ท่านประธานที่เคารพ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ผมขออภิปรายรัฐมนตรี ที่ทรงอำนาจ และบารมีมากที่สุดในรัฐบาลชุดรัฐประหารต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดนี้ โดยรัฐมนตรีท่านนี้มีอำนาจ บารมีมากกว่าตำแหน่งที่ตนเองดำรงอยู่ ทุกหน่วยงานในประเทศนี้ ไม่ว่ากระทรวงใด องค์กรอิสระ หรืออื่นๆ ยังไม่เคยปรากฏที่จะขัดใจ หรือตรวจสอบรัฐมนตรีท่านนี้ให้กระทบกระเทือนได้เลย รัฐมนตรีท่านนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเคารพนับถือในฐานะพี่ใหญ่ แห่ง 3 ป รัฐมนตรีท่านนี้ก็คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
โดยกล่าวหาว่าท่านจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลับทำตนเป็นแบบอย่างของการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผมขอกล่าวหาว่าท่านแทรกแซง ป.ป.ช. และกรมศุลกากร ให้ช่วยเหลือท่านให้พ้นจากคดี จึงไม่สมควรให้ท่านดำรงตำแน่งในรัฐบาลอีกต่อไป
เรื่องที่ผมอภิปรายในครั้งนี้ เกิดจากการที่ประชาชนทั้งประเทศ คลางแคลงใจการตรวจสอบ ดำเนินคดีที่เกี่ยวกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ถึงปี 2563 การตรวจสอบเรื่องนี้ จึงคาบเกี่ยว ถึง 2 รัฐบาลจึงสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในรัฐบาลชุดนี้ได้
เรื่องนี้คือ เรื่อง แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน ผมเชื่อว่าท่านประธานคงนึกได้ พี่น้องประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้าน ก็คงนึกได้และคงอยากรู้ความจริงว่านาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน ที พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่ ในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มา เป็นของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ ยืมเพื่อนมา จริงๆ
ประชาชนจำนวนมากทั้งประเทศ ยังแคลงใจ ไม่เชื่อ ว่าเป็นนาฬิกาเพื่อนที่ยืมมา เหมือนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงแก่ประชาชน และกรมศุลกากรได้ดำเนินการ
วันนี้ท่านประธานและพี่น้องประชาชนจะได้ทราบความจริงว่านาฬิกาหรู กว่า 20 เรือน ที่ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ สวมใส่ เหตุใดจึงเป็นนาฬิกาเพื่อนไปได้ และความจริงมันคืออะไร พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้อย่างไร
ก่อนอื่นผมขอเรียนต่อท่านประธานว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีพี่น้องประชาชนมาร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ที่ท่าน พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธ์ เตมียเวช เป็นประธานและผม เป็นกรรมาธิการอยู่ ขอให้ฟื้นการพิจารณากรณีการยืมนาฬิกาหรู ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเหตุผลสำคัญดังนี้ เนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติ เชื่อว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกาหรูจึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานรายงานทรัพย์สินอันเป็นเท็จ คำแถลงของ ป.ป.ช. ยังขาดความชัดเจนเช่นหลักฐานความเป็นเจ้าของนาฬิกาหรู ของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และหลักฐานการยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อนของเขา ขอให้คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ฟื้นการพิจารณากรณีนี้แทน ป.ป.ช. เพื่อรักษาศรัทธาของประชาชน
คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ศึกษาสอบข้อเท็จจริง ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่มากมาย ที่จะเปิดเผยต่อท่านประธานและพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาความ 2565 ผมได้ขอขออนุญาตที่ประชุม คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร นำข้อมูลจากการศึกษาสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ดังกล่าวมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติอนุญาตเรียบร้อยแล้วครับ
ความเป็นมาเรื่องนาฬิกาหรู
วันที่ 4 ธันวาคม 2560 วันนั้นเป็นวันที่ คณะรัฐมนตรี ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ จันทร์ โอชา ชุดที่ 1/5 ได้มาถ่ายรูปหน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ก็ได้มาร่วมถ่ายรูปกันพร้อมหน้า รวมถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น แต่บังเอิญระหว่างที่กำลังเตรียมถ่ายรูปอยู่นั้นแดดได้แยงตา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะแดดมันแยงตาเนี่ยแหละครับ นักข่าวถึงได้ภาพ พล.อ. ประวิตรยกมือขึ้นป้องหน้าป้องตา อวดแหวนเพชรเม็ดงามบนนิ้วนางข้างขวา คู่กับนาฬิกาหรูริชาร์ด มิลล์ เรือนละหลายล้านบาทบนข้อมือ
เรื่องนี้ก็กระตุกต่อมสงสัยของประชาชนหลาย ๆ คนว่า คนที่รับราชการมาตลอดทั้งชีวิตอย่าง พล.อ. ประวิตร เอาเงินจากไหนมาซื้อนาฬิกาหรูแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีคนไปเปิดบัญชีทรัพย์สินที่ พล.อ. ประวิตรยื่นต่อ ป.ป.ช. ทั้ง 4 ครั้ง คือเมื่อปี 2551 2554 2555 และ 2557 ก็ไม่พบว่ามีนาฬิกาหรูเรือนนี้อยู่ในบัญชี กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวว่า สรุปแล้ว พล.อ. ประวิตรเอานาฬิกามาจากไหน และแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่
