free geoip

รวมเนื้อหา 2 วัน ส.ก.ก้าวไกลสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะอะไรในสภากรุงเทพ?


พักยกจากเรื่องวุ่นๆ ในสภาใหญ่ มาดูที่กันที่สภากรุงเทพกันบ้าง เมื่อวานและวันนี้เป็นการพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานครครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการประชุมพิจารณางบประมาณ โดยผู้ว่าชัชชาติและ ส.ก. ทั้ง 50 เขต ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนและข้อเสนอในการแก้ปัญหาของประชาชนคนกรุงเทพ

ถ้าใครไม่มีเวลาติดตามการทำงานของ ส.ก. ก้าวไกลทั้ง 2 วัน พรรคก้าวไกลได้สรุปสาระสำคัญของแต่ละท่านที่อภิปรายมาไว้ในโพสต์นี้แล้ว ติดตามอ่านกันได้เลย (ยังอาจรวมไม่ครบ ถ้าตกหล่นเขตไหนไปแจ้งเข้ามาได้เลยจ้า)



ปัญหาการซ่อมไฟที่ไม่ใช่แค่ไม่เปลี่ยนหลอดไฟ แต่คือปัญหาความซับซ้อนของระบบรัฐรวมศูนย์

ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก. เขตบางซื่อ

ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามามากเป็นอันดับ 3 ในช่องทาง Traffy Fondue ของผู้ว่าชัชชาติ ถามว่าทำไมเราต้องมาคุยกันเรื่องนี้ทั้งที่การไฟฟ้าไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร ปัญหาเรื่องแสงสว่างเป็นปัญหากันแทบจะทุกเขต

อ้างอิงรายงานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 ขั้นตอนการทำงานของการไฟฟ้าเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนหรือตรวจพบไฟฟ้าขัดข้อง ทางการไฟฟ้าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินความเสียหายก่อน หากเสียหายไม่มากและอยู่บนถนนเส้นหลัก ทางสำนักโยธาจะเข้าดำเนินการ หากเป็นตรอกซอกซอยก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต หากเสียหายมากทางการไฟฟ้าจะมีหนังสือตกลงราคาส่งให้ทางกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวงเข้าดำเนินการ

นี่เป็นเพียงในทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงเราจะพบว่า สำนักงานเขตบางพลัดเคยดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าด้วยตัวเองซึ่งแก้ปัญหาได้รวดเร็ว แต่มีความไม่ชัดเจนในขอบเขตของการซ่อมแซมที่การไฟฟ้านครหลวงกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้ทางสำนักงานเขตหยุดดำเนินการเรื่องนี้ไป ตอนนี้งานแก้ไขซ่อมแซมทั้งหมดจึงไปกองกันอยู่ที่การไฟฟ้า การที่บุคคลกรไม่เพียงพอเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่ได้รับการแก้ไข


เขตบางซื่อมีงบประมาณทั้งหมดประมาณ 300 ล้านบาท เป็นค่าซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะที่เอามาจ่ายให้การไฟฟ้าเพียง 314,510 บาทเท่านั้น ในขณะที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนไฟแสงจันทร์ให้เป็นหลอด LED ราคาต่อหลอดโคมอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท หมายความว่าทั้งปี 2566 นี้ เขตบางซื่อจะสามารถแก้ไขเรื่องแสงสว่างได้เพียง 157 ดวง ขณะที่เขตบางซื่อมีซอยทั้งหมด 121 ซอย หมายความว่าเราจะซ่อมแซมเรื่องแสงสว่างได้ 1-2 ดวงต่อซอยต่อปีเท่านั้น

ซ้ำร้าย ในปีงบประมาณ 2565 เขตบางซื่อใช้งบค่าซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะจริงไปถึง 1,522,895 บาท เท่ากับว่างบประมาณที่ได้มาคิดเป็นเพียง 20% ของงบที่ใช้จริง

เราจึงเสนอให้ กทม. พูดคุยกับทางการไฟฟ้านครหลวงเพื่อหาทางออก ด้วยการมอบหมายให้การไฟฟ้าจัดจ้างหน่วยงานภายนอกมาเป็นผู้แก้ไขซ่อมแซมแสงสว่างเชิงรุกดังที่เกิดขึ้นแล้วในบางเขต เพื่อลดภาระของประชาชนในการร้องเรียน

ลดภาระของเจ้าหน้าที่ แก้ปัญหาแสงสว่างให้กับชาวกรุงเทพมหาคร



จัดทำ “แผนบริหารหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยด่วน!

