free geoip

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกไฟลุก กรณีใช้ ม.112 กับเยาวชนทำโพลขบวนเสด็จ


กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกกรณีการทำโพลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการรับเสด็จ โดยกลุ่มราษฎรและกลุ่มมังกรปฏิวัติ
– ชี้ หลักเกณฑ์ดำเนินคดี-ประกันตัวไม่มีมาตรฐาน ยืนยัน การตั้งคำถามและแสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์เป็นสิทธิ ไม่ใช่ความผิด
– “หมออ๋อง” ชี้ ยิ่งใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาบันกษัตริย์และประเทศในทางลบ

คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือในญัตติซึ่งเสนอ โดย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ) ต่อกลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกรณีจัดกิจกรรมร่วมรับขบวนเสด็จ รวมถึงกรณีของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมซึ่งถูกดำเนินคดีและปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในขณะนี้

โดยมีการเชิญตัวแทนจากทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ สน.นางเลิ้ง), สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนเครือข่ายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ตัวแทนกลุ่มราษฎร กลุ่มมังกรปฏิวัติ และกลุ่มทะลุวัง

ในการประชุมมีการซักถามและตอบข้อซักถามชี้แจงในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล ใช้ในการพิจารณาว่าเรื่องใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และหลักเกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นไร


พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน มีปัญหาที่เห็นได้ชัดอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

  • กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้าม “กระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือกิจกรรมใดๆ อันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์” เพราะสิ่งที่ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับการพิพากษาว่าเป็นความผิด แต่กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การถอนประกันตัวได้
  • การให้ติดกำไลติดตามตัว หรือกำไลอีเอ็ม เป็นเงื่อนไขการได้รับประกันตัว เป็นการใช้กำไลอีเอ็มมาควบคุมไม่ให้ผู้ต้องหาไปใช้เสรีภาพ คนที่โดนคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
  • การบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันมีลักษณะที่กว้างขวางมาก กลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามเมื่อพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทันที เช่น กรณีสมบัติ ทองย้อย ที่โพสต์คำว่า ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ ศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหามาก ว่าโพสต์ลักษณะนี้เป็นการหมิ่นประมาท อาฆาต มาดร้าย จริงๆ หรือไม่?

ด้าน สืบพงษ์ โอภาพงพันธ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่าในทางปฏิบัติ เมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 112 เกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องดูที่เจตนาของผู้ถูกกล่าวหาเป็นหลักว่า มีเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พร้อมยืนยันว่าทางอัยการพิจารณาตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น แม้ข้อเท็จจริงในคดีจะแตกต่างกันไป แต่การพิจารณาล้วนแต่ยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักทั้งสิ้น

ส่วนประเด็นเรื่องการพิจารณาเงื่อนไขการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว พัชรพร โรจนสโรช สำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าโดยหลัก เมื่อมีการขอฝากขัง ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข รวมทั้งการติดกำไลอีเอ็มในแต่ละกรณีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแต่ละคน โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดพฤติการณ์ในแต่ละกรณีไปพัชรพร ยืนยันว่าการติดกำไลอีเอ็ม ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวคดี อีกทั้งการติดอีเอ็ม ยังเป็นหลักประกันให้ผู้ถูกกล่าวหาได้กลับบ้านโดยไม่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ


ส่วนการเพิกถอนสิทธิประกันตัว เป็นคนละส่วนกับการสืบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการถอนประกันอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ตีความว่ามีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขประกันที่ได้กำหนดไว้ได้ โดยการใช้ดุลพินิจ อาศัยเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่ได้เป็นกรอบที่ตายตัวมีความยืดหยุ่น ให้ผู้ต้องหาแต่ละคนให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่เหมาะสม

ด้านตัวแทนของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเยาวชน มองว่า จากการชี้แจง ก็ยังไม่เห็นว่า เกณฑ์ในการพิจารณาทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ตลอดจนการให้หรือไม่ให้ประกันตัวในแต่ละคดีคืออะไรกันแน่ และในหลายกรณียังเต็มไปด้วยความไม่ได้สัดส่วนอีกด้วย


“เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ตัวแทนจากกลุ่มทะลุวัง ระบุว่า ตามหลักของกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาจนถึงที่สุดเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด จะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ กิจกรรมที่ตัวเองและเพื่อนทำจนถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 คือการทำโพล ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม สร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยการติดสติ๊กเกอร์ เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวเองยืนยันและพร้อมต่อสู้คดีว่าไม่ใช่ความผิด การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล


ส่วน “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นว่าปัจจุบันมีผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ในแทบจะทุกกรณีที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เจตนา จนนำไปสู่คำถามว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้ใช้เกณฑ์อะไรกันแน่ ในการแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดตามมาตรา 112

พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า ในสถานการณ์การเมืองที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเกี่ยวข้องทางการเมืองสูงมาก ควรจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนพูดถึงได้ ในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในสถาบันใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน

การบังคับใช้ 112 จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน สมเหตุสมผล ขยายความให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างกระจ่าง ว่าบังคับใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมก่อน

“การบังคับใช้มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลักก่อน เพราะการกล่าวหาทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งทั้งตำรวจ อัยการ กระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย”

ภัสราวลีกล่าว


ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ ระบุว่า สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จนถึงวันนี้ มีคนถูกดำเนินคดีถึงร้อยกว่าคดีแล้ว และกำลังทำให้เยาวชนจำนวนมากถูกผลักให้เป็นคนผิด เพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่งหรือเพียงตั้งคำถาม โดยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยเรื่องนี้ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สังคมจะยิ่งแตกร้าวมากขึ้น

“ท่านปฏิบัติต่อเยาวชนเหล่านี้ราวกับพวกเขาเป็นนักโทษคดีฆ่าข่มขืนต่อเนื่อง ทั้งที่จริงเป็นเพียงเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ยิ่งมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้มากๆ ก็ยิ่งไม่อาจทำให้เยาวชนมีความรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น และกลับจะยิ่งรู้สึกว่าเป็นฝั่งตรงกันข้ามมากขึ้นด้วย”

ปดิพัทธ์กล่าว

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทุกวันนี้เป็นไปอย่างไม่มีมาตรฐาน เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลต่างก็ต้องเหนื่อย ทั้งที่รู้ว่าอาจจะไม่ผิดแต่ก็ต้องจับและดำเนินคดีไว้ก่อน สุดท้าย ถ้ากฎหมายนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมจะเป็นผลเสียต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน




สถานการณ์การบังคับใช้ 112 วันนี้ : เหวี่ยงแห ไม่มีหลักการ ไม่มีหลักเกณฑ์ 

การนำเสนอโดยตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูนสุข พูนสุขเจริญ ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน

โดยระบุว่าสิ่งแรกที่เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัด คือการที่กระบวนการยุติธรรมกำหนดเงื่อนไขการได้รับประกันตัวเอาไว้ ว่า “ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือกิจกรรมใดๆ อันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์” ซึ่งพูนสุขมองว่าการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเช่นนี้มีปัญหา เนื่องจากสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้น ยังไม่ได้รับการพิพากษาเลยด้วยซ้ำว่าเป็นความผิด แต่กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การถอนประกันตัวได้

ปัญหาประการที่สอง คือนอกจากการไม่ให้สิทธิประกันตัวและการคุมขังแล้ว ยังมีการให้ติดกำไลติดตามตัว (EM) เป็นเงื่อนไขการได้รับประกันตัว ปัญหาคือคดีเหล่านี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง แต่กลับมีการใช้กำไล EM มาควบคุมไม่ให้ผู้ต้องหาไปใช้เสรีภาพ จนเหมือนกับการถูกจองจำไปแล้วครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ คนที่ถูกติดกำไล EM บางกรณี ยังถูกศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามพูดถึงกระบวนการพิจารณาคดี จนกลายเป็นว่านอกจากสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถถูกวิจารณ์ได้แล้ว กระบวนการในคดีหรือศาลยังไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ด้วย

สิ่งที่น่ากังวล คือการบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันมีลักษณะที่กว้างขวางมาก กลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามเมื่อพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทันที อย่างเช่นกรณีสมบัติ ทองย้อย ที่โพสต์คำว่า ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ ศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหามาก ว่าโพสต์ลักษณะนี้เป็นการหมิ่นประมาท อาฆาต มาดร้าย จริงๆ หรือไม่? 

พูนสุขระบุว่าทั้งหมดนี้ คือปัญหาที่สังคมไทยจะต้องถกเถียงกัน และอยากให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจะต้องยึดหลักการให้มั่น



เกณฑ์การบังคับใช้มาตรา 112 : ประชาชนมีสิทธิแต่ก็ควรรู้หน้าที่ ต้องถามตัวเองว่ามีเจตนาอะไร?