หลังจากเป็นเรื่องราวอื้อฉาวได้ 3 วัน วันที่ 7 ธันวาคม 2560 ป.ป.ช. ก็ได้เรียก พล.อ. ประวิตรให้เข้ามาชี้แจง โดยมีกำหนดเวลาให้เข้ามาชี้แจงภายใน 30 วัน
วันที่ 16 มกราคม 2561 พล.อ. ประวิตรได้เข้ามาชี้แจงต่อ ป.ป.ช. จนเกิดวาทะ “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ขึ้นมา จากการที่ พล.อ. ประวิตรได้พูดว่า “แหวนที่ใส่นั้นเป็นของมารดา ส่วนนาฬิกายืมเพื่อนมาใส่ และเพื่อนที่ให้ยืมตายไปแล้ว”
จากคำพูดนี้ ก็ทำให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบรูปภาพนาฬิกาข้อมือที่ พล.อ. ประวิตรสวมใส่เวลาไปออกงานต่าง ๆ จนพบว่า พล.อ. ประวิตร ใส่นาฬิกาหรูหลายรุ่น หลายยี่ห้อ นับรวมแล้วได้ถึง 25 เรือน ท่านประธานอาจคิดว่า พล.อ. ประวิตรต้องมีเพื่อนเยอะมากเลยใช่หรือไม่
ปรากฏว่าไม่ใช่เพราะ พล.อ. ประวิตรแจ้งกับ ป.ป.ช. ว่า นาฬิกาทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ตามรูปถ่ายนั้น ยืมมาจากเพื่อนคนเดียว ชื่อว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หรือเสียชีวิตไปก่อนที่จะเกิดเรื่องถึง 10 เดือนเต็ม
เพื่อนตายไปแล้ว 10 เดือนยังอ้างว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมาได้ ไม่เอาไปคืนทายาทของเพื่อน เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลไหม เป็นเรื่องที่น่าสงสัยไหมครับ
แถมในบรรดานาฬิกาหรูต่าง ๆ ที่ปรากฏตามรูปข่าว ยังมีอยู่เรือนหนึ่ง เป็นนาฬิกาหรูยี่ห้อโรเล็กซ์ รุ่นยอร์ช มาสเตอร์ โฉมใหม่ ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 นี่เอง ถ้านาฬิกาเรือนนี้เป็นของเพื่อนจริง ๆ ก็แปลว่าเพื่อนของ พล.อ. ประวิตร เพิ่งซื้อนาฬิกามาได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนที่จะเสียชีวิต ไม่รู้ว่าทันได้ใส่เองกี่ครั้ง ก็ถูก พล.อ. ประวิตรยืมไปใส่เสียแล้ว
คำแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ นี้ สะเทือนไปถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ผลสำรวจของนิด้าโพลก็ชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า พล.อ. ประวิตรโกหก และเรื่องนี้น่าจะมีเอี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น จนมีการนำเรื่องนี้มาล้อเลียนกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในรายการตลก หรือขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์
คนทั้งประเทศนี้ ไม่มีใครเชื่อ พล.อ. ประวิตรว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมา คงมีแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เท่านั้นที่เชื่อ พล.อ. ประวิตร
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ป.ป.ช. ได้ออกหนังสือแถลงข่าว เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อมูลนาฬิกา 22 เรือน ให้กรมศุลกากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยเอกสาร มีสาระสำคัญคือ ป.ป.ช. เชื่อว่านาฬิกาทั้งหมดนั้น เป็นของนายปัฐวาท เพื่อนของ พล.อ.ประวิตรจริง และเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกาของเพื่อนมาจริง
ผมสรุปแบบง่าย ๆ ว่า ป.ป.ช. บอกว่า นาฬิกายืมเพื่อนมาจริง ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน พล.อ. ประวิตรไม่ผิด
พอผลออกมาค้านสายตาประชาชนแบบนี้ ใครจะทนอยู่เฉยได้ก็มีสื่อมวลชนเจ้าหนึ่ง คือ The Matter ได้ไปขอเอกสารผลสอบคดี และหลักฐานประกอบการสืบสวนทั้งหมดในคดีนี้จาก ป.ป.ช. เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยออกระเบียบว่า คดีใดที่ตีตกไปแล้วหรือไม่ไต่สวนต่อ ประชาชนทั่วไปสามารถขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ แต่พอมาเป็นคดีของ พล.อ. ประวิตร ป.ป.ช. กลับพยายามที่จะปกปิดข้อมูลด้วยสารพัดข้ออ้าง แต่สื่อมวลชนเจ้านี้ก็ยังไม่ยอมแพ้ โดยทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) แต่ก็ยังได้แค่กระดาษเปล่ากลับมา
ที่มาภาพ: ความหมายของ ‘กระดาษเปล่า’ ในผลสอบคดีนาฬิกายืมเพื่อน https://thematter.co/social/nacc-tranparency-general-rolex-case/78759
รายละเอียดการสอบสวน
หลังจากที่ พล.อ.ประวิตรได้เข้ามาให้การต่อ ป.ป.ช. แล้ว ว่านาฬิกาทั้งหมดท่านยืมเพื่อนมา ป.ป.ช. ก็เริ่มทำการสอบสวน โดยเบื้องต้น ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบภาพถ่ายแล้วพบว่า ภาพถ่ายนาฬิกา 25 เรือนนั้น มีซ้ำกันอยู่ 3 ภาพ จึงเหลือนาฬิกาให้ตรวจสอบอยู่ทั้งสิ้นเพียง 22 เรือน
หลังจากตรวจสอบภาพถ่ายเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ไปตามหานาฬิกาทั้ง 22 เรือนตามภาพถ่าย เมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่บ้านของนายปัฐวาทฯ ปรากฎว่าพบตัวนาฬิกา 19 เรือน พบเฉพาะใบรับรอง 1 เรือน รวม 20 เรือน อีก 2 เรือนที่เหลือ หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