อานุภาพ ธารทอง ส.ก. เขตสาทร

ภาระหนี้ของ BTS จากการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพ ในเดือน พ.ค. 64 อยู่ที่ 33,222 ล้านบาท ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 39,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าจ้างเดินรถที่อีกปีละ 3,000 ล้านบาทต่อปี และดอกเบี้ยผิดนัดชำระอีกปีละ 7.5% ที่กำลังเพิ่มขึ้น ถ้าเราปล่อยให้หนี้ก้อนนี้พอกพูนต่อไปจะทำให้ กทม. เกิดภาระทางการคลังและเสียเปรียบจนต้องยอมต่อสัมปทานให้บริษัทเอกชน ทำให้คนกรุงเทพต้องใช้ไฟฟ้าแพงต่อไปอีก 40 ปี

พรรคก้าวไกลได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาหนีั้สินก้อนนี้ด้วยการจัดทำ “แผนบริหารหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยเร่งด่วน ซึ่งมีข้อเสนอหลายประการในการหารายได้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น การเร่งรัดติดตามเงินชดเชย ภาษีที่ดินที่รัฐบาลค้างจ่ายอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท การพิจารณาตัดหรือปรับลดงบประมาณในงบกลางของ กทม. ที่กันเอาไว้ใช้ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโดยไม่มีการระบุรายละเอียด 4,000 ล้านบาทต่อปี การเร่งปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติ ให้จัดเก็บภาษีป้าย ภาษีที่ดิน ค่าธรรมเนียมขยะ ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย จากนายทุนใหญ่ที่อาศัยข้อกฎหมายหลบเลี่ยงมาโดยตลอด 



โควิดจบ แต่ปัญหาความท้าทายของระบบสาธารณสุขใน กทม. ยังไม่จบ

อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ส.ก. เขตจตุจักร

จากการระบาดของโควิดที่ผ่านมา เราต้องมีมุมมองได้แล้วว่า ระบบสาธารณสุข ควรยกระดับให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เองอีก 11 แห่ง และยังมีศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 ศูนย์ 73 สาขา ใน 50 เขต ส่วนคลินิกเอกชนที่เคยมีอยู่มากในกรุงเทพฯ ก็ได้ปิดตัวไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือแต่ร้านขายยาซึ่งมีมากขึ้น 

ในขณะที่ประชาชนในต่างจังหวัด สามารถใช้สิทธิบัตรทอง ที่โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล หรือ รพสต. ได้ โดย รพสต. 1 แห่ง จะดูแลประชาชนประมาณ 3,000 คน แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกที่มีอยู่ หากนำมาหารเฉลี่ยแล้ว แต่ละแห่งดูแลประชาชนสูงถึง 10,000 คน จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมคนกรุงเทพฯ เวลาเจ็บป่วย ต้องซื้อยากินเอง


แต่เดิมเราเชื่อว่า หลังจากที่วิกฤตินี้ผ่านพ้นไป ศูนย์บริการสาธารณสุข น่าจะมีความพร้อมในเรื่องยา และเวชภัณฑ์มากขึ้น แต่เมื่อผมไปเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุขเหล่านั้น กลับพบว่า หลายศูนย์ขาดแคลนยาอย่างมาก มีเพียงยาพาราเซตามอล ยาเคลือบกระเพาะ ยาแก้ท้องอืด สุดท้ายถ้าไม่อยากซื้อยากินเอง ประชาชนก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งเสียเวลาอย่างมาก

หลายครั้งที่ประชาชนที่ไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กลับได้รับคำตอบว่า ยาหมด งบหมด งบปีนี้ไม่พอ!  เห็นได้ชัดว่าเรายังไม่มีความพร้อมในเรื่องของการจัดการระบบสาธารณสุขเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่เป็นการให้บริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิ

ตอนนี้ โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นของคนไทยไปแล้ว มีนโยบายให้เปิดเมือง และเปิดหน้ากากแล้ว ซึ่งผมเห็นด้วยว่าเราควรเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจได้แล้ว แต่สิ่งที่กรุงเทพมหานคร ต้องไม่ใช่แค่ออกคำสั่งเปิด แต่ต้องเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขให้มากกว่านี้ จากการตรวจสอบงบประมาณ ผมไม่พบงบประมาณที่ทำให้คนกรุงเทพ มั่นใจได้ว่า จะมีงบที่เพียงพอในการสำรองยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ที่ทำให้คนที่ติดโควิดทุกคนสามารถเข้าถึงยา และการรักษาได้ทันที



ใช้ไฟล์ csv วิเคราะห์งบประมาณเขตลาดพร้าว

ณภัค เพ็งสุข ส.ก. เขตลาดพร้าว

จากการร่วมกิจกรรม policy hackathon และใช้ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์งบประมาณของเขตลาดพร้าว ทำให้ได้รู้ว่าสำนักงานเขตลาดพร้าวได้รับการจัดสรรงบฯ 371 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆออกไป เหลืองบประมาณที่ใช้เพียง 155 ล้านบาทเท่านั้น


ยกตัวอย่าง การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลของเขตลาดพร้าว 3 หัวข้อ

1. งบจัดการขยะ – ส่วนงานบริการทั่วไปของฝ่ายรักษาความสะอาด ที่ของบฯ เพิ่ม 6.82 เท่า หรือราว 14,000,000 ล้านบาท แต่รายละเอียดหรือเป้าหมายของการปฏิบัติ ยังมีอยู่เท่าเดิม

เคยขอรายละเอียดแผนการจัดเก็บขยะ และตาราง เพื่อนำมาบอกประชาชนให้รู้ ดังนั้นจึงงบเพิ่มถึง 14,000,000 บาท แต่งานจัดเก็บขยะ ที่ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ กลับของบเพิ่มเพียงแค่ 400,000 บาท งานที่ควรขอเพิ่มเยอะๆ ควรเป็นงานที่ใช้งบแก้ปัญหา จะเหมาะสมกว่าหรือไม่

2. งบแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – ปี 2566 มีงบแก้ไขปัญหาน้ำท่วม คือสำนักการระบายน้ำ คาดหวังว่า งบจะมีเพียงพอแก้ไขปัญหา แต่พอเข้าไปดูงบประมาณจริง กลับมีเพียงแค่ 3,100,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.68 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด จากเป้าหมายสวยหรู เปิดคลองน้ำ ทำความสะอาดคลอง ลอกท่อ แต่รายละเอียดไม่มีอะไรเลย แค่ค่าอาหารก็หมดแล้ว แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะทำตอนไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

3. งบรายจ่ายอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21 ที่แม้จะดูเป็นงบที่น้อยนิด แต่กลับมีความไม่สมเหตุสมผล เช่น “รายการค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีทบทวนคำปฏิญาณลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และค่าใช้จ่ายฝึกอบรมในหมู่ลูกเสือ 3 รายการ” เป็นเงินกว่า 300,000 บาท ในขณะที่มีงบสวัสดิการดูแลกลุ่มเปราะบางเพียงแค่ 100,000 บาทเท่านั้น



โรงเรียนและการศึกษา : ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ กับงบประมาณอันน้อยนิด

ศศิธร ประสิทธ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร

โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครหลายแห่ง ปัจจุบันนี้มีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากแล้ว ทั้งอุปกรณ์ อาคาร ห้องเรียน ห้องน้ำ และสนามเด็กเล่น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายปี แต่การจัดสรรงบประมาณกลับไม่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน

หากนับเฉพาะในเขตพระนครอย่างเดียว มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอยู่ 11 แห่ง แต่งบประมาณพัฒนาโรงเรียนตามร่างฯ 2556 กลับได้งบประมาณเพียง 1.3 ล้านบาท หรือเฉลี่ยโรงเรียนละ 1.1 แสนบาท

บางโรงเรียน สนามเด็กเล่นไม่สามารถเปิดให้นักเรียนใช้ได้ อุปกรณ์ที่ชำรุดไม่มีงบประมาณไปซ่อมแซม บางแห่งไม่มีแม้กระทั่งหลังคาบังแดดให้นักเรียน ซึ่งศศิธรระบุว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ตัวเองต้องได้ยินผู้ปกครองพูดกับลูกตลอดเวลา ว่าอย่าเข้าไปใกล้แป้นบาส เพราะเดี๋ยวแป้นบาสล้มใส่ ดื่มน้ำที่ตู้น้ำระวังไฟจะดูด อย่าเดินเข้าใกล้ประตูเเหล็กเพราะเดี๋ยวสนิมบาด ฯลฯ

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าตกลงแล้ว คนกรุงเทพมหานคร กำลังส่งลูกหลานไปโรงเรียน หรือไปสู่สมรภูมิกันแน่?



