4 ข้อเสนอปรับปรุงสิทธิมนุษยชนไทย : สิทธิชุมชนและที่ดิน ชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ ชายแดนไทย-เมียนมา
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอแนะความเห็น 4 ข้อ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างการพิจารณาเพื่อรับทราบรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2564 ดังนี้
📌 สิทธิชุมชนและที่ดิน
ขณะนี้มีคดีแห้งจำนวนมาก หมายถึงคดีที่ไม่มีการกระทำความผิด คนจับก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของใคร แต่เป็นคดีคาไว้ ถ้าไม่คลี่คลายความขัดแย้งเรื่องที่ทำกิน บันไดขั้นที่หนึ่งของการทำมาหากินเป็นไปไม่ได้ และจะซ้ำรอยคดีของบิลลี่ แก่งกระจาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่าจำนวนมาก ซึ่งไปทับซ้อนในพื้นที่ที่ประชาชนทำเกษตร จึงมีความขัดแย้งกันและไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของพี่น้องประชาชน
📌 ชาติพันธุ์
สถานการณ์ตอนนี้ พ.ร.บ.ชนเผ่า ที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองได้บรรจุสภาแล้ว แต่ยังมีร่างฯ อื่นค้างอยู่ใน ครม. ต้องรอให้นายกฯ ตีความเพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน รวมถึงร่างของ ครม. ด้วย ควรเร่งให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์หลายกรณีนำไปสู่การแก้ไข เช่น กรณีที่ระนอง ชาวมอแกน ถูกบังคับใช้แรงงานไปอยู่ในเรือโดยไม่ได้รับค่าแรง เป็นสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่ไร้ทางสู้ และเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค จึงต้องมีกลไกมาดูแลเพื่อให้สถานการณ์ยุติหรือเบาลง
📌 คนไร้รัฐ
สถานการณ์คนไร้รัฐ ซึ่งทำให้เด็กๆทุกคนที่ควรต้องได้รับการศึกษาไม่สามารถทำได้ เด็กเหล่านี้ถูกเรียกว่าเด็กตัว G การปฏิบัติต่อเด็กตัว G มีปัญหาในแง่ของใบรับรองสถานะ เด็กที่ไม่ปรากฏสถานะ แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติอะไร ต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง กรณีเช่นนี้คณะกรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ต้องประสานงานอย่างบูรณาการ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน
📌 ผู้หนีตายจากสงครามในเมียนมา
พวกเขามีแต่เด็กสตรี คนเจ็บ ผู้สูงอายุ คนไม่มีทางสู้ ทั้งนั้น จึงอยากเห็นบทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อกรณีนี้ และต้องการเห็นท่าทีที่ชัดเจนจากทุกฝ่าย หลังมีเครื่องบินรบ มิก-29 จากกองทัพเมียนมาถล่มหมู่บ้านกะเหรี่ยงและรุกล้ำน่านฟ้าไทย ทำให้มีผู้อพยพหนีตายเข้าพื้นที่ไทย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีแนวทางเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน