free geoip

สรุปแนวทางก้าวไกล พิจารณางบประมาณ กทม.


สรุปแนวทางของก้าวไกล ในการพิจารณางบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันกับผู้ว่าชัชชาติ

ในสถานการณ์ที่งบ กทม. ถูกก่อหนี้ผูกพันไว้เต็มไปหมดโดยฝ่ายบริหารชุดก่อน จน กทม. ตกอยู่ในสภาพที่ “ไม่มีเงิน” การทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าชัชชาติที่ดีที่สุด ก็คือ การใช้กลไกของสภา กทม. ในการปรับลดงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล ชะลอโครงการผูกพันที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ได้รับงบประมาณมากเกินความจำเป็น (พิจารณาจากอัตราการเบิกจ่ายในปีก่อนๆ อยู่ในอัตราที่ต่ำมากๆ) รวมทั้งการเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

โดยก้าวไกล เราได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนงานด้านงบประมาณ ให้กับผู้ว่าชัชชาติ ดังต่อไปนี้ครับ

1. งบผูกพันในปี 66 เบื้องต้นเราตรวจพบว่ามีสูงถึง 27,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ถึงกับไม่มีทางออก เพราะเราพบว่ามีอยู่ถึง 9,200 ล้านบาท ที่เป็นโครงการที่ยังไม่ก่อหนี้ ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ซึ่ง ส.ก. ของพรรคก้าวไกลจะช่วยทบทวน และพิจารณาชะลอโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในเบื้องต้น ซึ่งเราประเมินว่า หากชะลอโครงการต่างๆ เหล่านี้ออกไปได้ น่าจะทำให้ผู้ว่ามีงบประมาณในมือเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณายกเลิกโครงการ หรือปรับลดขอบเขตโครงการ เพื่อลดภาระผูกพันด้านงบประมาณของ กทม. นั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งพรรคก้าวไกลจะช่วยทำการบ้าน รวบรวมโครงการผูกพันที่เป็นปัญหาเหล่านี้ เสนอให้ผู้ว่าชัชชาติต่อไป

2. สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี เท่าที่ประเมินพบว่ามีการสั่งซื้อครุภัณฑ์ ในราคาสูงกว่าราคาตลาดอยู่จำนวนหนึ่ง คาดว่าน่าจะปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

3. สำหรับการจัดเก็บรายได้ หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดิน หากเทียบกลับไปยังปี 64 ที่รัฐบาลประกาศลดภาษีที่ดิน 90% โดย กทม. จัดเก็บได้ 10% ซึ่งจัดเก็บได้ 1,800 ล้าน นั่นหมายความว่า ในปี 66 ซึ่งเป็นปีที่ กทม. จัดเก็บได้เต็มอัตรา จะทำให้ กทม. จัดเก็บภาษีที่ดินได้ 18,000 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่าในปี 66 กทม. มีการตั้งเป้าจัดเก็บภาษีที่ดินไว้เพียง 7,710 ล้านบาท เท่านั้น

กทม. จัดงบประมาณรายจ่ายแบบสมดุล การตั้งเป้าในการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าศักยภาพในการจัดเก็บ จะทำให้งบประมาณรายจ่ายต้องตั้งงบลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และการพัฒนาเมืองมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณ การตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ต่ำเกินไป แม้ว่าภายหลังจะจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า แต่ตัวเลขที่เกินเป้า ก็จะไม่ได้มีปริมาณมากนัก และการตั้งงบประมาณกลางปี ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนล่าช้าออกไป

พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการลดหย่อนภาษีที่ดินให้กับประชาชน ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด แต่การลดหย่อนภาษีที่ดิน ควรจะต้องดำเนินการให้โปร่งใส เป็นทางการ ถ้าลดหย่อนให้กับประชาชนในอัตรา 30-40% ก็จะทำให้ กทม. จัดเก็บได้ 10,800-12,600 ล้านบาท

การประมาณการว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินได้เพียง 7,710 ล้านบาท ถ้าเกิดจากการละเว้นการจัดเก็บ หรือการยอมรับการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินของนายทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่นับวันมีการปลูกกล้วย เพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวจะทำให้ กทม. จัดเก็บภาษีที่ดินได้ลดลงเรื่อยๆ และยังไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่เสียภาษีที่ดินอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา อีกด้วย