ปรับลดงบอุโมงค์ยักษ์ เพิ่มงบขุดคลอกท่อระบายน้ำ

ฉัตรชัย หมอดี ส.ก. เขตบางนา

กรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหา ‘น้ำรอระบาย’ ไปอีกนานเท่าไร หากการจัดสรรงบประมาณยังเป็นแบบนี้อยู่? ในปี 2566 มีการเพิ่มงบประมาณจากปีที่แล้วเพียง 100  ล้านบาทเท่านั้น หากการจัดสรรงบประมาณยังเป็นแบบนี้อยู่ผมคาดว่า อีกประมาณ10-20 ปีเราถึงจะลอกคูคลองได้หมด ยังไม่รวมถึงทั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ระบบสำรองไฟหรือการสลับเฟสไฟและการบำรุงรักษาท่อระบายน้ำ งบในการจัดซื้อ จัดซ่อม เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ที่ถูกตัดงบจนขาดแคลนงบประมาณ และความเดือดร้อนทั้งหมดทั้งปวงนี้จะตกไปอยู่ที่ประชาชน

ถ้าย้อนดูผลงานของอดีตผู้ว่าฯ ทั่วกรุงเทพมหานครที่คลองมีความยาว  2,700 กม. และท่อระบาย 6,400 กม. แต่ข้อมูลสำนักการระบายน้ำในปี 2564 ระบุว่ามีการล้างท่อระบายน้ำเกือบทั้งปี เริ่มตั้งแต่ธันวาคม 2563 – พฤษภาคม 2564 แต่สามารถทำได้เพียง 493 กิโลเมตร หรือเพียง 7.51 % เท่านั้น โดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ 360 กิโลเมตร จ้างแรงงานชั่วคราว 70 คน ความยาว 61 กิโลเมตร และใช้รถดูดเลนของสำนักระบายน้ำ 8 คัน ความยาว 72 กิโลเมตร 

ในขณะที่การทุ่มงบประมาณมหาสารลงไปกับอุโมงค์ระบายน้ำที่ตอนนี้มีเพียงแค่ 20 กม. และใช้งบประมาณไปไม่รู้กี่พันล้านแล้ว



อุโมงค์ยักษ์บึงหนองบอน: จ่ายจบแล้วแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ?

สราวุธ อนันต์ชล ส.ก. เขตพระโขนง

โครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยวางระบบการระบายน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพตะวันออกไว้โดยมีอุโมงค์รับน้ำจากพื้นที่บึงหนองบอนระบายออกโดยการลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ถนนสุขุมวิท 101/1 และคลองบางอ้อ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทาง ยาว 9.40 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนได้ตั้งอาคารรับน้ำไว้ทั้งหมด 7 จุด 


ตามแผนโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 และจะเปิดใช้งานในเดือนมีนาคม 2565 และใช่ครับ จนถึงวันนี้ วันที่ 7 กรกฎาคม พื้นที่ก่อสร้างยังดูไม่เป็นรูปเป็นร่างกันอยู่เลย แต่เมื่อ กันยายน ปี 2564 มีการแถลงว่าโครงการนี้แล้วเสร็จไป 86% แต่จากสิ่งที่เห็นในพื้นที่ งานก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย ถ้ายังจำกันได้  “มีข่าวว่าทำโครงการอุโมงค์ยักษ์อยูา 4-5 ปี คืนถนนได้ 20 วัน แล้วถล่มอีกรอบ”

จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ จึงตั้งคำถามว่าถ้าหากเบิกจ่ายครบถ้วนแล้ว แต่งานยังไม่เสร็จแล้วจะเบิกจ่ายได้อย่างไร ? 



3 ป.-ปัญหาที่คนกรุงเทพต้องเผชิญ

ยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก. เขตทวีวัฒนา

เขตทวีวัฒนาเป็นตัวอย่างของพื้นที่ ที่ตอบรับการขยายตัวของเมือง ที่พี่น้องประชาชนมองหาโอกาสใหม่ ๆ ออกมาจากตัวเมืองชั้นในเพื่อค่าครองชีพที่ถูกลง เพื่อเริ่มชีวิตครอบครัวที่มั่นคง เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ โดยการขยายของตัวเมืองในลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นในทศวรรษนี้ แต่การจัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2566 นี้ไม่ได้ตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองได้อย่างมีคุณภาพ ชาวทวีวัฒนาคาดหวังให้งบประมาณ 2566 นี้ตอบสนองพวกเขา ใน 3 เรื่อง 3 ป.

1. “ป. ปัญหาถนนที่ชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ”

ทวีวัฒนาเป็นพื้นที่ที่ไม่มีขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ผ่านให้บริการประชาชนทำให้ประชาชนจึงต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวดูแลตัวเอง แต่ถนนหนทางกลับไม่มีความสมบูรณ์ มีงานก่อสร้างในพื้นที่ในหลาย ๆ จุด ทำให้กินผิวถนนเข้าไปบ้าง ด้วยปัจจัยนี้ทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพสำหรับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น 

2. “ป. ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่”

ทวีวัฒนามีต้นไม้มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ตอนกลางวันดูสวยงามสีเขียวร่มรื่นแต่เมื่อตกดึก ถ้าไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ ความร่มรื่นนั้นก็สร้างพื้นที่เปลี่ยวอันตรายมืดในหลาย ๆ จุดจนเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออาชญากรรมและการปล้นจี้ชิงทรัพย์ ตามงบประมาณที่เราได้รับจัดสรรนั้นเป็นเพียงแค่งบประมาณเชิงรับ เป็นงบอำนวยการ งบประมาณแบบปีก่อน ๆ ดังนั้นจึงไม่ตอบโจทย์สำหรับพื้นที่ที่เสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ เช่นนี้

3. “ป. ปัญหาลอกท่อลอกคลอง” 

ทวีวัฒนามีลักษณะพื้นที่ทางกายภาพที่มีคลองจำนวนมาก อย่างเช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองควาย คลองบางเชือกหนัง คลองบางคูเวียง คลองบางไผ่ และคลองบางไทร การมีคลองจำนวนมากเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากการรับมือการดูแลการเอาใจใส่ คลองที่สวยใสจะกลายเป็นน้ำคลำที่สร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมา อย่างเช่น โรคไข่เลือดมากในบริเวณชุมชนติดคลอง หรือมลภาวะทางกลิ่น ดังนั้นนอกจากงบประมาณในการลอกท่อลอกคลองที่เพียงพอแล้ว เรายังต้องวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบอีกด้วย 



ค้านโครงการ “สะพานเกียกกาย 2” ปกปิดข้อมูล ไม่ทำ EIA กระทบวิถีชีวิตประชาชน

พีรพล กนกวลัย ส.ก. เขตพญาไท

โครงการ “สะพานเกียกกาย 2” 13,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบางพลัด ที่มีการคัดค้านจากประชาชน จนฟ้องร้องเป็นคดีไปถึงศาลปกครอง ซึ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ก่อสร้างไปแล้ว แต่ทว่าภายหลังกลับมีการโยกงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทในส่วนนี้ มาสร้างสะพานดังกล่าวโดยเร่งด่วนแทน

โครงการนี้มีปัญหาอย่างไร?

1. มีที่มาจากแผนแม่บท ซึ่งพิจารณาจากสภาพการณ์ในปี 2556 แต่ปัจจุบันสภาพการจราจรได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงการพยายามผลักดันโครงการดังกล่าวในปัจจุบัน กลับจะเป็นการสร้างผลกระทบให้กับการจราจร ทัศนียภาพของรัฐสภา และผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในด้านมลภาวะทางอากาศและเสียง มากกว่าที่จะเป็นการคลี่คลายปัญหาการจราจร

2. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ นำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินประชาชน โดยเส้นทางเดิมที่จะสร้างสะพานตัดคคร่อมถนนทหารซึ่งเป็นที่ดินของกองทัพ แต่ทว่าในเส้นทางใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางก่อสร้างให้ขนานไปกับคลองบางซื่อแทน จนกลายเป็นการก่อสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นบ้านเรือนประชาชน

3. โครงการนี้ มีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการและการเวนคืนตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ในท้ายที่สุดหน่วยงานรัฐกลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลใดๆ โดยอ้างว่า “เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย” นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีประกาศยกเว้นผังเมืองและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนด้วย

“ขอให้จับตาดูโครงการนี้ให้ดี เพราะเป็นโครงการที่มีปัญหาต่อพี่น้องประชาชน อยู่ดีๆ จากเส้นทางตรงที่ผ่านพื้นที่ทหาร กลับมีการเลี้ยวไปหาบ้านเรือนประชาชนแทน”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า