สิ่งที่เป็นคำถามตลอดช่วงเวลาเกือบสองชั่วโมงของการแลกเปลี่ยนในวันนี้ คืออะไรกันแน่ ที่เป็นหลักเกณฑ์ของการตัดสินใจของทั้งตำรวจและอัยการ ว่าจะดำเนินคดีและสั่งฟ้องบุคคลใดๆ ด้วยมาตรา 112 หรือไม่

ซึ่งหนึ่งในผู้ชี้แจง คือตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด คือ สืบพงษ์ โอภาพงพันธ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ ที่ระบุว่าเมื่อรับสำนวนมาจากอัยการแล้ว อย่างน้อยที่สุดอัยการต้องพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานในการกระทำผิดหรือไม่ และผิดแล้วลงโทษได้หรือไม่

พร้อมแสดงความคิดเห็น ว่าจริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม แต่ประชาชนก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ เคารพต่อกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นด้วย 

สืบพงษ์ยังย้ำว่ากระบวนการพิจารณาทั้งหมดของอัยการ ดูที่เจตนาในการกระทำการเป็นหลัก ว่ามีเจตนาที่จะอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าทางอัยการพิจารณาตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น

พร้อมระบุว่าคดีมาตรา 112 เมื่อมีสำนวนข้อกล่าวหาส่งมาที่อัยการ อัยการจังหวัดต้องส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่งว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีที่แตกต่างกันไป แต่การพิจารณาล้วนแต่ยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักทั้งสิ้น



เกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ประกันตัว : กรอบที่ “ยืดหยุ่น” ไม่ตายตัว และ EM ไม่ใช่การลงโทษ

ในส่วนของเกณฑ์ในการให้สิทธิหรือไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม โดยพัชรพร โรจนสโรช ระบุว่าเมื่อมีการฝากขัง ผู้ถูกฝากขังมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีหลักการดำเนินการ คือการ “ปล่อยเป็นหลัก ขังเป็นข้อยกเว้น” โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขออกมา รวมทั้งการติดกำไล EM ด้วย โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดพฤติการณ์ในแต่ละกรณีไป 

ระหว่างนั้น มีการโต้แย้งขึ้นมาโดย “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ตัวแทนจากกลุ่มทะลุวัง ที่ระบุว่าตามหลักของกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาจนถึงที่สุดเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด จะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ 

แต่การพิจารณาถอนประกันตัวทานตะวัน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะทานตะวัน “ใส่เสื้อสีดำ” ไปรับขบวนเสด็จ อีกทั้งทานตะวันยังไม่ทันได้เข้าไปในพื้นที่ขบวนเสด็จเลยด้วยซ้ำ เพราะถูกกักไว้ก่อนหน้านั้นโดยเจ้าหน้าที่

ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างมาก ว่าการถอนประกันทั้งทานตะวัน และเพื่อนหลายๆ คน เป็นการตัดสินไปแล้วหรือไม่ ว่าสิ่งที่เพื่อนๆ เหล่านั้นทำเป็นความผิด การไม่ให้ประกันตัวทั้งๆ ที่ทุกคนไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหมายความว่าอย่างไร?

ซึ่งตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงว่าการเพิกถอนสิทธิประกันตัว เป็นคนละส่วนกับการสืบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ การถอนประกันที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพิเคราะห์ ชั่งงน้ำหนักแล้ว ว่ามีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขประกันที่ได้กำหนดไว้ได้ เป็นการ “ผิดสัญญา” ที่ให้ไว้กับศาล

พร้อมยืนยันว่าการติดกำไล EM ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีพฤการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวคดี อีกทั้งการติด EM “ไม่ได้เป็นการติดเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ EM มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย เราติดเพื่อที่จะอยากให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กลับบ้าน ไม่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ”

ซึ่งทางตัวแทนขององค์กรสิทธิมนุษยชน พิมพ์ศิริ เพชรน้ำรอบ จากกลุ่ม Article 19 ได้ถามย้ำถึงหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจที่จะให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัว รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพราะในหลายกรณีเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน เช่น การกำหนดห้ามออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา เป็นต้น

ทางตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ตอบว่าการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา มีเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่ได้เป็นกรอบที่ตายตัวมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้ต้องหาแต่ละคนให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการถามว่าเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกานี้สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ ทางตัวแทนของสำนักงานศาลยุติธรรมระบุว่าไม่อาจเปิดเผยได้



การบังคับใช้ 112 เป็นไปตาม “เกณฑ์” หรือ “ธง”?

ในส่วนของตัวแทนเยาวชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน หลังจากฟังคำชี้แจงแล้ว ก็ยังมีความข้องใจว่าเกณฑ์ที่ใช้ทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี และการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัว คืออะไรกันแน่?

