
‘พิธา’ ยื่นประกันตัว ‘ทานตะวัน’ ห่วงสภาพร่างกาย หลังอดอาหาร 28 วัน
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ยื่นประกันตัว ‘ทานตะวัน’ หลังถูกศาลสั่งถอนประกันและถูกคุมขังที่เรือนจำหญิง ทำให้อดอาหารเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมมาแล้ว 27 วัน ย้ำ การใช้ ม.112 ต่อ ‘ทานตะวัน’ ไม่เป็นผลดีต่อใครเลยกระทั่งสถาบันกษัตริย์ ยืนยัน หากไม่ได้รับการประกันตัวในวันนี้ จะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรสู้ต่ออย่างถึงที่สุด
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นหลักประกัน ในการขอประกันตัว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 20 ปี ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์ก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 โดยการขอประกันตัวในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว
พิธา กล่าวว่า ทานตะวัน อดอาหารภายในเรือนจำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ตั้งเเต่วันที่ 20 เมษายน 2565 จนถึงวันนี้ 17 พฤษภาคม 2565 เป็นเวลากว่า 28 วัน กังวลว่าร่างกายของทานตะวันจะรับไม่ไหว วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการฝากขังผลัดที่ 6 ซึ่งตามหลักว่าความของอาญาสามารถฝากขังได้ทั้งสิ้น 7 ผลัด
พิธา กล่าวต่อว่า นอกจากที่จะเป็นห่วง ทานตะวัน ในเรื่องร่างกาย การมาในวันนี้เพื่อยืนยันในหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทานตะวัน เป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับ ICCPR และระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการออกมาสู้คดี เป็นสิทธิของพลเมือง
ที่ผ่านมาทานตะวัน ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ทั้งนี้ กฎหมายอาญา 108/1 ระบุเหตุในการฝากขังได้ไว้ทั้งหมด 5 ข้อ การกระทำของ ทานตะวัน ไม่อยู่ในเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อที่จะฝากขังได้ จึงคิดว่าเป็นการผิดหลักสิทธิในการต่อสู้ที่ ทานตะวัน ควรได้รับต่อกรณีนี้
“กรณีนี้ยังเเสดงให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในเรื่องของตัวบท ทั้งในเรื่องของการบังคับใช้ที่ตีความกว้างเกินไป ทั้งยังมีโทษสูงเกินไปอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำ”
พิธา ระบุ
พิธา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวต่อกรณีนี้ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ไม่เป็นผลดีต่อทานตะวัน ไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวของทานตะวัน และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบยุติธรรมในประเทศไทย ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย และไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน
“วันนี้หวังว่า ทานตะวัน จะได้รับการประกันตัว และหวังว่าทานตะวัน จะได้ยุติการอดอาหารกว่า 27 วัน ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่หากทานตะวัน ไม่ได้รับการประกันตัวในวันนี้ พรรคก้าวไกล จะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรต่อสู้อย่างถึงที่สุด ตามกลไกนิติรัฐ นิติธรรม”
พิธา ระบุ
ขณะที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความระบุว่า กรณีดังกล่าว อัยการยังไม่สั่งฟ้องทานตะวัน จึงอยู่ระหว่างการสอบสวนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่กังวลคือ การอดอาหารกว่า 28 วัน จะทำให้ร่างกายรับไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัวตะวัน โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า ไม่ปรากฏหลักฐานเงินเดือน (สลิปเงินเดือน) ของผู้ร้อง และไม่มีพฤติการณ์พิเศษอื่นที่จะพิจารณาคำร้องได้ แม้หนังสือรับรองจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ที่ พิธาแนบพร้อมคำขอประกันตัวจะระบุอัตราเงินเดือนไว้ชัดเจน