free geoip

‘งบกลาโหม’ สอดไส้ ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ ไม่โปร่งใส



พิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายอัดงบกลาโหม ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ และไม่โปร่งใส โดยแสดงให้เห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งคือกำลังพลและจำนวนพลทหารของกองทัพมีมากจนเกินไป พร้อมตั้งคำถามถึงพลเอกประยุทธ์ ว่าเป็นสมุหกลาโหมสมัยอยุธยาหรืออย่างไร จึงเน้นสะสมไพร่พลทหารราบ เอาไว้รบกับข้าศึก

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยอภิปรายในส่วนของงบกระทรวงกลาโหม ว่า แม้จะลดงบประมาณลงมาแล้ว แต่ไส้ในของงบประมาณยังไม่มีความคุ้มค่าและโปร่งใส ทำให้ไม่สามารถยกมือโหวตผ่านงบประมาณได้

“ปีนี้มีงบกลาโหมกว่า 197,300 ล้านบาท คิดเป็น 6.19% เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน 3.185 ล้านล้านบาท เบื้องต้นถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดในรอบ 9 ปีงบประมาณ นับตั้งแต่ที่พลเอกประยุทธ์ ทำรัฐประหารเข้าสู่อำนาจ แต่เมื่อไปดูรายละเอียดของงบประมาณแล้ว เปรียบเป็นคำพูดได้อยู่ 3 คำ นั่นคือ ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ และไม่โปร่งใส”

พิจารณ์ ระบุ



ข้อสังเกตที่ 1 งบบุคลากรปูด ‘ไม่คุ้มค่า’

พิจารณ์ กล่าวต่อว่า แม้งบกลาโหมปี 2566 จะลดลงกว่า 2.17% แต่ในไส้ในงบบุคลากรกลับเพิ่มขึ้น 2.3% หากจะอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ แม้รัฐบาลจะพยายามลดงบกลาโหม แต่กลับไม่สามารถลดงบบุคลากรได้เลย สาเหตุมาจากกองทัพมีกำลังพลที่เป็นข้าราชการทหารมากจนเกินไป และมีนายพลเยอะเกินไป ซึ่งงบในส่วนนี้ยังไม่ได้นับส่วนของทหารเกณฑ์ เพราะงบส่วนนั้นไม่ได้อยู่ในงบบุคลากร

“พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ใส่ใจแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งแทนที่จะใช้นโยบายให้กองทัพดำเนินโครงการเกษียณก่อนอายุราชการ หรือ Early Retire กลับไม่ทำ แล้วมาบอกว่าจะลดจำนวนนายพลลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2572 แบบนี้เค้าเรียกว่าปล่อยตายครับท่านประธาน”

พิจารณ์ กล่าวต่อว่า ที่หนักที่สุดคือ กองทัพบกที่รายจ่ายบุคลากร สูงอยู่แล้วที่ 62% ในงบปี 66 กลายเป็น 77% ของงบกองทัพบก หมายความว่า หากกองทัพบกมีงบ 100 บาท จะหมดเงินกับค่าบุคลากรถึง 77 บาท เหลือเงินเพียง 23 บาทเท่านั้น ที่จะนำไปใช้เพื่อซื้อหรือปรับปรุงขีดความสามารถในด้านยุทโธปกรณ์ งานวิจัยหรือการฝึกอบรมทหาร ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้โดยเฉพาะในส่วนของทหารเกณฑ์ สามารถพิจารณาตัดได้ จึงสงสัยว่า ทำไมจำนวนทหารเกณฑ์ หรือจำนวนกำลังพลถึงมีความสำคัญจนลดลงไม่ได้เลย พอเห็นแบบนี้จึงคิดว่า พลเอกประยุทธ์ รัฐมนตรีกลาโหมหรือเป็นสมุหกลาโหมสมัยกรุงศรีอยุธยากันแน่ จึงยังเน้นสะสมไพร่พลทหารราบเอาไว้รบกับข้าศึก


