‘พิธา’ เปรียบงบ 66 เหมือน ‘ช้างป่วย’ ทั้งที่ถ้าจัดงบดีจะเป็นจุดชี้ชะตาประเทศอีก 10 ปี
ปี 2566 เป็นปีแห่งความหวัง
ปี 2566 เป็นปีแห่งการฟื้นฟู
แต่งบประมาณปี 2566 ตอบโจทย์การเป็นปีแห่งความหวังหรือไม่?
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่า นี่คือปีของความหวัง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายแล้ว คนมีความหวังกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนี่คือปีสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา งบประมาณของปี 2566 ก็ควรจะทำให้ประชาชนมีความหวังว่าประเทศกำลังจะดีขึ้น
การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท คือจุดชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมียุทธศาสตร์มากกว่าปกติ
“ถ้าเราจัดได้ดีประเทศก็จะไปได้ดีในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวอีกหลังจากทศวรรษที่สูญหายเพราะการมีผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และระบอบ คสช. แล้วยังจัดงบประมาณแบบเดิมๆ ความหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะตามมาและลูกหลานอนาคตก็จะพัฒนาไม่ได้”
พิธา กล่าวว่า ภาพรวมของงบประมาณปี 66 เป็นเหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น ในเรื่องของรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆแค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปีและความท้าทายในอนาคต
ต่อมา เรื่องรายได้ มีปัญหาว่าเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของเราเน้นแต่การท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่ใช่เชิงคุณภาพ และเน้นอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน
“เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น”
พิธา ระบุ
พิธา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของรัฐบาลนี้ที่จัดทำงบประมาณมาแล้ว 4 ปี คือ ไม่ว่าจะเจอวิกฤตแบบไหน เคยจัดอย่างไรก็จัดอย่างนั้น ปีแรกมีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลก็จัดงบแบบนี้ ปีที่ 2 มีวิกฤตโควิดระลอกแรกรัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้ ถัดมาปีที่ 3 มีโควิดระลอกอัลฟาและเดลตา รัฐบาลจัดงบมาแบบนี้ และปีที่ 4 ประเทศต้องฟื้นฟูจากโควิดซ้อนด้วยวิกฤตเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง และวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้ ไม่ได้ต่างกันเลย
“สภาปีแรกเหมือนฝนเริ่มตกปรอยๆ ปีที่สองโควิดเหมือนฝนตก ปีที่สามเป็นพายุ เจอลมฟ้าลมฝนแบบไหนก็จัดงบแบบนี้ ปีนี้ปีสุดท้ายเป็นฟ้าหลังฝน คิดว่าน้ำขึ้นต้องรีบตัก เราต้องขยายกระบวยของประเทศให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ตักเอาผลประโยชน์จากสถานการณ์โลกในช่วงฟ้าหลังฝนให้ได้”
พิธา ยกตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากซีอีโอของบริษัท Agoda บอกว่าห้องพักที่สิงคโปร์เต็มหมดแล้ว ยอดจองทั่วโลกมากกว่าก่อนโควิดเสียอีก แต่ประเทศไทยก็จัดงบเหมือนเดิม กระบวยอันเดิม ตอนวิกฤตก็แก้ไม่ได้ ตอนโอกาสมาก็คว้าโอกาสไว้ไม่ได้ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้คือ 4 ปีของสภานี้ ที่โครงสร้างงบประมาณไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมา 8 ปีแล้ว
หากพูดเรื่อง Creativity หรือความสร้างสรรค์ เมื่อไปดูงบกลับพบว่าไม่มีความหวังเลยที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความฝันของคนรุ่นใหม่ได้ ที่ชัดที่สุด ไปดูกระทรวงวัฒนธรรม ที่ในอนาคตควรจะเป็นกระทรวงเกรด A ไม่ต่างจากกระทรวงการคลังหรือกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ กลับได้งบ 6,700 ล้านบาท เพื่อไปตอบโจทย์ตัวชี้วัดเรื่องการทำให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ส่วนงบที่เกี่ยวกับ Soft Power ที่พูดๆ กันมีแค่ 60 ล้านบาท พอมาชำแหละรายโครงการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการส่งเสริมภาพยนต์เพื่อสร้าง Soft Power มีงบประมาณ 40 ล้านบาท โดย KPI ของหนังมีแค่ มีคนรับชม 50,000 คน จึงเป็น KPI ที่ไร้ความหวัง เหมือนรู้ว่าสร้างหนังออกมาแล้วจะไม่มีใครดู
พิธา ทิ้งท้ายว่า งบประมาณแห่งความหวังแบบพรรคก้าวไกล คือการจัดงบแบบต้องกระจายและไม่กระจุก กระจายจากบนลงล่าง เพื่อขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจทั่วประเทศ เพิ่มเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจาก 3 เครื่องยนต์ คือ กรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด ไปยังท้องถิ่นเพื่อให้มีเครื่องยนต์ใหม่ 7,850 เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งแผ่นดินของประเทศไทย ที่จะทำให้ความเจริญกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
ประการต่อมา ต้องเปลี่ยนเป็นล่างขึ้นบน สร้างเศรษฐกิจจากฐานราก SME และแรงงาน ไม่ใช่เอื้อนายทุนใหญ่ หรือคิดแต่โครงการแบบ EEC ที่ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันอีกแล้ว เพื่อจะได้เพิ่มเครื่องยนตร์ทางเศรษฐกิจ จากเจ้าสัว 10 เครื่องยนต์ เป็นเครื่องยนตร์ SME ไทย 3 ล้านเครื่องยนตร์ เพิ่มงานให้แรงงานไทย 40 ล้านคน เพื่อให้มี 40 ล้านเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
สามคือคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากข้างในออกไปข้างนอก เป็นข้างนอกเข้ามาข้างใน เริ่มจากกระดุมเม็ดแรกคือการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณเลยสักบาท เมื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก เราจะลงทุนสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Soft Power ให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเดิมที่มีแต่การอนุรักษ์ของเก่า ให้มีทั้งอนุรักษ์ของเก่าไปพร้อมส่งเสริมของใหม่ได้ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความหวังและความฝันของคนรุ่นใหม่ๆ งบประมาณต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเงินการคลังของข้าราชการเทคโนแครต แต่เป็นเรื่องความหวังและความฝันที่พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้
“ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถรับหลักการวาระเเรกของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทได้”
พิธา กล่าวยืนยันต่อสภาผู้แทนราษฎร