free geoip

บำนาญถ้วนหน้า-สุราก้าวไกล จัดงบและหาเงินในแบบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’


สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานศึกษาจากคณะกรรมาธิการ 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันเดียวกัน ฉบับแรกคือ รายงานศึกษา ‘บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ จากคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ที่มี วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และปีกแรงงาน เป็นตัวจักรสำคัญร่วมกับ ส.ส.ภายในพรรค ส่วนอีกฉบับคือ รายงานศึกษา ‘การพัฒนาอุตสาหกรรมสุราไทย’ จากคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มี เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้ที่เขาบอกว่า ต่อไปรายงานนี้จะเปรียบเสมือนเป็น ‘คัมภีร์พัฒนาสุราไทย’ ล้อไปกับ ‘สุราก้าวหน้า’ ฉบับก้าวไกล หากมีการปลดล็อกในอนาคตอันใกล้นี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ว่า รายงานฉบับแรกเป็นเรื่องของการใช้เงิน ขณะที่อีกฉบับเป็นเรื่องของการสร้างอุตสาหกรรมใหม่หรือการหาเงิน เพราะเป้าหมายของพรรคก้าวไกล คือการสร้าง ‘รัฐสวัสดิการ’ หมายความว่า หากจะใช้เงินก็ต้องหาเงินให้เป็น


📌 ทำไมพรรคก้าวไกล ให้ความสำคัญกับการผลักดัน ‘บำนาญถ้วนหน้า’

พิธา กล่าวโดยมองผ่านหมวก 2 ใบ ดังนี้

🎩 หมวกใบแรก คือประชาชน เสียงสะท้อนจากสิ่งที่ได้ยินบนท้องถนน ประการแรกคือ ปัจจุบันเงินที่รัฐบาลจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ที่ 600 บาทต่อเดือน เท่ากับประมาณ 20 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 7 บาทต่อมื้อ เงินจำนวนนี้ผู้สูงอายุจะอยู่ได้จริงหรือไม่

ประการต่อมา คือความเท่าเทียม ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุในประเทศ 10 ล้านคน ใช้งบประมาณ 84,000 ล้านบาทดูแล ขณะเดียวกัน งบประมาณอีกก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ในงบกลางประมาณ 320,000 ล้านบาท ใช้ดูแลข้าราชการที่เกษียณ 800,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกันจะพบว่าต่างกัน 57 เท่า

ประการที่สาม ในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ วัยทำงานไม่มีทั้งเงินเก็บและไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในธุรกิจเพราะเอาแค่ค่าครองชีพก็แทบไม่พอ หากเหลือต้องเก็บเป็นค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ ต้องเป็นเหมือนแฮมในแซนวิชที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุอยู่ข้างบน ส่วนข้างล่างต้องดูแลลูกหลานที่เพิ่งเกิดใหม่ นี่คือสิ่งที่ทำให้ไม่อาจพัฒนาตามศักยภาพของประเทศได้

🎩 หมวกใบที่สอง หากมองจากงบประมาณของประเทศ ปัจจุบันมีการใช้เงินเพื่อสร้างสวัสดิการให้ประชาชนใน 11 โครงการ ใช้ประมาณ 860,000 ล้านบาท หลายคนบอกว่ามาก แต่ความจริงยังไม่พอ เพราะค่าใช้จ่ายในการให้สวัสดิการและสร้างเครือข่ายคุ้มครองทางสังคมของไทย อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อ GDP เท่านั้น เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วต่างกันถึง 6 เท่า ยิ่งเจาะลึกลงไปในส่วนผู้สูงอายุ จะคิดเป็นร้อยละ 2.4 ต่อ GDP ยิ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ในฉากทัศน์แบบนี้ ความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ผู้สูงอายุที่จะมีมากถึง 20 ล้านคนในอนาคตจะอยู่ได้อย่างไรด้วยเงิน 600 บาท และความท้าทายที่สอง คือ งบประมาณบำนาญแห่งชาติที่จะมาดูแลจะเพิ่มขึ้นจาก 400,000 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาทโดยประมาณ ยิ่งปล่อยให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะใช้งบประมาณมากขึ้นอีกในการแก้ปัญหา

“รายงานฉบับนี้คือสารตั้งต้นที่ดีในการพูดถึงที่มาของงบประมาณที่จะมาทำเป็นสวัสดิการ 3,000 บาท ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต, ภาษี e-service, ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่หมดสิทธิประโยชน์กับ BOI, ส่วนแบ่งจากสัมปทาน กสทช., ขายสลาก, ค่าภาคหลวงแร่, ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม, ภาษีเงินได้จากปิโตรเลียม แต่เท่านี้ยังไม่พอ ยังมีความจำเป็นต้องคิดต่อเพื่อหารายได้เพิ่ม เรายังสามารถหาแหล่งรายได้เพิ่มได้อีกจากการจำกัดงบหรือรีดไขมันของกองทัพที่จะอภิปรายกันในสัปดาห์หน้าเพื่อให้มีงบประมาณพอ”

พิธา ทิ้งท้ายในเรื่องนี้ว่า การคิดเรื่องบำนาญแห่งชาติ ต้องดูวินัยการคลังว่าจะโดนผลกระทบหรือเกิดหนี้สาธารณะอย่างไร โดยสามารถคำนวนวางแผนและประเมินออกมาเป็นฉากทัศน์ต่างๆที่ชัดเจนได้ คือ หากทำบำนาญแบบไม่มีแหล่งรายได้เลย หนี้สาธารณะจะน่ากลัวมาก แต่ฉากทัศน์ที่ 2 ถ้าทำตามรายงานฉบับนี้ หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75

ฉากทัศน์ที่ 3 ถ้าเอานโยบายแบบอนาคตใหม่และก้าวไกลมาใช้ หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ร้อยละ 60 และในฉากทัศน์สุดท้าย ถ้าทำตามข้อเสนอในรายงานบวกกับข้อเสนอของพรรคการเมืองแล้วนำมาคิดร่วมกันว่าจะรีดไขมันอย่างไรที่จะถกกันในการอภิปรายงบประมาณสัปดาห์หน้า จะสามารถทำให้หนี้สาธารณะคงอยู่ที่ร้อยละ 57 ไปจนถึงปี 2582



📌 ในส่วนของการอภิปราย รายงานฉบับที่ 2 ‘การพัฒนาอุตสาหกรรมสุราไทย’

พิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการและเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์มากเป็นพิเศษ เพราะการพัฒนาสินค้าสินค้าเกษตรของประเทศ จาก ‘โภคภัณฑ์’ ให้กลายเป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ คือวิถีการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่เร็วที่สุด ยั่งยืนที่สุด และไม่ต้องพึ่งงบประมาณไปประกันราคา เพราะไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย สับปะรด มะพร้าว เงาะ ผลไม้จากทั่วประเทศไทยเหล่านี้สามารถทำได้หมด แต่สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเข้าใจศักยภาพของสุราที่มีทั้งหมดในประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีจะต้องผลักดันให้ไปในทิศทางเดียวกัน

“สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องทำคือ เมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาต้องเลิกเอาไวน์ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ชิลี อาร์เจนตินา มาเสิร์ฟ แต่ให้เอาแผนที่ประเทศไทยที่มีเหล้าไทยระดับที่เสิร์ฟในโรงแรม 5 ดาวขึ้นมาแล้วเลี้ยงดูปูเสื่อด้วยสิ่งเหล่านี้ นี่คือการทำการตลาดที่เร็วที่สุดหากกฎหมายเอื้อให้สามารถที่จะผลักดันได้”

พิธากล่าวว่า หาก ครม. สามารถผลักดัน ‘อุตสาหกรรมสุรา’ ไปในทิศทางเดียวกัน การฟื้นฟูประเทศไม่ว่า เรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือการศึกษา จะลุกขึ้นมาได้ในครั้งเดียว ไทยจะมี Growth engine ใหม่ มีอุตสาหกรรมใหม่ มีฐานภาษีใหม่ เพื่อนำไปทำ ‘รัฐสวัสดิการ’ ดูแลพี่น้องประชาชนตามที่เราต้องการในสิ่งที่อภิปรายไว้ในรายงานฉบับแรก

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า