ที่สำคัญคือ ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นนาฬิกาหรูเรือนใดที่ ป.ป.ช. หาไม่พบ เพราะถ้าเชื่อตามหน้าข่าวที่บอกว่า นาฬิกาที่ พล.อ. ประวิตรยกขึ้นมาบังแดดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เป็นนาฬิกายี่ห้อ ริชาร์ด มิลล์ รุ่น RM 029 แต่ในบัญชีที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงบันทึกไว้ กลับมีนาฬิการิชาร์ด มิลล์ แค่ 2 เรือน คือรุ่น RM 010 และ RM 011 เท่านั้น แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ผู้สื่อข่าวอาจจำรุ่นนาฬิกาผิด เนื่องจากนาฬิกาทั้งสองรุ่นก็มีหน้าตาใกล้เคียงกัน ผมจะพยายามเชื่อแบบนี้นะครับ ดีกว่าที่จะคิดอกุศลไปว่า ป.ป.ช. มีความพยายามสับเปลี่ยนนาฬิกา เพื่อช่วยเหลือ พล.อ. ประวิตร
อย่างที่ทราบกันดีว่านาฬิกาทุกเรือนไม่ว่าจะหรูหรือไม่ เขาจะมีซีเรียลนัมเบอร์หรือหมายเลขประจำเครื่องนาฬิกา ติดไว้ที่เครื่อง โดยเฉพาะนาฬิกาหรูมาก ๆ อย่างโรเล็กซ์ ริชารตมิล ปาเต็กฟิลลิป พวกนี้แน่นอนว่าต้องมีซีเรียลนัมเบอร์อยู่แล้ว ซึ่งซีเรียลนัมเบอร์ของนาฬิกาหรูพวกนี้ ถ้าตรวจสอบดี ๆ ก็จะทราบได้ว่า ผลิตที่ไหน ใครนำเข้ามา และใครเป็นคนซื้อ
พอเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. เจอนาฬิกาที่บ้านของนายปัฐวาท คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีมติในการประชุมครั้งที่ 29/2561 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ให้เอาซีเรียลนัมเบอร์ไปตรวจสอบกับผู้นำเข้านาฬิกาหรูในประเทศ 13 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัททีเอชจี พรีม่า ไทมส์ บริษัทคอร์ติน่า วอทช์ บริษัทคิงพาวเวอร์ และบริษัทผู้นำเข้านาฬิกาอื่น ๆ ก็พบว่าไม่มีซีเรียลนัมเบอร์นี้อยู่ในระบบ และไม่เจอว่า พล.อ. ประวิตร และนายปัฐวาท เคยเป็นลูกค้าของบริษัทเหล่านี้
นั่นหมายความว่า นาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือน ไม่ได้มาจากการนำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายตามปกติ แต่เป็นการนำเข้ามาโดยบุคคล ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราก็ทราบกันดีว่านาฬิกาหรูพวกนี้ บางทีเศรษฐีคนมีสตางค์ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็จะไปหาซื้อมาใส่ โดยไม่ได้ผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย
แต่ที่เศรษฐีหลาย ๆ คน อาจไม่รู้นะท่านประธาน คือถึงแม้ท่านจะไปซื้อนาฬิกาหรูที่ต่างประเทศมาใส่ ถ้านาฬิกาหรูของท่านมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท พอกลับเข้ามาในประเทศไทย ท่านก็มีหน้าที่ที่จะต้องสำแดงและชำระอากร พูดง่าย ๆ ก็คือต้องเสียภาษีนำเข้า
ดังนั้นสิ่งที่ ป.ป.ช. ทำ หลังจากที่ตรวจสอบซีเรียลนัมเบอร์กับบริษัทนำเข้านาฬิกาแล้วหาไม่เจอ ก็คือการส่งซีเรียลนัมเบอร์ของนาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือนเนี่ย ไปให้กับกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
ปรากฏว่ากรมศุลกากรแจ้งกลับมาที่ ป.ป.ช. ว่า ไม่มีข้อมูลของนาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือนอยู่ในระบบ และไม่มีข้อมูลการสำแดงนาฬิกาหรูของทั้ง พล.อ. ประวิตร และนายปัฐวาท
หมายความว่าอย่างไร หมายความว่านาฬิกาทั้ง 20 เรือนที่ พล.อ. ประวิตรอ้างว่ายืมเพื่อนมาใส่เนี่ย เป็นนาฬิกาหนีภาษี สรุปก็คือตอบไม่ได้ว่าสรุปแล้วนาฬิกาข้อมือหรูเหล่านี้ เป็นสมบัติของใครกันแน่
ทีนี้ ป.ป.ช. ก็เลยทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ของแบรนด์นาฬิกาหรู ไม่ว่าจะเป็นสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง ซึ่งก็แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคล การที่ ป.ป.ช. ทำหนังสือไปขอความร่วมมือเฉย ๆ ไม่มีทางได้ข้อมูลแน่
แต่ไม่ใช่ว่าทางต่างประเทศเขาจะปิดประตูไม่ยอมให้ข้อมูล จริง ๆ แล้วเขาพร้อมที่จะให้ แต่เราต้องทำให้ถูกวิธี อย่างประเทศสวิสเซอร์แลนด์นี่เขียนมาชัดเจนเลยว่า “ให้ใช้กระบวนการขอความร่วมมือทางอาญา” แต่ ป.ป.ช. ของไทยเราไม่ยอมทำ
ประเด็นการขอข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร การจะนำเอาข้อมูลจากต่างประเทศมาเข้าสู่สำนวน และถือเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ จะต้องทำการขอข้อมูลผ่านไปยังอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานกลาง โดยอาศัย พรบ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พศ.2535 หรือตามสนธิสัญญาที่มีต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในกระบวนการยุติธรรมใครๆ เขาก็รู้ ไม่ต้องใครที่ไหน คณะไต่สวนของ ป.ป.ช. เอง ก็ได้เสนอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาอย่างที่ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ระบุมา แต่เรื่องนี้มีการมาผลิกผัน
ทำไม ป.ป.ช. ถึงไม่ยอมทำตามกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญา ก็เพราะว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ให้ยุติคดีนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอีก ให้สรุปไปเลยว่า “เชื่อ” ว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของนายปัฐวาท และได้ให้ พล.อ. ประวิตรยืมจริง
เหตุผลของ ป.ป.ช.
