กระทรวงการคลังชี้แจงว่า มีหนี้ที่ติดค้างหน่วยงานรัฐต่างๆ อยู่ 1.06 ล้านล้านบาท ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะตามนิยามของหนี้สาธารณะตามกฎหมาย เพราะเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยทุกปีอยู่แล้ว และคลังก็ไม่ได้พยายามซุกหนี้ เพราะมีการเปิดเผยต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้จะเป็นเรื่องจริงที่ข้อมูลนี้ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามบ่ายเยี่ยงไม่เปิดเผยข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องด้วย
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ติดตามหนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐต่างๆ มาตลอด แม้กระทรวงการคลังอ้างว่าได้เปิดเผยไว้ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง แต่กลับพบว่าปัจจุบันไม่ได้มีการเอารายงานนี้ขึ้นเว็บเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมา 2 ปีแล้ว ทั้งที่ปกติจะนำขึ้นเว็บทุกปี
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ เคยเรียก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มาชี้แจง แต่กลับให้ข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน บอกแค่สัดส่วนคร่าวๆ เมื่อสอบถามข้อมูลล่าสุด กลับอ้างว่าเป็นข้อมูลลับ ที่จะเปิดเผยต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังแห่งรัฐเท่านั้น
ไม่นานนี้ เพิ่งมีการขยายกรอบเพดานให้รัฐบาลสามารถกู้ได้เพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณรายจ่าย จากเดิม 30% เพื่อให้มีงบไปใช้ในโครงการประกันรายได้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบัน มีการกู้ไปจนถึง 34.2% ของงบประมาณแล้ว เรียกได้ว่าขยายเพดานปุ๊บ ก็กู้จนปริ่มเพดานอีกแล้ว
ศิริกัญญาอธิบายว่า หนี้ที่ติดค้างหน่วยงานรัฐ 1.06 ล้านล้านบาทนี้ คืองบที่เอามาใช้ประกันรายได้ จำนำข้าวอุดหนุนดอกเบี้ยธนาคารรัฐประมาณแสนกว่าล้านบาทในแต่ละปี เมื่อใช้เงินนอกงบประมาณ โครงการพวกนี้ก็จะไม่อยู่ในเอกสารงบประมาณประจำปี ไม่ถูกตรวจสอบจากสภา จะมาเห็นอีกทีเมื่อตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อใช้หนี้ในอดีต
เจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธกส. ยอดหนี้รวมเกือบ 9 แสนล้าน ในปีงบ 65 มีการตั้งงบใช้หนี้ ธกส. 69,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบ 66 ตั้งงบส่วนนี้ไว้สูงถึง 84,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าใช้หนี้น้อยเกินไป ก็จะขอกู้ ธกส.เพิ่มไม่ได้แล้วเพราะติดกรอบเพดานที่ 35%
“ต้องมาลุ้นกันดูค่ะว่า รัฐบาลจะใช้วิธีขยายกรอบเพดานไปเรื่อยๆ หรือจะผลักความเสี่ยงไปให้เกษตรกรที่รอเงินจากโครงการประกันรายได้แทน และถึงแม้จะไม่อยากให้สภาตรวจสอบ อย่างน้อยก็ควรเคารพเจ้าของภาษีอย่างประชาชนคนไทย โดยการเปิดเผยข้อมูลหนี้ส่วนนี้ให้เป็นสาธารณะก็ยังดี”
ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย