free geoip

อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 : กลัวทำไมถ้าไม่มีอะไรปกปิด? หมดเวลารัฐบาลทุจริต-บริหารประเทศล้มเหลว!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพฤติการณ์ที่ปรากฏในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ




  • 16-20 ก.พ. 64 นี้ เตรียมพบอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ
  • Timeline ขบวนการขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลัวทำไมถ้าไม่มีอะไรให้ปกปิด?
  • รายชื่อ 10 รมต. ที่กำลังจะถูกพาดคอขึ้นเขียงพร้อมรายละเอียดพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ




หมดเวลาแล้วสำหรับรัฐบาลที่บริหารประเทศล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ เอื้อพวกพ้อง ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้กฎหมายอย่างขัดหลักนิติรัฐนิติธรรม!



ในวันที่ 25 มกราคม 2564 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และในที่สุด ญัตติดังกล่าวก็ได้รับการบรรจุเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 29 มกราคม และจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์นี้


นับว่าเป็นปีที่สองของพรรคก้าวไกลในการร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ หากยังพอจำกันได้ ปีที่แล้ว ส.ส. ก้าวไกล ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยตั้งมาตรฐานการอภิปรายอย่างละเอียดยิบชนิดที่เรียกว่ากัดไม่ปล่อยไว้ ไม่ว่าจะเป็น “การถล่มรังไอโอ” โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, “ป่ารอยต่อของประวิตร” โดย รังสิมันต์ โรม, “รัฐมนตรีค้าแป้ง” โดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ฯลฯ


เชิญชม Teaser “อภิปรายไม่ไว้วางใจภาค 2” : https://www.youtube.com/embed/wksrR2xvfh0





อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันแรกที่ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติดังกล่าวจวบจนวันนี้ ก็มีเสียงข่มขู่ปรากฏให้เห็นในหน้าสื่อตลอดจากองคาพยพฟากรัฐบาล อาทิ วิรัช รัตนเศรษฐ, สิระ เจนจาคะ, ไพบูลย์ นิติตะวัน, สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ว่าจะขัดขวางการอภิปรายดังกล่าวโดยอ้างว่าจะไม่ให้อภิปรายเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์


สำหรับสาเหตุคาดว่ามาจากการที่ส่วนหนึ่งของพฤติการณ์ที่จะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการ “…ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง…”  (รายละเอียดพฤติการณ์เต็มๆ ของรัฐมนตรีทั้ง 10 คนอยู่ในช่วงท้ายบทความ)


ต่อไปนี้คือ Timeline ตัวอย่างความพยายามขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเป็นขบวนการเริ่มตั้งแต่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ (25 มกราคม 2564) อย่างพอสังเขป  :


26 มกราคม 2564 วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าอยากให้นำญัตติด่วนนี้กลับไปแก้ไข ลบคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันออกทั้งหมด เพราะหากไม่แก้ ก็จะเป็นปัญหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ถ้ามีการพูดถึงเรื่องนี้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลคงไม่ยอม และจะต้องทักท้วงตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าเป็นไปได้ขอให้ตัดออก”



อ่านเพิ่ม https://www.posttoday.com/politic/news/643726



วันที่ 27 มกราคม 2564 สิระ เจนจาคะ ได้ออกมารับไม้ต่อให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะเดินหน้าฟ้องพรรคก้าวไกลหากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านบรรจุเข้าที่ประชุมตนก็เตรียมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง ตามมาตรา 112 แก่สมพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส. ที่ร่วมลงชื่อในญัตติซึ่งต้องรอให้มีการบรรจุระเบียบวาระก่อนเพื่อให้มีหลักฐานว่าการบรรจุระเบียบวาระได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว



อ่านเพิ่ม https://www.thairath.co.th/news/politic/2020751



10 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติส่งเรื่อง “ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ที่นั่งบัลลังก์ในเวลานั้นก็ได้ทำการบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมต่อไป



อ่านเพิ่ม https://www.dailynews.co.th/politics/824382



13 กุมภาพันธ์ 2564 สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้อีสาน”  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะทำงานสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ(สสอ.) เผยว่าจะมีการตั้งวอร์รูมควบคู่ไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อ “ดำเนินคดี ม.112” ทันทีกับผู้อภิปรายที่พาดพิง จาบจ้วง กล่าวล่วงสถาบันในทางเสียหาย แถมยังเพิ่มเติมว่านี่คือญัตติที่กระทบหัวใจคนไทยมากทีสุด



อ่านเพิ่ม https://mgronline.com/politics/detail/9640000014506


ทั้งนี้ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. บางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน โดยได้โพสต์เนื้อหาและภาพประกอบชัดเจนลงเฟซบุ๊กแฟนเพจตนเอง



อ่านเพิ่ม https://www.facebook.com/NattachaBOfficial/photos/a.2014640618623082/3778819425538517/


จะเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าฟากรัฐบาลมีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อการอภิปรายในครั้งนี้ โดยพยายามทุกวิถีทางเพื่อข่มขู่หรือใช้กระบวนการทางกฎหมายหรือรัฐสภาในการขัดขวางญัตติซึ่งสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตยเพราะเป็นกลไกในการตรวจสอบและซักฟอกรัฐบาลอย่างถี่ถ้วน หากมีหลักฐานที่ชี้ถึงความด่างพร้อยหรือการทุจริตภายใน ส.ส. ฝ่ายค้านก็จะนำมาเผยแพร่ต่อหน้าเจ้าตัวและต่อหน้าประชาชนที่รับชมกันได้อย่างถ้วนหน้า


ดังนั้น หากรัฐบาลมั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีที่คัดเลือกกันมาดำรงตำแหน่งต่างๆ สามารถแก้ต่างชี้แจงทุกเรื่องได้อย่างไร้ที่ติ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาขัดขวางกันเป็นขบวนการเช่นนี้ เสมือนว่ากำลังแสดงอาการร้อนตัวเมื่อความลับที่เก็บงำไว้กำลังจะถูกตีแผ่




แต่ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับการบรรจุเข้าสภาโดยประธานสภาฯ แล้ว และจะดำเนินขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการลงมติภายในวันที่ 20


สำหรับเนื้อหาและรายละเอียดการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แบ่งได้ตามรายชื่อรัฐมนตรีทั้ง 10 คนในญัตติ โดยพฤติการณ์และเรื่องที่จะอภิปรายแต่ละคนมีดังต่อไปนี้(พรรคก้าวไกลจะอภิปราย 6 รายแรกตามลำดับ)



(โฉมหน้า 6 รัฐมนตรีที่พรรคก้าวไกลจะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ)



1
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 


บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึก และความรับผิดชอบ มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว


ทั้งหมดเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของตนเอง มีการใช้อำนาจแลกผลประโยชน์ทำให้การทุจริตแพร่กระจายไม่ต่างจากโรคระบาด จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่การทุจริตเฟื่องฟู เบ่งบานมากที่สุด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งประโยชน์แต่การสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนันกระจายไปทั่ว


ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดินของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง



2
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี


ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเอง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริต ต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง



3
อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ ไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาด ในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต แสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน



4
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีบุคคลหลายราย ซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต มีพฤติกรรมฉ้อฉล ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต จงใจปกปิดข้อมูลเพื่อปิดบังการทุจริต ผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ไม่ยึดหลักนิติธรรม เลือกปฏิบัติ ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล และไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี


5
สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน


บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลเสียหายแก่ประเทศและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีพฤติการณ์ใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนและพวกพ้อง สร้างความแตกแยกให้เกิดในสังคม ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังระหว่างผู้ที่เห็นต่าง ละเมิดหลักนิติรัฐ


6
นายนิพนธ์ บุญญามณี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นสำคัญ



7
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่กลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ใช้อำนาจด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสียสละ ไม่เปิดเผย แต่กลับปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลแวดล้อม ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง


8
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


บริหารราชการแผ่นดิน บกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล และไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่ดี แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ แก่ตนเอง และพวกพ้อง ในลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ทุจริตในหน่วยงานที่กำกับ มีพฤติกรรมฉ้อฉล ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต จงใจปกปิดข้อมูล ปกป้องการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ใช้อำนาจด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสียสละ ไม่เปิดเผย และไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ผลของการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้หน่วยงานของรัฐในกำกับเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง


9
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่อง ล้มเหลวอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง


10
ธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่อง ล้มเหลวอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง




สำหรับใครที่ต้องการติดตามศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ สามารถรับชมการประชุมสภาฯ ผ่านไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ “วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา” https://www.facebook.com/TPchannelFan ระหว่าง 16-20 กุมภาพันธ์นี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 9.30 น. ของแต่ละวัน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า