โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในตำบลบางเขา และตำบลท่ากำซา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นโครงการที่เตรียมใช้พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ สร้างเมืองอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นเหมือนกับอีกหลายโครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.บต.) โดยที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม
ประชาชนในพื้นที่ห่วงเรื่องผลกระทบที่จะตามมาจากโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษ การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำ วิถีชีวิตที่อาจสูญเสียไป ตลอดจนการกว้านซื้อที่ดินที่จะทำให้อาจต้องไร้ที่อยู่
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย อารีฟิน โซะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ปัตตานี และ อันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ยะลา ร่วมรับฟังปัญหาประชาชน ในพื้นที่ ตำบลบางเขา และ ตำบลท่ากำซา โดย หัวหน้าพรรคก้าวไกลรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้ากรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มารับฟังปัญหาและช่วยเหลือต่อไป
พิธา กล่าวว่า โครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นโดย ศอ.บต. ในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่คิดโดยส่วนกลาง แต่ไม่เคยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบคนในพื้นที่ ซึ่งโครงการแบบนี้ ควรต้องยึดหลักสำคัญสำหรับพี่น้องใน 3 เรื่อง คือ 1.สุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อม และ 3.เศรษฐกิจ
พรรคก้าวไกลไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เราเห็นว่าการพัฒนาที่ดีประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ตกอยู่แต่กับนายทุนเพียงอย่างเดียว สำหรับกรณีปัญหาของพี่น้องชาวหนองจิก มั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือให้ผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดำเนินการอย่างถูกต้องได้ เพราะพรรคก้าวไกลเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่พรรคก้าวไกลเปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนหนึ่งจนทำให้โครงการเป็นที่จับตาของสังคม ต้องมีการชะลอไว้และกลับไปทำให้ถูกต้อง
“นี่จะเป็นอีกครั้งที่เราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนของประชาชน จะได้ทำหน้าที่ปกป้องพี่น้องประชาชนที่เลือกเราเข้าสภา ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลรับปากว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเชิญทาง ศอ.บต. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด มาสอบถามว่า ที่กว่า 3,000 ไร่ นั้น จะเอาไปทำอะไรกันแน่? เป็นอุตสาหกรรมเกษตรแบบไหน? ตรงไหนเป็นอะไรอย่างไรบ้าง? ที่ผ่านมามีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่? ผลกระทบที่ประชาชนจะเผชิญมีอะไรบ้าง? ที่บอกว่าจะเกิดการจ้างงานคนในพื้นที่จะเป็นอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ทางผู้แทนของเราจะได้สอบถาม หลังจากที่ผมได้นำเอาข้อมูลที่มารับฟังวันนี้กลับไปบอกกล่าว และอาจจะขอเชิญตัวแทนพี่น้องที่ได้รับผลกระทบไปร่วมชี้แจ้งพูดคุยกันที่สภาด้วย”
พิธา กล่าว