เหตุผลที่ ป.ป.ช. “เชื่อ” นี่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ข้อ ตามหนังสือแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ของ ป.ป.ช. ซึ่งเหตุผลทั้ง
5 ข้อนี้ ล้วนแล้วแต่มีช่องโหว่ มีจุดน่าสงสัยอยู่เต็มไปหมด ผมจะขอนำเหตุผลทั้ง 5 ข้อของ ป.ป.ช. มาอภิปรายในวาระนี้ ว่ามีจุดบกพร่องน่าสงสัยอย่างไรบ้าง
ข้อที่ 1
ป.ป.ช. บอกว่า นาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท ได้สะสมไว้
ช่องโหว่ของเรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะอย่างที่เราก็รู้ ๆ กันว่า นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ พล.อ. ประวิตร ยังสวมใส่นาฬิกาหรู มาถ่ายรูป ครม. ประยุทธ์ 1/5 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 หลังจากที่เพื่อนตายไปแล้ว 10 เดือน อยู่เลย
แล้วกว่าที่ ป.ป.ช. จะไปตรวจบ้านของนายปัฐวาท ก็เป็นเวลาหลังจากที่เกิดเรื่องร่วม 2 เดือน เวลาตั้งขนาดนั้น กะอีแค่นาฬิกา 20 เรือน จะยักย้ายถ่ายเทไปที่ไหนก็ได้
อย่าว่าแต่ 2 เดือนเลย ผมขอเวลาแค่ 2 ชั่วโมง โทรไปบอกลูกน้องว่า เฮ้ย ช่วยย้ายนาฬิกา 20 เรือน ที่อยู่ในบ้านผม ไปเก็บไว้ที่บ้านเพื่อนหน่อย เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ผมยังทำได้ แล้วทำไมระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นอย่าง พล.อ. ประวิตร จะทำไม่ได้
แล้ว ป.ป.ช. เชื่อไปได้อย่างไร ว่านาฬิกาหรูเหล่านั้น อยู่ในบ้านของนายปัฐวาท และเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นนาฬิกาของนายปัฐวาท
ข้อที่ 2
ป.ป.ช. ให้เหตุผลว่า แม้ไม่ปรากฏเอกสารการซื้อขายว่านายปัฐวาท เป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน
กรณีนี้เป็นข้ออ้างที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อย่างยิ่ง
ผมขออธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของการครอบครองทรัพย์โดยให้เข้าใจง่าย สรุปแบบนี้ว่า ในทางกฎหมายเนี่ย ถ้าเราไม่รู้แน่ว่าทรัพย์สินชิ้นนั้น ๆ ไม่รู้ว่านาฬิกา แหวนเพชร หรือสร้อยคอ เนี่ย เป็นของใคร ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คนที่สวมใส่หรือยึดถือทรัพย์ชิ้นนั้นไว้นั่นแหละที่เป็นเจ้าของ
ผมถามว่า ป.ป.ช. มีหลักฐานอะไรหรือ ที่บอกว่านายปัฐวาทเคยใส่นาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือน มีรูปถ่ายนายปัฐวาทใส่นาฬิกาพวกนี้ไหม ไม่มี มีหลักฐานว่านายปัฐวาทซื้อ หรือนำเข้านาฬิกาเหล่านี้มาไหม ก็ไม่มี อีกทั้งนายปัฐวาทก็เสียชีวิตไปแล้ว สิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว จะยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนได้อย่างไร
ป.ป.ช. เพียงแต่มาเจอนาฬิกาทั้ง 20 เรือนที่บ้านของนายปัฐวาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่านาฬิกาพวกนี้มาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาทตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังนายปัฐวาทเสียชีวิต ป.ป.ช. ไม่รู้ ไม่มีหลักฐานใดเลย
แต่กลับกัน ป.ป.ช. มีภาพถ่ายจำนวนกว่า 20 ภาพ ว่า พล.อ. ประวิตรเคยสวมใส่นาฬิกาหรูเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่าย พล.อ. ประวิตร ที่สวมนาฬิกาหรูหลังจากที่เพื่อนตาย แล้วทำไม ป.ป.ช. ถึงไม่สันนิษฐานตามกฎหมายว่า พล.อ. ประวิตรยึดถือนาฬิกาไว้เพื่อตน แบบนี้ใช้ตรรกะอะไรในการตีความข้อกฎหมาย
ข้อ 3
นี่ยิ่งเลวร้ายหนัก เพราะจู่ ๆ ป.ป.ช. ก็มาสรุปว่า จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และได้ให้ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว
ผมถามว่า ป.ป.ช. มาสรุปง่าย ๆ แบบนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่เชื่อว่า พล.อ. ประวิตรยืมใช้ ที่จู่ ๆ ก็สรุปขึ้นมาเองอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
ทำไมถึงเชื่อว่า พล.อ. ประวิตร “ยืม” แค่เพราะว่าลูกสาวของนายปัฐวาท มาให้การกับ ป.ป.ช. ว่า นายปัฐวาทกับ พล.อ. ประวิตรเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล “ถ้านายปัฐวาทซื้อนาฬิกามาใหม่ก็จะให้ พล.อ. ประวิตรดูก่อน ถ้า พล.อ. ประวิตรชอบก็มักจะยืมไปสวมใส่และเปลี่ยนจากเรือนหนึ่งเป็นอีกเรือนหนึ่งเป็นประจำ” แค่ถ้อยคำไม่กี่ประโยคนี้ก็เชื่อแล้วเหรอว่ายืม เชื่อแล้วหรือครับว่าไม่ได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ท่านเชื่อคนง่ายเกินไปรึเปล่า ป.ป.ช.?