จี้ ‘ประยุทธ์’ ตอบงบ ‘เรือดำน้ำ’ หวั่นเจอค่าโง่หมื่นล้าน

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังตั้งข้อสังเกตในส่วนงบประมาณกองทัพเรือว่า ในการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 จากราคา 12,500 ล้านบาท ขณะนี้เหลือผ่อนงวดสุดท้ายประมาณ 3,000ล้าน ที่ต้องจ่ายในปี 66 ส่วนลำที่ 2 และ 2 ยังไม่มีการเริ่มจ่ายเงินดาวน์ ข้อสังเกตก็คือ ในงบปี 66 มีการตั้งงบจ่ายงวดสุดท้ายสำหรับเรือดำน้ำลำแรกเพียง 2,039 ล้านบาท จึงมีคำถามว่า ที่จ่ายเพียงเท่านี้เป็นเพราะมีปัญหาที่ทางจีนไม่สามารถจัดซื้อเครื่องยนตร์จากเยอรมันได้ใช่หรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลไม่มีความชัดเจนต่อโครงการนี้ นอกจาก นี้ยังมีความสับสนจากสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ ตอบกับสื่อมวลชนในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมที่ว่า หากหาเครื่องยนตร์ไม่ได้ก็ยกเลิกไปแล้วหาใหม่ ซึ่งตนมองว่าเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้ เพราะอาจนำมาซึ่งการเสียค่าโง่ต่อไปอีกเป็นหมื่นล้าน

พิจารณ์ กล่าวว่า ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 36,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่การมีเรือดำน้ำเท่านั้น เพราะจะต้องมีการลงทุนจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆเพื่อสนับสนุนอีกนับหมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น เรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบก ท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมบำรุง เรือลากจูงขนาดกลาง ระบบสื่อสารควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเรือดำน้ำรุ่นนี้ และทั้งหมดมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว หากเปลี่ยนรุ่นหรือจัดหาใหม่ สิ่งที่ลงทุนไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ร่วมกันได้ จึงเป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ จะต้องชี้แจงให้ชัด



ข้อสังเกตที่ 2 เน้นซื้อ ไม่เน้นผลิต ‘ไม่ตอบโจทย์’

พิจารณ์ อภิปรายต่อไปว่า รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ที่ 11 เพื่อหวังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงมีการตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีฐานะเป็นองค์การมหาชนและมีพระราชบัญญัติอนุญาตให้สามารถร่วมทุนกับเอกชน ผลิต จำหน่ายอาวุธ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย แต่กลับพบปัญหาหลักๆ 4 ประการ

  1. กลาโหมไม่ค่อยจะซื้อยุทโธปกรณ์ของไทย แต่ไปนิยมซื้อกับผู้ผลิตในประเทศ เช่น รถยานเกราะ เสื้อกันกระสุน หน้ากากกันสารพิษ ไม่รู้ว่าเงินทอนมากกว่าหรืออย่างไร กลายเป็นว่าเอารายจ่ายลงทุน ที่ต้องได้มากกว่า 20% ของงบประมาณแผ่นดินเพื่อการพัฒนาประเทศ ไปลงทุนในประเทศที่ผลิตอาวุธ ไปจ้างงานสร้างเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า
  2. กลาโหมต้องทลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น มาตรฐานการทดสอบยุทโธปกรณ์ ที่แต่ละหน่วยงานมีคนละแบบ สป แบบหนึ่ง, ทบ แบบหนึ่ง, ทร แบบหนึ่ง แต่ถึงเวลาไปทดสอบสนามทดสอบที่เดียวกัน ใช้อุปกรณ์ในการทดสอบเหมือนกัน จึงไม่รู้จะวางมาตรฐาน ให้เอกชนเข้าวิ่งไปทั้งสามรอบเพื่ออะไร เพราะจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ที่ออกโดย กรมอุตสาหกรรมทหาร ที่ต้องปรับปรุง
  3. หน่วยงานต่างๆ ที่ผลิตอาวุธของกองทัพ ต้องปรับตัวในเชิงรุกมากกว่านี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้สำนักปลัดกลาโหมอย่างเช่น ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ, โรงงานผลิตวัตถุระเบิดทหาร หน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตขายให้ทั้ง กองทัพ, ผู้ผลิตอาวุธของเอกชน และส่งออกต่างประเทศ ตามมติ ครม. แต่เมื่อไปดูในเอกสารขาวคาดม่วง จะเห็นได้ว่า มีรายได้จากการดำเนินงานที่ต่ำมาก
  4. การตั้งงบวิจัยน้อยมาก ประมาณ 1% ของงบประมาณกลาโหมเท่านั้น ต้องยอมรับว่า ผลงานวิจัยมากมายในโลกที่้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มาจากการวิจัยเพื่อใช้ในทางการทหารทั้งสิ้น ตั้งแต่ พรายน้ำบนนาฬิกาข้อมือ ไปจนถึง ระบบ GPS และ Internet เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศอย่างยั่งยืน โดยเรามีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร

