู้ถือหุ้นโหวตควบรวม ทรู-ดีแทค 4 เมษายนนี้


4 เมษายนนี้! ขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันจับตาการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขอมติการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค

จุดที่น่าตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ก็คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่มีผลการพิจารณาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทว่าจะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง จะกระทบกับผู้ถือหุ้นอย่างไร แต่กลับมีการประชุมผู้ถือหุ้นเสียก่อน

ตามแผนเดิมที่บริษัททั้งสองเปิดเผยต่อสาธารณะ น่าจะมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจ (due diligence) เสร็จสิ้นในไตรมาส 1 ปี 2565 จากนั้นในไตรมาส 2 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป และน่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2565

แต่ผ่านการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าจะศึกษาความเป็นไปได้การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ไปได้ไม่ถึง 2 เดือน การตรวจสอบสถานะธุรกิจของบริษัทที่มีสินทรัพย์รวมกัน 2.7 แสนล้านบาทก็เสร็จสิ้น และเดินหน้ายื่นเรื่องต่อเลขาธิการ กสทช. เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ปัจจุบัน บริษัทฟินันซ่า จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอิสระ ได้จัดส่งรายงานความเห็นประกอบการแจ้งรวมธุรกิจเสร็จเรียบร้อย ส่วนสำนักงาน กสทช. ก็จ้างที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้คู่ขนานก่อนส่งความเห็นให้บอร์ดพิจารณา ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ จะต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่แต่งตั้งที่ปรึกษา เท่ากับว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ ก็จะได้ทราบว่าผลของดีลนี้จะเป็นอย่างไร

เมื่อผลการพิจารณาของบอร์ด กสทช. กำลังจะออกในเดือนพฤษภาคมว่า กสทช. จะกำหนดเงื่อนไขอะไร จะมีมาตรการเฉพาะแบบไหน ต้องมีการขายกิจการบางส่วน หรือขายคืนคลื่นบางส่วนหรือไม่ จะกระทบกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างไร จึงทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วผู้ถือหุ้นจะลงมติในวันที่ 4 เมษายนนี้อย่างถูกต้องได้อย่างไร? และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยอมให้จัดประชุมโดยได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้แล้วหรือยัง

กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ทั้ง พ.ร.บ.กสทช., พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า และประกาศ กสทช. อีกหลายฉบับ ทำให้ต้องมีการตีความจากฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ใน 2 ประเด็นหลัก


📌 หน่วยงานใดมีอำนาจในการพิจารณาการควบรวมกิจการครั้งนี้?

ทั้งสำนักงาน กสทช. และสำนักงานแข่งขันทางการค้า (กขค.) ยืนยันกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่าเป็นอำนาจเต็มของ กสทช. เพราะเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนร่าง พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้าว่าถ้ามีกฎหมายอื่นๆ กำกับเรื่องการแข่งขันให้ใช้กฎหมายนั้น รวมถึงธุรกิจโทรคมนาคม แต่ กขค. ก็ควรเข้ามามีบทบาท หากกฎหมายของ กสทช. ไม่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้


📌 บอร์ด กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติการควบรวมหรือไม่?

ในคำชี้แจงของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจปี 2561 มีการแก้ไขเปลี่ยนจากระบบอนุญาตไปเป็นระบบรายงาน กสทช. จึงไม่มีอำนาจในการอนุมัติอีกต่อไป มีเพียงอำนาจในการออกเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะในกรณีที่จะเกิดความเสียหายกับส่วนรวม


ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ กสทช. ตีความว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นการรวมธุรกิจคนละประเภท ระหว่างบริษัทโทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น (ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม) กับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (ไม่ได้ถือใบอนุญาต) เพราะถ้าเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน จะไปเข้าเกณฑ์ของประกาศอีกฉบับ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด และยังคงต้องใช้วิธีขออนุญาต (ตามข้อ 9) ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่เคยให้เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนเลย

“เมื่อเอกชนเห็นช่องว่างทางกฎหมาย ประกอบกับองค์การกำกับดูแลที่อ่อนปวกเปียก จึงเป็นหนทางไปสู่การเอารัดเอาเปรียบประชาชน ดิฉันยังยืนยันจะเดินหน้าคัดค้านการควบรวมนี้ให้ถึงที่สุด แม้ทางออกจะเริ่มตีบตัน และเวลาจะเหลือไม่มากแล้วก็ตาม”

ศิริกัญญา กล่าว

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า