ข้อ 4
นี่ ป.ป.ช. ช่วยแก้ต่างให้ พล.อ. ประวิตร ในกรณีที่หานาฬิกาอีก 1 เรือนไม่พบว่า “เมื่อรับฟังว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ มาสวมใส่ในการออกงานต่างๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น จึงรับฟังได้ว่า พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ ได้มีการยืมนาฬิกาเรือนที่ยังตรวจสอบไม่พบมาสวมใส่”
ผมขอสรุปให้เป็นภาษาคนว่า ป.ป.ช. กำลังช่วยแก้ต่างให้ พล.อ. ประวิตร เพราะมีนาฬิกาอีก 1 เรือน ที่หาอย่างไรก็หาไม่พบ
ป.ป.ช. ก็เลยตีขลุมไปแบบไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ หานาฬิกาไม่เจอ 1 เรือน แต่หานาฬิกาเรือนอื่น ๆ อีก 20 กว่าเรือนเจอ ก็ถือซะว่าไอ้ 1 เรือนนั้น ก็คงจะยืมมาเหมือนกันนั่นแหละ ไม่เป็นไร ๆ
ผมถามว่า ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นหรือไม่ เช่น นายปัฐวาท เสียชีวิต มีการทำพินัยกรรมหรือไม่ เพราะถ้าทำพินัยกรรม นาฬิกาหรูราคาแพงจะต้องมีระบุในพินัยกรรม การจัดการมรดก จะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์มรดก ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบการขอจัดการมรดกหรือไม่ ว่ามี นาฬิกาหรู เป็นทรัพย์มรดกหรือเปล่า
ประเด็นนี้ ตัวกระผมและคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ได้สอบถามผู้แทนจาก ป.ป.ช. ที่มาชี้แจง หลายครั้ง หลายวาระ ว่าได้มีการขอบัญชีทรัพย์มรดกมาตรวจสอบหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบที่ไม่ตรงกับคำถามบ้าง หรือตอบว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้บ้าง คำตอบแบบนี้แปลว่า ป.ป.ช. ไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์มรดกของนายปัฐวาทฯ เลย ใช่หรือไม่
แสดงว่า ป.ป.ช. ฟังคำให้การของ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ เพียงอย่างเดียวและก็เชื่อตามนั้นเลยว่ายืมเพื่อนมา แล้วแบบนี้รึเปล่า แล้วประชาชนจะเชื่อว่า ป.ป.ช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วได้อย่างไร
ข้อ 5
ป.ป.ช. แถลงว่า “ไม่ปรากฏว่า นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และบริษัทคอมลิงค์ เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด”
ผมอ่านแล้วก็สงสัยว่า เอ๊ะ พล.อ. ประวิตรกับนายปัฐวาทนี่เป็นเพื่อนกันแบบไหน เป็นเพื่อนกันแบบไจแอนท์กับซึเนะโอะในการ์ตูนโดราเอม่อนรึเปล่า ที่ไจแอนท์เอาแต่ยืมของเล่นซึเนะโอะอย่างเดียว โดยไม่เคยให้อะไรซึเนะโอะเลย แถมยืมแล้วยืมเลย ขนาดเพื่อนตายแล้วก็ยังไม่คืนอีกด้วย
มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วถูกไหม มีที่ไหน คบหาเป็นเพื่อนกันมา 60 ปี โดยที่ พล.อ. ประวิตรไม่เคยให้อะไรเพื่อนเลย
และที่ผมพูดว่า “ให้” เนี่ย มันก็ต้องไม่ใช่การ “ให้” ธรรมดา เพราะ พล.อ. ประวิตรไม่ใช่คนธรรมดา พล.อ. ประวิตรเป็น 1 ใน 3 ป. แห่ง คสช. มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แม้กระทั่ง พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังยกให้เป็นพี่ใหญ่
แล้ว ป.ป.ช. จะมาตรวจสอบแค่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมได้อย่างไร ป.ป.ช. ควรที่จะต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนทุก กระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่หรือว่า บริษัท คอม-ลิงค์ ของนายปัฐวาท เคยทำสัญญาอะไรกับหน่วยงานรัฐไว้บ้าง
และไม่ใช่แค่ดูสัญญาของบริษัทคอม-ลิงค์ อย่างเดียว ป.ป.ช. ยังต้องไปดูว่า บริษัทคอม-ลิงค์ ของนายปัฐวาท ได้ไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่รับงานหรือรับสัมปทานรัฐหรือไม่ แต่ ป.ป.ช. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช. ได้ทำส่งเหล่านี้
ผมลองค้นหาในกูเกิ้ล ดูทีเดียวก็เจอแล้วว่าบริษัทคอม-ลิงค์ ของนายปัฐวาท ไปถือหุ้นบริษัทโรงไฟฟ้า อีเทอนอล เอนเนอยี่ ตั้ง 20 % เพิ่งจะขายหุ้นตัวนี้ออกไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง บริษัทอีเทอนอล เอนเนอยี่ เป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากภาครัฐ เป็นบริษัทในเครือข่ายป่ารอยต่อของ พล.อ. ประวิตร ที่เพื่อนสมาชิกของผมรังสิมันต์ โรม ได้เคยอภิปรายเอาไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ป.ป.ช. จะไม่รู้เลยเหรอครับ
ด้วยเหตุผลทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 สรุปว่า “ยังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้น” หรือคือสรุปว่า พล.อ. ประวิตรไม่ผิด
“จะสรุปง่าย ๆ แบบนี้ได้อย่างไร เพราะ ป.ป.ช. ยังไม่ได้แสวงหาหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าของนาฬิกาจากผู้ผลิตในต่างประเทศเลย”
สิ่งที่ ป.ป.ช. ทำ ก็แค่ส่งหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ไปถามสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง ว่ารู้ไหมว่าใครซื้อนาฬิกาข้อมือที่มีซีเรียลนัมเบอร์พวกนี้ ถามไปแบบนี้ ใครเขาจะตอบ เพราะของแบบนี้มันเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เป็นความลับของลูกค้า
ถ้า ป.ป.ช. ตั้งใจที่จะสืบหาความจริงจนสิ้นกระบวนความจริง ๆ ก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับคดีทางอาญา
นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ตรวจสอบเชิงลึก ตามระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชี พ.ศ.2561 ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลการใช้บัตรเครดิต ของ พล.อ. ประวิตร และของนายปัฐวาทเลย ว่าได้ไปรูดซื้อนาฬิกากันที่ไหนอย่างไรหรือไม่ แบบนี้ถือว่า ป.ป.ช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ป.ป.ช. รู้กฎหมาย รู้ระเบียบ รู้ขั้นตอนเหล่านี้ดีอยู่แล้ว อันนี้เป็นหน้าที่ท่าน จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ที่ไม่ทำ เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะจำเลยคือ พล.อ. ประวิตร พี่ใหญ่แห่ง คสช. ที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน หรือเปล่า
ตอนนี้ท่านประธานและพี่น้องประชาชน ที่ฟังอยู่ทางบ้าน ก็คงจะนึกตามไปว่า ป.ป.ช. เกี่ยวพันกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างไร พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอำนาจหรือบุญคุณ อะไรเหรอ การสอบสวนคดีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน ของ ป.ป.ช. จึงมีอะไรที่แปลกๆ ดังที่ได้อภิปรายไปแล้วข้างต้น เรามาหาคำตอบกัน
ที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้.
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการรัฐประหารของ คสช นำโดย 3 ป พล.อ. ประยุทธ พล.อ. ประวิตร และ พล.อ. อนุพงศ์ มีการตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แทนสภาผู้แทนราษฎร จากการเลือกตั้งประชาชน หลังจาก มีรัฐธรรมนูน 2560 ก็มีการตั้งวุฒิสภา ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากประชาชนแต่แต่งตั้งจาก คสช โดย 2 สภานี้แต่ละช่วงเวลา มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ รวมถึง ป.ป.ช. ชุดนี้ด้วย
มีการใช้อำนาจ คณะรัฐประหาร เข้าไปแทรกแทรงคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช หลายฉบับ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 กำหนดให้ประธาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ซึ่ง ประธาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) แต่งตั้งจาก คสช รองนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว ก็คือ นายวิษณุ เครืองาม ทำให้สัดส่วนคณะกรรมการคัดสรร คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสัดส่วน คนที่ใกล้ชิด คสช เป็นเสียงข้างมาก ที่จะกำหนดตัวบุคคล ให้ใคร ไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้อย่างเด็ดขาด แล้วมาอนุมัติโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวุฒิสภา ในแต่ละช่วงซึ่งทั้งสองสภานั้น แต่งตั้งโดย คสช.
เรื่องเหล่านี้ เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าคณะรัฐประหาร คสช นั้น จัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีการสืบทอดอำนาจตนเอง วางโครงข่าย คนของตนเองในองค์กรอิสระทั้งหมด
ผมขอไม่ลงรายละเอียดว่าสรรหาได้ใครมาบ้าง แต่มีอยู่หนึ่งคน ซึ่งเป็นคนสำคัญในเรื่องนี้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย คือ พลตำรวจเอก วัชร พล ประสารราชกิจ ที่ต่อมาก็ได้เป็นประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2558 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน
พลตำรวจเอกวัชร พลน่าสนใจอย่างไร นอกจากที่คนผู้นี้จะเคยเป็น สนช. ที่ คสช. แต่งตั้งมาเองกับมือแล้ว ยังเคยเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณอีกด้วย
แม้กระทั่งตัวของ พลตำรวจเอกวัชร พลเอง พอเกิดกรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ขึ้น ยังต้องออกมายอมรับว่าตัวเองมีส่วนได้เสีย มีบุญคุณเก่าก่อนอยู่กับ พล.อ. ประวิตร จนต้องยอมถอนตัวออกจากคณะกรรมการสอบสวน
แต่ก็แน่นอนว่า ถึงแม้จะถอนตัวออกจากการสอบสวน แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ จะเรียกว่าไม่มีอิทธิ พลเกี่ยวข้องกับการสอบสวนเลย ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก นี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลืออยู่ในการสอบสวนนั้น ก็เป็นคนที่ผ่านกระบนการ คัดสรร ที่ คสช. ตั้งมากับมือตามที่ผมกล่าวข้างต้นทั้งนั้น แล้วจะไม่ให้มีข้อกังขาถึงความตรงไปตรงมาในการสอบสวนได้อย่างไร
ผมจึงถามไปยัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ท่านร่วมยึดอำนาจ วางกติกา วางคน เพื่อปกป้อง ตัวเอง ปกป้องอำนาจ เพื่อสืบทอดอำนาจ ท่านทำลายกระบวนการตรวจสอบ ทุจริต ที่ดีของประเทศนี้ย่อยยับ
เมื่อเป็นแบบนี้ท่านประธานและพี่น้องประชาชน ที่ดูอยู่ทางบ้าน หายสงสัยหรือยัง ว่า พล.อ. ประวิตร เกี่ยวข้องอะไร กับคณะกรรมการป.ป.ช. และทำไม คดีแหวนแม่นาฬิกา เพื่อน จึงมีอะไร แปลก ๆ กว่าคดีทั่วไป
การทำคดีของ ป.ป.ช. ในอดีต
เราลองย้อนกลับไปดูกรณีในอดีต เป็นเรื่องสมัย ป.ป.ช. ชุดก่อน ท่านประธานจำอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ได้ไหม
กรณีของนายสุพจน์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่านายสุพจน์นั้นร่ำรวยผิดปกติ โดยมีรถเจ้าปัญหา คือรถโฟล์กสวาเก้นคันหนึ่ง มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท ที่นายสุพจน์ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน
นายสุพจน์ก็พยายามต่อสู้แก้ต่างว่า รถโฟล์กสวาเก้นคันนี้เนี่ย เป็นรถที่ยืมคนอื่นมา แต่ ป.ป.ช. ชุดนั้น “ไม่เชื่อ” ว่ารถคันนั้นไม่ใช่ของนายสุพจน์ ทั้ง ๆ ที่ชื่อในเล่มทะเบียนรถคันนั้น ก็เป็นของบุคคลอื่น และนายสุพจน์ก็คืนรถโฟล์กสวาเก้นคันนั้นไปแล้วด้วย แต่ ป.ป.ช. ก็ยังไม่เชื่อ โดยบอกว่า ถึงชื่อในทะเบียนรถจะเป็นชื่อผู้อื่น แต่รถเป็นทรัพย์ของนายสุพจน์ เพราะฉะนั้นนายสุพจน์ก็ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สิน
นายสุพจน์ ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 เดือนจากกรณีร่ำรวยผิดปกตินี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 แค่ 2 เดือน ก่อนที่ ป.ป.ช. จะตัดสินว่า พล.อ. ประวิตรไม่ผิด จากกรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน”
คดีที่มีเนื้อหาแบบเดียวกันเช่นนี้ แต่คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ชุดที่ตั้งมาในยุค คสช. มีอำนาจ กลับต่างกันราวฟ้ากับเหว
ป.ป.ช. ไม่แม้แต่จะสืบหาเจ้าของนาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือน ให้ครบถ้วนกระบวนความ ไม่ดำเนินกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญากับต่างประเทศ แต่กลับตีขลุม ยุติการตรวจสอบ เชื่อง่าย ๆ ว่านาฬิกาเป็นของเพื่อน พล.อ. ประวิตร
ผมต่อให้นาฬิกาเป็นของเพื่อน พล.อ. ประวิตรจริง ๆ เลยนะ ต่อให้ พล.อ. ประวิตรจะยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ ผมถามว่าแล้วยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ จนเพื่อนตายไป 10 เดือนแล้วก็ยังไม่แจ้งเบัญชีทรัพย์สินเนี่ยไม่ผิดหรือ การที่รัฐมนตรียืมนาฬิกาเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจมาใส่นี่ไม่ส่อทุจริตหรือ นี่เราจะมี ป.ป.ช. ไปทำไม ถ้าไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การดำเนินการของศุลกากร
ถึง ป.ป.ช. จะมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ. ประวิตรไม่ผิดไปแล้ว แต่มหากาพย์เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะนอกเหนือจาก ป.ป.ช. แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานรัฐอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่เข้ามามีเอี่ยวกับเรื่องฉาวในครั้งนี้ด้วย หน่วยงานที่ว่า ก็คือกรมศุลกากร
หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องนาฬิกาทั้ง 20 เรือน มาให้กับศุลกากร กรมศุลกากร ได้กระทำ หรือไม่กระทำ มีเรื่องที่น่าสนใจ อยู่ 4 ประการคือ
ประการที่ 1 ตรวจสอบความเป็นเจ้าของนาฬิกาและการนำเข้าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่
จากการตรวจสอบปรากฏว่า นาฬิกาทั้ง 20 เรือน นำเข้ามาโดย หนีภาษี ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาเมื่อไหร่
วันที่ 27 กันยายน 2562 ลูกสาวของนายปัฐวาท ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าพบ เพื่อบันทึกข้อเท็จยืนยันว่า นาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือน เป็นของนายปัฐวาท ตนเป็นทายาท เหมือนกับที่ ป.ป.ช. สรุปมาแล้ว ผมไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานที่ลูกสาวของนายปัฐวาทได้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมาแสดงในที่ประชุมแห่งนี้ได้ แต่ผมสามารถอธิบายได้ดังนี้
คำถามคำตอบที่กรมศุลกากร ถาม ที่สำคัญ ก็เลยกลายเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ เช่น
“ทราบหรือไม่ว่านายปัฐวาทนำนาฬิกาเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร”, “ทราบหรือไม่ว่านายปัฐวาทได้นาฬิกามาครอบครองเมื่อใด ด้วยวิธีการใด”, “มีข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือทั้ง 20 เรือน อีกหรือไม่”
ลูกสาวนายปัฐวาท ตอบแต่ละคำถามว่า “ไม่ทราบ” หรือ “ไม่มี” เท่านี้ก็เป็นอันจบกระบวนความในการชี้แจง จากการตรวจสอบ เชื่อว่านายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาจริง นำเข้าโดยหนีภาษี
ประการที่ 2 คดีนำเข้านาฬิกาหรู 20 เรือน จึงเป็นคดีอาญา เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ซึ่งสามารถตรวจสอบ ความเป็นเจ้าของ ตาม พรบ. ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญา 2535 จากบริษัทผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ในต่างประเทศได้ ว่านายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาจริงหรือไม่ แต่กรมศุลกากรกลับไม่ทำ เชื่อง่าย เหมือน ป.ป.ช. รึเปล่า
ประการที่ 3 กรมศุลกากรไม่ได้ยึดของกลาง นาฬิกาหรู ที่เป็นของหนีภาษีไว้ ทั้ง 20 เรือนไว้ แต่ให้ลูกสาวนายปัฐวาท ส่งภาพถ่ายนาฬิกา ทั้ง 20 เรือนไว้แทน เหตุผลคือ ลูกสาวนายปัฐวาทอ้างว่านาฬิกาดังกล่าว เป็นของบิดา มีผลต่อสภาพจิตใจ จึงขอเก็บไว้ กรมศุลกากรก็ยอมเก็บภาพไว้แทนนาฬิกาจริงๆไว้ แต่ให้วางเงินประกัน เรื่องมีผลทางจิตใจ หากย้อนไปเมื่อนายปัฐวาท เสียชีวิต 4 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อมาอีก 10 เดือน วันที่ 4 ธันวาคม 2560 พล.อ. ประวิตร ยังเอานาฬิกา มาถ่ายรูปหน้าทำเนียบ ไม่ยอมคืน ตรงนี้ไม่ก่อผลสะเทือนทางด้านจิตใจ เลยเหรอกรมศุลกากรทำไม่ใช้เหตุผลแบบนี้ ในคดีนี้ละครับ หรือเพราะต้องการช่วยคดีของ พล.อ. ประวิตร
เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ กรมศุลกากรเป็นหน่วยราชการ ไม่มีที่เก็บของกลางที่เป็นนาฬิกาหรู ราคาแพงได้ อาจทำให้ของกลางเสียหายได้ เป็นไปได้หรือที่กรมศุลกากรไม่มีที่เก็บ กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่ยึดของหนีภาษีเป็นหลัก ไม่ใช่หน่วยงานทั่วไป