หนึ่งในผู้ตั้งคำถามย้ำขึ้นมา คือ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 มีจำนวนมาก หลายกรณีเป็นเพียงแค่การเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น 

พร้อมคำถามที่สำคัญ ว่าเกณฑ์ในการถอนสิทธิการประกันตัว การตั้งเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการห้ามกระทำผิดซ้ำหรือก่อเหตุสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเงื่อนไขที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่? ถือว่าเป็นการตัดสินไปก่อนหรือไม่ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เจตนาตามกฎหมายเลย?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อกรณีที่มีการถอนประกันในปัจจุบัน คือการทำโพลถามความคิดเห็นจากประะชาชน ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ “เจตนา” ด้วยซ้ำว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องสมควรหรือที่นักกิจกรรมเหล่านั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ?

มายด์ยังแสดงความเห็นด้วย ว่าการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลักก่อน การกล่าวหาทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกในสังคม ซึ่งทั้งตำรวจ อัยการ กระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย

การบังคับใช้มาตรา 112 จึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน มีความสมเหตุสมผล ขยายความให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างกระจ่างว่าบังคับใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมก่อน



มาตรา 112 คือเรื่องของการเมือง > กระบวนการยุติธรรม

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกพรรคก้าวไกล ระบุว่าสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 วันนี้ มีคนถูกดำเนินคดีถึงร้อยกว่าคดีแล้ว และกำลังทำให้เยาวชนจำนวนมากถูกผลักให้เป็นคนผิดเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่งหรือเพียงตั้งคำถามเท่านั้น 

ปดิพัทธ์ยังกล่าวว่าการถกเถียงในวันนี้ ทั้งเรื่องการติดกำไล EM การไม่ให้ประกันตัว หรือการพิสูจน์เจตนาอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ตนรู้สึกราวกับว่าเยาวชนเหล่านี้ไปทำความผิดร้ายแรงหนักหนาราวกับเป็นนักโทษคดีฆ่าข่มขืนต่อเนื่อง ทั้งที่พวกเขาเป็นเพียงแค่เยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น

และตราบใดที่เยาวชนเหล่านี้ยังคงถูกกระทำทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ก็จะยิ่งไม่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รักและศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่กลับจะรู้สึกว่าเป็นฝั่งตรงกันข้ามที่ถูกผลักและถูกกระทำจากการมีความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยเรื่องนี้ได้ เพียงพูดหรือตั้งคำถามก็โดนคดีแล้ว สังคมจะยิ่งแตกร้าวขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเป็นการบังคับใช้อย่างไม่มีมาตรฐานเช่นนี้

ระหว่างนั้น ตัวแทนจากสำนักงานอัยการ ได้ชี้แจงว่าว่าการพิจารณาว่าจะผิดหรือไม่ผิดขึ้นอยู่กับวิธีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของแต่ละคน ว่าจะพูดอย่างก้าวร้าว หรือจะพูดอย่างเรียบร้อย ด้วยเหตุด้วยผลก็ได้ หลายๆ คนที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มีทั้งคนที่ถูกดำเนินคดีและไม่ถูกดำเนินคดีด้วย

เมื่อถึงจังหวะนี้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามขึ้นมาทันที ว่าแล้วที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการจัดหาวัคซีนอย่างสุภาพ เหตุใดจึงถูกดำเนินคดีไปด้วยได้? 

พร้อมระบุว่านี่คือข้อที่ยืนยัน ว่าเกณฑ์ในการดำเนินคดีนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าพูดดีหรือไม่ดีทั้งนั้น ในทางปฏิบัติเราได้เห็นแล้วว่ามีการเจาะจงเป้าหมายเฉพาะคนบางกลุ่มให้ต้องโดนคดี เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลต่างก็ต้องเหนื่อย ทั้งที่รู้ว่าอาจจะไม่ผิดแต่ก็ต้องจับและดำเนินคดีไว้ก่อน สุดท้ายเป็นภาระของทั้งประเทศ 

และถ้ากฎหมายนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมจะเป็นผลเสียต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน

“ท่านปฏิบัติต่อเยาวชนเหล่านี้ทำราวกับพวกเขาเป็นนักโทษคดีฆ่าข่มขืนต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังคงมีการกระทำทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ก็จะยิ่งไม่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รักและศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่กลับจะรู้สึกว่าเป็นฝั่งตรงกันข้ามที่ถูกผลักและถูกกระทำจากการมีความคิดเห็นทางการเมือง”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า