
พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และมูลนิธิคณะก้าวหน้า เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ทางการเมือง (Political Strategy Development Workshop) ของเครือข่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมในเอเชีย หรือ Network for Social Democracy in Asia (SocDem Asia) เมื่อวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยจากหลากหลายประเทศ เช่น เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินเดีย เดนมาร์ก ฯลฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนอุปสรรคปัญหาที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่นใจคุณค่าแบบประชาธิปไตย กระแสชาตินิยมสุดโต่ง เกลียดกลัวคนต่างชาติ การแปะป้ายคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศว่า ‘ชังชาติ’ เป็นต้น





สำหรับประเทศไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงความสำคัญของแนวทางสังคมนิยมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้คนกลับมาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ฉายภาพให้ผู้ร่วมงานเห็นว่าสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างมาก ภารกิจในการปกป้องประชาธิปไตยจึงเป็นภารกิจที่ควรทำร่วมกัน
ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนแบ่งปันความท้าทายของสังคมไทย และวิธีการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล เช่นความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐสภา และต้องยึดมั่นกับเป้าหมายระยะยาวในการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยไม่หวั่นไหวกับวิธีการฉาบฉวยที่จะทำให้ชนะในระยะสั้น





ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ก็ได้รับเชิญให้มาร่วมแบ่งปันแนวทางการส่งเสริมให้พลเมืองตื่นตัวทางการเมือง (active citizen) ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องกฎหมาย การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงชื่อเสนอกฎหมายหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดย ยิ่งชีพ ย้ำว่า จำเป็นต้องทำลายวาทกรรม ‘เผด็จการแก้ไขปัญหาได้’ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาคอร์รัปชั่น และทำให้พลเมืองสนใจกลไกการตรวจสอบมากขึ้น ทำสถาบันต่างๆ ให้ไม่เป็นเครื่องมือของเผด็จการด้วย
หลังจากที่ตัวแทนประเทศต่างๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลายคนเห็นตรงกันว่า พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับสากล เพื่อทำงานส่งเสริมพื้นฐาน หลักการ และคุณค่าของประชาธิปไตย และควรมีการรวมกลุ่มแสดงจุดยืนร่วมกันในเรื่องที่สำคัญต่อประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ รวมถึงต้องปรึกษาหารือถึงกลไกต่างๆ ในการปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ได้ประสิทธิภาพในประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองจากหลายประเทศมองว่า พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องปรับปรุงการสื่อสารเพื่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนที่เผยแพร่กันทั่วไปบนโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเข้าไปพูดคุยกับคนเห็นต่าง เพื่อทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น