ผมมาจับโป๊ะแตกได้ คือ เมือเดือน มิถุนายน 2565 กรมศุลกากร มีการประกาศขายทอดตลาด นาฬิกาหรู ยี่ห้อ JACOB แอนด์ CO รุ่น BILLIONIR II เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ราคาเริ่มต้น 37 ล้านบาท โดยกำหนดให้เข้าชมของกลางได้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ตามประกาศในสไลด์
อ้าว! ไหนว่า ไม่มีที่เก็บนาฬิกาหรูราคาแพง คดี พล.อ. ประวิตร แต่ทำไม คดีนี้ราคานาฬิกาเรือนเดียว 37 ล้าน จึงมีที่เก็บละครับ เปิดให้ดูของกลางที่จะประมูลได้ล่วงหน้าได้ด้วยละครับ ทำไมมาตรฐานต่างกันแบบนี้ละครับ หรือเพราะว่าคดีนั้นไม่ใช่คดีเกี่ยวกับ พล.อ. ประวิตร จึงต้องยึดนาฬิกาไว้ครับ
ประการที่ 4 กรมศุลกากรรีบขายคืน นาฬิกาทั้ง 20 เรือน คืนให้ลูกสาวนายปัฐวาท เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ในราคาต่ำกว่า ราคาท้องตลาดกว่าครึ่ง โดยไม่ประมูลขายทอดตลาดเหมือนคดีอื่นในราคา 19,979,523.96 ล้านบาท โดยขายในราคา ของมือสอง ไม่ทราบว่า คิดกันได้อย่างไร นาฬิกาหรู โดยปกติ เป็นนาฬิกาที่เป็นของสะสม ยิ่งเก่ายิ่งมีราคาแพง แต่นี่ไปตีราคา เหมือน เสื้อผ้า พัดลม ตู้เย็น ถ้าเป็น มือ สองราคายิ่งตก
ทำไมถึงต้องให้ราคาต่ำ ก็เพราะว่าที่แท้จริงแล้วนาฬิกาไม่ใช่ของนายปัฐวาท แต่เป็นของ พล.อ. ประวิตร แต่ พล.อ. ประวิตร ต้องการซื้อนาฬิกาตัวเองคืน ในราคาต่ำที่สุดใช่ไหม
ท่าน พล.อ. ประวิตร ท่านใช้อำนาจล้นฟ้าของท่านไปแทรกแซงกรมศุลกากร ให้ทำแบบนี้เพื่อประโยชน์ของท่านใช่ไหมครับ และท่านก็ใช้อำนาจแทรกแซง ป.ป.ช. เพื่อประโยชน์ของของท่าน ที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต่อ ป.ป.ช. นาฬิกาทั้ง 20 เรือน ส่งเรื่องต่อมายัง กรมศุลกากร และฟอกขาวซื้อคืน นาฬิกาทั้งหมด ในราคา เพียง 19,979,523.96 ล้านบาท โดยท่านยังรักษาอำนาจล้นฟ้า บารมีของท่านไว้ได้ เงินเพียง 19,979,523.96 ล้านบาทถือว่าน้อยนิด เมื่อเทียบกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่ทรงอำนาจที่สุดของท่าน
เปิดซีเรียลนัมเบอร์
ผมถามจริง ๆ ถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่านาฬิกาหรู ทั้ง 20 เรือน เป็นของท่านใช่ไหม ตลอดเวลานาฬิกา ทั้ง 20 เรือนก็อยู่กับท่านใช่ไหม ท่านถึงไม่ยอมให้กรมศุลกากรยึด เพียงแค่ส่งภาพถ่ายมา และซื้อคืนในราคาถูก ถ้าเป็นคนทั่วไป ที่ไม่มีอำนาจล้นฟ้าแบบท่าน ไม่สามารถทำเรื่องซับซ้อนแบบนี้ได้หรอกครับ
ในเมื่อ ป.ป.ช. และ กรมศุลกากร ไม่มีความพยายามที่ จะหาความจริง ว่าเจ้าของนาฬิกาเพื่อน นั้น ที่จริงแล้วเป็นของใครกันแน่
พี่น้องประชาชน ที่รับชมอยู่ทางบ้านเรามาช่วยกันหาความจริงกันไหมครับ
ในสไลด์ ที่อยู่บนจอขณะนี้ คือข้อมูล นาฬิกาหรูทั้ง 20 เรือน มี ยี่ห้อ มีซีเรียลนัมเบอร์ หรือหมายเลขประจำ ประจำนาฬิกาแต่ละเรือน สามารถที่ จะตรวจสอบ ไปยังบริษัท ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย ในและต่างประเทศได้ ที่ ป.ป.ช. และกรมศุลกากร ไม่ยอมดำเนินการตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ. ความร่วมมือในคดีอาญา 2535 ให้ได้ความจริง
ขอขอบคุณกรมศุลกากรที่ส่งข้อมูลนี้มาให้คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลลับ ซึ่งผมได้ขออนุญาตจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร และได้รับอนุญาตมาเปิดเผย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้แล้ว
ท่านประธานและพี่น้องประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน องค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรับชั่น ทั่วโลก องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ในเมื่อองค์กรที่ทำหน้าที่โดยตรงไม่ทำ
เรามาช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ เราร่วมแรงร่วมใจใช้ทุกองคาพยพที่มี ตรวจสอบให้ได้ ว่าเจ้าของนาฬิกาหรูตัวจริงคือใคร เพื่อฉีกหน้ากากความเสื่อม ความตกต่ำของกระบวนการตรวจสอบปราบปรามทุจริตคอรับชั่น และการบังคับใช้กฎหมาย ในประเทศนี้
เรามาร่วมกันฉีกหน้ากากรัฐบาล ที่มาจากคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มีอำนาจอยู่ถึงปัจจุบัน ที่เข้ามาแทรกแซง ทำลายระบบตรวจสอบทุจริต และการบังคับใช้กฏหมายของประเทศอย่างย่อยยับ เพื่อสร้างระบบให้โปร่งใส เป็นไปตามประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่านเป็นชายชาติทหาร ปกติแล้วถ้ากล้าทำก็ต้องกล้ารับ นาฬิกา ทั้ง 20 เรือนถ้าเป็นของท่าน ท่านก็กล้ารับเถอะ อย่างใช้วิธีที่ทำมาเลย
ท่านอย่าเลยว่า ไม่รู ไม่รู้ ไม่รู้ เพราะเรื่องนาฬิกาหรู ถ้าไม่ใช่ เป็นเรื่องของท่าน ผลไม่ออกแบบนี้หรอกครับ เพราะท่านเข้าไปแทรกแซง ป.ป.ช. เข้าไปแทรกแซงกรมศุลกากรใช่ไหม ผลถึงเป็นแบบนี้
“เพราะเป็นแบบนี้ ผมจึงไม่อาจไว้วางใจท่าน
ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป”