ชายฉกรรจ์ 4 คน ลักษณะเเต่งกายคล้าย ‘ตำรวจนอกเครื่องเเบบ’ และอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่แจ้งสังกัด บุกเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารปิ่นเกล้าคอนโดมิเนียม ช่วงเวลากลางวันของวันที่ 22 มีนาคม 2565 เพื่อถามหา ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’
แม้ได้รับแจ้งว่าไม่อยู่ แต่ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวยังคงขอให้พาขึ้นลิฟต์ไปหน้าห้องพักเพื่อถ่ายภาพหน้าห้องพัก โดยอ้างเหตุผลว่า “มาติดตามความเคลื่อนไหวของ ชาญวิทย์ ในฐานะที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง”
ทั้งหมดนี้มีหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิดที่พักอาศัยของ ‘ชาญวิทย์’ ยืนยันไว้อย่างชัดเจน
กรณีนี้เกิดขึ้นใจกลางเมืองหลวงในเวลากลางวันแสกๆ แม้ไม่ได้เป็นการปะทะโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เกิดความกลัวและเป็นการคุกคามสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย ที่สำคัญก็คือการกระทำเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้และไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ช่วงที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมหลายรายถูก ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ใช้พฤติการณ์ลักษณะติดตามหลายกรณีและหลายครั้ง ทั้งแบบเปิดเผยตัวและลับๆล่อๆ โดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ ต่อพฤติกรรมดังกล่าว บรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา มีการข่มขู่ ติดตาม คุกคาม รวมถึงการอุ้มหายเกิดขึ้นหลายกรณี ขณะที่กรณีที่คล้ายกับกรณีล่าสุด อย่าง กรณี ‘จ่านิว’ ซึ่งเป็นการติดตามเพื่อคุกคามทำร้ายร่างกายในเวลากลางวันแสกๆ ใจกลางเมืองหลวง ก็ไม่เคยมีความคืบหน้าแต่ประการใดออกมาจากทางตำรวจ
ชาญวิทย์ ให้ความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของตัวเองเท่านั้น ตนคิดถึงกลุ่มเยาวชนจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาความอยุติธรรม ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ จึงทำหนังสือถึง พลตำรวจเอก สุวัจน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเดินทางมายื่นด้วยตนเอง
ทีมทนายชี้แจงว่า กรณีนี้ หากพบว่ามีความผิดต้องเร่งดำเนินคดี เนื่องจากเป็นการข่มขู่คุกคามประชาชน บุกรุกเคหสถานเวลากลางวัน เเละอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ด้าน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส.ส. พรรคก้าวไกล เดินมาให้กำลังใจ ชาญวิทย์ และร่วมสังเกตการณ์ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากกรณีนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แม้แต่นักวิชาการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพรักมากมาย และเคยเป็นอดีตอธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังถูกคุกคามจากบุคคลที่คาดว่าอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจนในเรื่องนี้ให้กับประชาชน
“สิ่งที่น่ากังวลคือ สังคมจะชินชากับการที่รัฐบาลใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ชาญวิทย์ เป็นเรื่องที่อุกอาจถึงขนาดเกิดขึ้นในที่พักที่เป็นคอนโดกลางเมืองหลวง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากต่อสังคมไทย จึงขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งชี้เเจงสิ่งที่เกิดขึ้น”
ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ มาแล้วกว่า 3 ปี อมรัตน์ กล่าวว่า เวลาที่คณะกรรมาธิการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้เเจง ไม่เคยได้ข้อสรุปสักครั้ง เเละไม่เคยได้รับการชี้แจงด้วยเหตุผลเลยว่า เหตุใดเจ้าที่รัฐต้องทำสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายครั้ง จึงคาดว่าครั้งนี้จะไม่ได้รับคำตอบเป็นความเงียบเฉยหรือคลุมเครือเหมือนดังที่ผ่านมาอีก และนี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นส่งผลดีต่อสิทธิเสรีภาพและความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยของประชาชน