หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอมาโดยทั้งคณะรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ผ่านการรับหลักการในวาระแรกโดยสภาผู้แทนราษฏรฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกฉบับ แต่การขับเคลื่อนเพื่อให้สิทธิการสมรสแก่ทุกบุคคลโดยไม่แบ่งแยกเพศ ยังคงดำเนินต่อไปทั้งในสภาและนอกสภา
โดยในเมื่อวานนี้ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนที่สำคัญ โดยมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท ชทิฟทุงก์ (FES) และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ พร้อมกับวงพูดคุยในหัวข้อ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต” โดยมี ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย
ณัฐวุฒิระบุว่าในส่วนของการขับเคลื่อนผ่านสภาขณะนี้ ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ว่าในที่สุดแล้ว อาจจะมีการผ่านแค่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นำเสนอขึ้นมาจากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอันจำกัด ไม่เหมือนกับการสมรส
ซึ่งณัฐวุฒิได้ย้ำอีกครั้งในเวทีนี้ ว่า “เรามาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับได้อีกแล้ว”
ณัฐวุฒิเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว หลังจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ริเริ่มกระบวนการเสนอให้มีการรับรองสิทธิของพวกเขาในการก่อตั้งครอบครัว กระบวนการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงได้เริ่มต้นขึ้น ณ จุดนั้น ร่างกฎหมายนี้คือร่างที่หากเทียบในมาตรฐานปัจจุบัน ถือว่ามีความประนีประนอมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะแบ่งแยกผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาแล้ว ยังให้สิทธิน้อยกว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตในปัจจุบันเสียอีก
แต่ด้วยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับความตื่นรู้ของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ได้ทำให้สังคมทั้งสังคม ค่อยๆ เคลื่อนตัวมาสู่มติที่แทบจะเป็นเอกฉันท์ในวันนี้ ว่าถึงเวลาแล้วที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะต้องได้รับสิทธิการสมรสโดยไม่เลือกปฏิบัติเสียที
ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังการเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมโดยพรรคก้าวไกล เมื่อร่างดังกล่าวถูกนำขึ้นสู่หน้ารับฟังความคิดเห็นของเว็บไซต์รัฐสภา ปรากฏว่ามีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ เห็นด้วยกับการสมรสเท่าเทียมอย่างล้นหลาม
การจัดพาเหรดไพรด์ที่เกิดขึ้นทุกภาคทั่วประเทศเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสังคม ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าวันนี้ เราได้เดินทางมาถึงจุดที่ไกลมากแล้วจากวันวาน
คำถามคือ ในเมื่อสังคมแทบจะทั้งสังคมมีทิศทางที่เป็นเอกฉันท์เช่นนี้แล้ว ฝ่ายการเมืองจะว่าอย่างไรต่อ? เป็นคำถามที่ถูกโยนย้อนกลับมาที่สภาวันนี้ ที่กำลังมีการประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ
สำหรับณัฐวุฒิและพรรคก้าวไกล แน่นอนว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการให้สิทธิการก่อร่างสร้างครอบครัว แก่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียว
เพราะทั้ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต สามารถบังคับใช้ด้วยกันได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนโดยไม่มีการจำกัดเพศ นี่คือระบบที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศ เพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน ว่าอยากจะสมรส (marriage) หรืออยากจะเป็นคู่ชีวิต (partnership)
แต่ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียมหรือคู่ชีวิต หลักการที่สำคัญที่จะต้องมีการบังคับใช้จริงๆ คือการให้สิทธิแก่ “บุคคล” ไม่ใช่การให้สิทธิแก่ “เพศ” แบบแบ่งแยก ซึ่งข่าวดีก็คือเมื่อวานนี้คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการข้อนี้ไปแล้ว
ทีนี้ จึงเหลือแค่การจับตาดูเมื่อทุกร่างผ่านเข้าไปสู่วาระที่สามแล้ว สภาใหญ่จะมีการบิดผันไม่ยอมรับหลักการที่สำคัญนี้หรือไม่ และที่สำคัญ จะปัดตกร่างฉบับใดฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะร่างสมรสเท่าเทียมหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมอันใดหลงเหลืออยู่แล้ว ในการปฏิเสธร่างใดร่างหนึ่งหรือทั้งสองร่าง
ในช่วงท้ายของการเสวนา ณัฐวุฒิได้ให้ข้อคิดฝากถึงฝ่ายการเมืองทุกส่วนได้ขบคิดตาม ว่าในที่สุดแล้ว นักการเมืองที่ฟังเสียงของประชาชนเท่านั้น ที่มีแนวโน้มที่จะได้กลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง
พร้อมคำถามสำคัญ ที่ว่า “ท่านจะฟังเสียงของหัวใจและความเชื่อของตัวเอง หรือจะทำตามมติพรรคที่ขัดต่อความต้องการของประชาชน”
แปลในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ท่านจะยังคงยืนหยัดกับประชาชนในวาระที่สาม เหมือนที่ท่านได้ทำมาในวาระแรกหรือไม่
นี่คือเรื่องที่เราต้องจับตามองกันต่อไปในอนาคต เมื่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เดินทางมาถึงในวาระที่สาม ไม่น่าจะเกินเดือนธันวาคมปีนี้