การอภิปรายงบสถาบันกษัตริย์ เป็นการอภิปรายงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชนในคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ แต่การทำหน้าที่ตามปกติกลับถูกมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้อภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์ และทีมกฎหมายพรรคก้าวไกล เดินทางไปชี้แจงต่อ คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังมีผู้ยื่นคำร้อง กล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์และการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92(2) เป็นปฏิปักษ์การปกครองฯ จากกรณี ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณสถาบันฯ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2565
พิธา ยืนยันว่า การอภิปรายของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองอย่างที่ถูกกล่าวหา
ส่วนราชการในพระองค์ เป็นหน่วยรับงบประมาณเหมือนหน่วยงานอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 4 ซึ่งจัดอยู่ในส่วนราชการที่ถูกเรียกให้มาชี้แจงในการขอรับงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ เพื่อความโปร่งและประสิทธิภาพจากการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน และเป็นการดำรงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ ที่อยู่เหนือการเมือง ใต้รัฐธรรมนูญ
“การใช้การอภิปรายงบสถาบันเป็นข้ออ้างนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล เป็นการปิดกั้นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน นี่คือการตรวจสอบงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน เราในฐานะผู้แทนราษฎร เรามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่”
พิธากล่าว
ขณะที่ เบญจา กล่าวว่า การตรวจสอบงบประมาณเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดตามคำร้องที่กล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร เพื่อเคียงข้างประชาชน ยืนหยัดพิทักษ์เม็ดเงินภาษีประชาชน