free geoip

คำสั่งศาลคดี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ยังคลุมเครือ


คำสั่งศาลคดี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ยังคลุมเครือ หวั่น รัฐเป็นอุปสรรคการสร้างสันติภาพเสียเอง

รอมฎอน ปันจอร์ ชี้ว่า คำสั่งศาลไม่ทราบสาเหตุการตายในค่ายทหารของ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ และยังมีหลายข้อน่ากังขาและจะสร้างความคลุมเครือในพื้นที่ต่อไป พร้อมยืนยันว่า การแก้ไขความขัดแย้งในชายแดนใต้ ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างถึงที่สุด

หลังการต่อสู้ทางคดีมานานกว่า 2 ปี ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการตายออนไลน์ ในคดีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่หมดสติหลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2562 ซึ่งพบว่า มีอาการสมองบวมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยคำสั่งของศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้นไม่ทราบสาเหตุ ในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีศาลมีคำสั่งคดีไต่สวนการตาย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า สาระของคำสั่งยังไม่อาจให้ความกระจ่างถึงสาเหตุการตายได้ ยังมีข้อเท็จจริงแวดล้อมที่น่ากังขาหลายประเด็น รวมไปถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงหลักฐาน โดยเฉพาะบันทึกกล้องวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ผลการไต่สวนที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ได้แตกต่างไปจากคำแถลงที่มีมาก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะใช้เวลาถึงสองปี

“กรณีนี้ยังคงต้องติดตามต่อไป เพราะทางญาติกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในคดีทางแพ่งหรือไม่ คำสั่งของศาลในวันนี้ถือเป็นก้าวแรก ๆ ของเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงถามความจริงและความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีผลต่อเฉพาะกรณีของอับดุลเลาะเท่านั้น แต่จะเป็นการต่อสู้ที่จะวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปะทะกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแพร่ระบาดและซึมลึกในสังคมไทย”

รอมฎอน ยังระบุอีกว่า กรณี อับดุลเลาะ เป็นหนึ่งในกรณีที่มีการหยิบยกมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาที่สังคมไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีตัวบทกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมอย่างการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน

“กรณีของ อับดุลเลาะ ถูกปักหมุดเอาไว้ในแผนที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจข่มเหงประชาชนตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรณีนี้ยังเผยให้เห็นข้อกังขาต่อการใช้อำนาจที่เกินเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในทางปฏิบัติที่ปกป้องคุ้มกันเจ้าหน้าที่ให้ลอยตัวพ้นไปจากภาระความรับผิดชอบที่ควรจะเป็น”

รอมฎอน กล่าวอีกว่า สำหรับคำสั่งศาล แม้ผลที่ออกมาจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ไม่อาจไขปริศนาการตายได้ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมที่ติดตามและรับรู้ความคืบหน้าล่าสุดนี้จะไม่ได้คาดหวังว่าคำสั่งศาลจะสามารถชี้ไปถึงสาเหตุการตายในค่ายทหารของอับดุลเลาะได้อย่างตรงไปตรงมา

“ความคลุมเครือที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจอะไรไปแล้ว คำถามก็คือเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ คำตอบซึ่งอาจจะพูดได้กว้างและไกลไปกว่ากรณีของอับดุลเลาะ คือเราพอจะเห็นได้ว่าในขณะนี้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันกองทัพและตุลาการกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต อาจไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในหล่มของความรุนแรงทางการเมืองมาเกือบ 20 ปีเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสิ้นหวังและหมดศรัทธาของผู้คนในวงกว้างด้วย”

รอมฎอน กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างสันติภาพที่จะคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้โดยความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายยังคงเป็นเรื่องลำบากยากเย็น แม้ว่าเราจะมีกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าความไม่เป็นธรรมในแต่ละกรณีจะถูกให้น้ำหนักที่มากพอ ที่สำคัญความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนจะมีต่อรัฐคือฐานสำคัญการแสวงหาทางออกและความชอบธรรมของอำนาจรัฐ หากความเชื่อมั่นเหล่านี้พร่องลงไป ผู้คนจะยอมรับอำนาจรัฐน้อยลงไปตามกัน

“ดูเหมือนว่าการสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอำนวยความยุติธรรมในฐานะที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐเองนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง กรณีของ อับดุลเลาะ เป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าหากจะมุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้อย่างจริงจัง ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างถึงที่สุดในการที่จะขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่างๆ เปิดเผยความจริงและทำให้งานความมั่นคงโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะปูทางไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป” รอมฎอน ระบุ

สำหรับคดีของอับดุลเลาะ เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่ทหารระบุว่า พบนายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในห้องควบคุม ศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและรับการรักษาต่อเนื่อง และได้เสียชีวิตในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ต่อมา ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของผู้ตาย จึงได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อกรณีการเสียชีวิตดังกล่าว

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า