สำหรับภาษีป้าย หากมีระบบการลงทะเบียนป้าย และมีการออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีป้ายกับป้ายดิจิตอลให้มีความชัดเจน ก็จะทำให้ กทม. สามารถจัดเก็บภาษีป้ายได้เพิ่มอีก 500-800 ล้านบาท

สำหรับค่าธรรมเนียมขยะ หากฝ่ายบริหารกวดขันให้แต่ละเขตมีการประเมินปริมาณขยะให้ตรงกับความเป็นจริง ตลอดจนมีการแก้ไขทบทวนข้อบัญญัติ ให้เก็บค่าธรรมเนียมขยะจากห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ให้สอดคล้องกับปริมาณขยะที่เป็นภาระในการจัดเก็บของ กทม. ก็น่าจะเก็บค่าธรรมเนียมขยะเพิ่มได้อีกอย่างน้อยๆ 500 ล้านบาท

ในกรณีของค่าบำบัดน้ำเสีย เป็นที่น่าตกใจมากที่แต่เดิมปี 65 มีการประเมินว่าจะจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้ประมาณ 120 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าจัดเก็บไม่ได้เลย จึงทำให้ปี 66 กทม. จึงล้มเลิกที่จะจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ไป ซึ่งนอกจาก จะทำให้ กทม. ขาดรายได้แล้ว ยังทำให้ กทม. ขาดกลไกในการควบคุมมลพิษทางน้ำ และการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ใน กทม. อีกด้วย

ถ้าวางระบบในการทำงานร่วมกันกับการประปานครหลวงในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย โดยอาจพิจารณายกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียให้กับครัวเรือนที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่มากนัก โดยมุ่งเน้นการจัดเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียโดยไม่มีการบำบัดเป็นหลัก ก็น่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท


4. ประเด็นสุดท้ายที่เป็นความกังวลของคนกรุงเทพจำนวนไม่น้อย นั่นก็คือ หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน กทม. มีหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับ BTS อยู่ทุกปี ปีละเกือบ 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจ้างเดินรถปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยปีละประมาณ 2,800 ล้าน (แต่ถ้าปล่อยให้ดอกเบี้ยทบต้นทบดอก ดอกเบี้ยจ่ายก็จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ)

พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับผู้ว่าชัชชาติ พยายามที่จะจัดหางบประมาณมาจ่ายค่าจ้างเดินรถ และดอกเบี้ยให้แก่ BTS เพื่อไม่ให้หนี้ก้อนนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แบบทบต้นทบดอก หากปล่อยให้หนี้พอกพูนไปเรื่อยๆ ในปี 72 ซึ่งเป็นปีที่อายุสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลัก จะสิ้นสุดลง มีการประเมินกันว่า หนี้ก้อนนี้จะโตจาก 39,000 ล้านบาท กลายเป็นหนี้ก้อนมหาศาลระดับ 90,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ที่ล้นพ้นตัวนี้ จะกลายเป็นพันธนาการที่บีบให้ กทม. ต้องต่ออายุสัญญาสัมปทาน ในเงื่อนไขที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ที่มาจากการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และการไม่เกิดขึ้นของตั๋วร่วม และค่าโดยสารร่วม จะไม่มีทางได้รับการแก้ไขได้เลย



รวมๆ แล้ว ด้วยกลไกของสภา กทม. ส.ก.ก้าวไกล น่าจะช่วยปรับลดงบประมาณ เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับกับผู้ว่าชัชชาติได้ราวๆ 5,000-6,000 ล้าน ซึ่งพรรคก้าวไกล จะทำงานร่วมกันกับผู้ว่าชัชชาติ จับมือเพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนชาวกรุงเทพ อาทิ

  • การลอกท่อ ลอกคลองทั่วกรุง
  • การเพิ่มรอบในการจัดเก็บขยะให้กับประชาชน
  • การกระจายงบประมาณ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)
  • การปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้การเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจ
  • ฯลฯ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า