“ในแง่ความไม่ตอบโจทย์คือ งบทหารพัฒนามีมากกว่างบวิจัย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก เรือ อากาศ เป็นงบประเภท พัฒนาประมงบ้าง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบ้าง แต่ที่มีเยอะกว่าเพื่อนก็คือ กองบัญชาการกองทัพไทย เยอะขนาดที่งบปีๆหนึ่งอยู่ที่ 2,700-2,800ล้าน เป็นงบในการจัดหาแหล่งน้ำกับทำถนน แล้วที่ตลกสุดสุด คืองบจัดหาแหล่งน้ำ ของ บก.ทท. อยู่ที่ 1,300ล้าน ในขณะที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลทั้งกรม มีงบอยู่ 2,900 ล้าน นี่คือความไม่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงของประเทศไทย”



ข้อสังเกตที่ 3 แจงบรรทัดเดียวขอพันล้าน ‘ไม่โปร่งใส’

พิจารณ์ อภิปรายต่อว่า หลายโครงการของกระทรวงกลาโหมแสดงรายละเอียดมาแค่บรรทัดเดียว แต่มีงบประมาณสูงถึง 6,000-7,000 ล้านบาท รายการเหล่านี้เป็นประเภท งบรายจ่ายอื่น ซึ่งจะถูกพิจารณาในอนุกรรมธิการอบรม สัมมนา แต่เมื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้แทนจากกองทัพก็จะตอบอย่างสุภาพว่า “ไม่ได้เตรียมมา” และเมื่อพูดถึงเงินนอกงบประมาณ กองทัพมีกิจกรรมหลายอย่างที่ใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ซึ่งถูกนำไปทำเป็น โรงแรม ที่พักตากอากาศ สนามกอล์ฟ และอีกหลายอย่าง

“ผมไม่ได้มีปัญหากับการจัดสวัสดิการเพื่อกำลังพล แต่เรียกร้องให้ทุกอย่างมันโปร่งใสตรวจสอบได้ ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งกลาโหมเป็นกระทรวงที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณมากมาย แต่ไม่เคยสมทบในงบประมาณเลย”

พิจารณ์ กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า  ภายใต้ข้อสังเกตสามข้อ คือ ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ ไม่โปร่ง เราต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ต่อให้กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณมากขึ้น เราก็ไม่สามารถจะมีกองทัพที่เข้มแข็ง ที่พร้อมจะเผชิญต่อภัยคุกคามได้อย่างแท้จริง หากแต่ผู้นำรัฐบาล ต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกลาโหม กองทัพต้องหยุดหมกหมุ่นกับภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของทหารในการป้องกันประเทศและหันกลับมาใส่ใจในการพัฒนากองทัพ

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือการปฎิรูปกองทัพโดยการลดจำนวนนายพล ลดจำนวนกำลังพล ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เปิดเผยข้อมูลงบประมาณและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ที่สำคัญคือ กองทัพต้องหยุดยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างจริงจัง หยุดใช้เงินภาษีประชาชนไปทำกองทัพ IO กองทัพไซเบอร์โจมตีผู้ที่เห็นต่าง หยุดออกคำสั่งกำลังพลในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รัฐบาลควรใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า เพื่อนำไปสู่การสร้างกองทัพที่พร้อมเผชิญต่อภัยต่างๆ และนี่ยังเป็นหนทางที่สร้างศรัทธาของพี่น้องประชาชนกลับมาอีกด้วย

“ตลอด 2 วันที่พวกเราพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ผมได้ฟังการอภิปรายของเพื่อสมาชิกมากมาย มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย บางคนขนาดกล่าวหาพวกเราว่า เล่นเกมการเมือง จ้องจะล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่ผมอยากจะเรียนต่อท่านประธาน ผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกทุกท่านว่า การผ่านร่างงบประมาณฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงว่าเราจะได้งบประมาณปี 2566 ที่เปรียบเสมือนช้างป่วยเท่านั้น แต่เราต้องหยุดประยุทธ์วันนี้ อย่าปล่อยให้ประเทศชาติเสียโอกาสไปอีก 2 ปีงบประมาณ”

พิจารณ์ ระบุ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า