กิจกรรม “Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น” ที่พรรคก้าวไกล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจและมีประชาชนเข้าร่วมคับคั่ง
ในวันแรกเริ่มต้นด้วยการพูดถึงภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท ว่ามีปัญหาอย่างไร โดย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ต่างเห็นตรงกันว่า ยังเป็นการจัดสรรงบแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ
จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมเวิร์คช็อป โดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกหัวข้อตามความสนใจ ได้แก่ เศรษฐกิจ เกษตรกร การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้รัฐ และปลดล็อกท้องถิ่น
เสร็จแล้วแบ่งกลุ่มไปร่วมกันตรวจสอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างน่าดำคร่ำเคร่ง โดยมี ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ร่วมวงด้วยในประเด็นที่ตัวเองมีประสบการณ์ หรือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ ภาพที่เห็นจึงเป็นมุ่งมั่นตั้งใจ ของประชาชนที่ได้มีโอกาสมาร่วมตรวจสอบภาษีที่พวกเขาเสียไป ว่ารัฐบาลนำไปใช้กับอะไร ให้ความสำคัญกับโครงการประเภทไหน
เข้าสู่กิจกรรมวันที่สอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาร่วมฟังการ “นำเสนอ” ของแต่ละกลุ่ม ว่าหลังจากแบ่งกันไปตรวจสอบศึกษางบฯ ที่ตัวเองถนัดหรือสนใจแล้ว มีความเห็นอย่างไร และมีข้อเสนออะไร โดยก่อนเริ่มต้น หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวกับผู้เข้าร่วมตอนหนึ่งว่า การจัดงบฯ ปีนี้เปรียบไปเหมือนกับช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะงบส่วนใหญ่แทนที่จะถูกใช้ไปกับการฟื้นฟูประเทศให้สมกับเป็นปีแห่งความหวัง แต่โดยมากหมดไปกับการจ่ายให้กับ “อดีต” อาทิ เงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ เงินชดเชย เป็นต้น
“ในช่วงปีที่ควรจะเป็นความหวัง เป็นปีแห่งการฟื้นฟู แต่การจัดงบประมาณไม่บอกเราอย่างนั้น ดังนั้น พรรคก้าวไกลคงไม่ยอมให้ผ่านวาระแรกไปได้”
พิธากล่าว
สำหรับกิจกรรม “Hackathon งบ 66″ ยังมีมุมมองจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนการอภิปรายไว้ก่อนการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร
มายด์ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล :
“เพื่อจะได้รู้ว่ารัฐบาลที่ทำงานให้เรามีศักยภาพหรือไม่”
หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตา คือ “มายด์” – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อายุ 26 ปี นักกิจกรรม 1 ในแกนนำคณะราษฎร ที่บอกว่าสนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะอยากรู้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะจัดงบฯ ปี 2566 ซึ่งจะเป็นการจัดงบฯ ทิ้งทวนของตัวเองอย่างไร จะมีความพยายามจัดอย่างประหลาดๆ เพื่อให้ได้มีอะไรติดไม้ติดมือไปหรือไม่
มายด์ มองว่า 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาษีที่ประชาชนจ่ายไปถูกจัดสรรตามความต้องการของรัฐบาลมากกว่าประชาชน เช่น รัฐบาลต้องการเรื่องความมั่นคง ก็ไปทุ่มงบฯ กับกระทรวงกลาโหม กับ กอ.รมน. ประเทศไทยตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ความมั่นคงเพิ่มขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ แย่ลง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีงบประมาณเยอะแยะมากมาย แต่กลับถูกใช้ผิดจุด
เพราะการจัดงบฯ สะท้อนว่ารัฐบาลนั้นๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ นั้น มายด์เองก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าจัดได้ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศที่เผชิญอยู่ เธอยกตัวอย่าง ประเทศไทยเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเยอะ แต่การท่องเที่ยวนั้นมีหลายส่วน ตัวชี้วัดเรื่องความปลอดภัยในประเทศก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่จะสะท้อนเรื่องความเชื่อมั่น ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาหรือไม่
“ประเด็นก็คือ เราอยู่ในประเทศที่อับดับความปลอดภัยต่ำมาก เราบอกจะส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับไม่สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการมาเที่ยวบ้านเราเลย อย่างนี้ไม่สมเหตุสมผลกัน เราไม่เห็นงบฯ ที่ใช้ไปกับการเสริมสร้างความปลอดภัยเลย”
ภัสราวลี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เธอมองว่า งบฯ บางโครงการที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวอะไรกับหน่วยรับงบประมาณ ตัวอย่างเช่นของ กอ.รมน. พวกโครงการส่งเสริมพระราชดำริต่างๆ ซึ่งถามว่าใช่เรื่องของ กอ.รมน. หรือไม่ และก็มีโครงการลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำๆ อยู่ในหลายโครงการ ที่เป้าหมายก็ไม่ชัดเจน ตัวชี้วัดก็ไม่มี จึงไม่รู้ว่าจะเอางบฯ ไปทุ่มกับโครงการเหล่านี้ทำไม
“ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องมาจับตาอย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะว่า ภาษีที่เราจ่ายไปทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้ไปอย่างมีคุณค่าหรือเปล่า เราเสียโอกาสกับรัฐบาลชุดนี้มานานแล้ว มาจับตาดูร่วมเพื่อที่จะได้รู้ว่า รัฐบาลมีศักยภาพในการทำงานเพื่อเรา มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศมากน้อยแค่ไหน หากไม่เป็นที่น่าพอใจ เราจะได้รู้และไม่ต้องเลือกเขากลับมาอีก”
ภัสราวลี กล่าว
ยูเม – วิทยา โอซากิ :
“ควรจัดงบฯ เน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ”
“อยากมาเรียนรู้วิธีการทำงานของพรรคก้าวไกล อยากรู้ว่าการตรวจสอบงบฯ เขาทำกันอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นแต่จากการถ่ายทอดสดการอภิปรายซึ่งก็แค่ 3 วัน แต่พอได้มาเห็นเบื้องหลัง ได้ฟังไอเดียแต่ละคน รวมถึงความคิดความเห็นของ ส.ส.ก้าวไกล ที่ใส่เข้าไปตอนแบ่งคุยกลุ่มย่อย รู้สึกว่าได้มุมมองมากขึ้น”
เป็นเสียงสะท้อนจาก ยูเม – วิทยา โอซากิ อายุ 21 ปี นิสิตคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง
หนุ่มลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น แสดงความเห็นไว้ว่า เรื่อง พ.ร.บ.งบฯ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และเป็นเรื่องจำเป็นมากที่เราควรให้ความสนใจ เพราะถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่มีโครงการพัฒนาประเทศนี้ อาจไม่มีประเทศนี้อยู่ด้วยซ้ำ และกิจกรรม Hackathon งบฯ 66 ที่พรรคก้าวไกลจัดขึ้น ก็เป็นโอกาสดีที่ให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ร่วมตรวจสอบ
ถามว่า มาร่วมตรวจสอบงบฯ ในครั้งนี้ ยูเมเห็นอะไรบ้าง?
“ความผิดปกติ ความชวนตั้งคำถามต่างๆ” เขารีบตอบกลับมาทันควัน “ยกตัวอย่าง งบฯ โครงการบางตัวไม่มีการแจกแจงรายละเอียด บางโครงการมีเอกสารอยู่หน้าเดียว เป็นต้น หรืออย่างตัวเองตอนแบ่งกลุ่มอยู่ในกลุ่มรายได้รัฐ ก็ได้ไปเห็นว่ามีบางหน่วยงานที่น่าจะมีรายได้มาก แต่พอไปดูกลับน้อยกว่าที่คิดไว้อย่างไม่น่าเป็นไปได้”
ยูเม บอกด้วยว่า การที่พรรคก้าวไกลนำเอกสารของสำนักงบประมาณทั้งหมดมาจัดทำเป็นระบบ Excel ทำให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการใช้งบฯ ได้ง่ายขึ้น อย่างแค่พิมพ์คำว่า ‘ผู้สูงอายุ’ เข้าไปในระบบ ก็สามารถที่จะเห็นได้เลยว่ามีกี่โครงการ ไม่ใช่แบบแต่ก่อนที่ต้องมาเปิดหาทีละหน้าจากเอกสารที่หนามากๆ อยากให้ครั้งต่อไปสำนักงบฯ จัดทำให้ประชาชนได้ศึกษาแบบนี้
ถามยูเมด้วยว่า อยากเห็นการจัดงบฯ เป็นแบบไหน ?
เขาตอบอย่างหนักแน่นว่า ควรก้าวข้ามจากระบบเสรีนิยม 100 เปอร์เซ็นต์ได้แล้ว และเน้นไปที่เรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน เพราะจากตัวอย่างกรณีบัตรทองที่เกิดขึ้นมา มันทำให้คนยากจนได้ประโยชน์มากๆ คนจนจริงๆ เข้าถึง
“ผมก็เชื่อด้วยว่า ถ้าเราเป็นรัฐสวัสดิการ คนทำธุรกิจก็จะได้ประโยชน์ คือเขาจะกล้าเสี่ยงมากขึ้น จะทำให้ประเทศระเบิดพลังทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพราะเขารู้ว่าถ้าล้มมาแล้วยังมีรัฐสวัสดิการรองรับ ยังทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้”
แน่นอนว่ารัฐสวัสดิการต้องแลกมากับระบบเก็บภาษีที่อาจจะเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยูเมชื่อว่าสามารถที่จะเพิ่มได้ แต่ก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย
นี่คือเสียงสะท้อนของ “คนรุ่นใหม่” ที่มาร่วมกิจกรรม “Hackathon งบฯ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น”
ฟังทั้งคู่อภิปรายนอกสภาแล้ว อย่าลืมติดตามการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน นี้
Drive รวมเอกสารงบประมาณทั้ง PDF ต้นฉบับและที่แปลงไฟล์เป็น csv แล้ว https://bit.ly/3wO9svH
ย้อนฟังการบรรยายก่อนเริ่มการ hack ได้ที่นี่