free geoip

สร้างมิติมืดทางกฎหมาย เปิดช่องขายกัญชา

รถขายกัญชากลางถนนข้าวสาร
เครื่องดื่มใส่กัญชา
รัฐมนตรีควงสากโชว์เมนู ‘ส้มตำกัญชา’
สถานทูตเตือนห้ามนำเข้ากัญชา
เด็กแพ้กัญชานับร้อยราย

เหล่านี้คือภาพที่เราเห็นเมื่อมีการปลดล็อกกัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ ผลงานของอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยปราศรัยโฆษณาชวนเชื่อว่า กัญชาคือยาพารวย ใครๆ ก็ปลูกได้ รัฐจะรับซื้อกัญชากิโลกรัมละ 70,000 บาท นำกัญชาไปใส่อาหาร ไปเสพ เพิ่มเสียงหัวเราะได้ และนี่คือเหตุผลให้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล


พรรคก้าวไกล มีจุดยืนสนับสนุนการปลดล็อกการใช้กัญชา แต่ก็จำเป็นต้องมีการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมด้วย ควรระมัดระวังการใช้เพื่อสันทนาการเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกัน กัญชาไม่ใช่คำตอบสำหรับการรักษาทุกโรค

แม้กรมการแพทย์ ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่ากัญชาสามารถช่วยรักษาหรืออาจช่วยรักษาโรคทางประสาทต่างๆ ได้ แต่สมาคมประสาทวิทยากลับระบุว่ายังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ารักษาโรคเหล่านั้นได้ และกัญชายังอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางโรค เช่น อัลไซเมอร์

แพทยสภา ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา แนะนำเกี่ยวกับกัญชาว่า ให้ใช้เฉพาะสารกัญชาที่ทราบปริมาณที่แน่นอนของสาร THC และ CBD ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้จากแพทย์ที่ผ่านการอบรมแล้ว แต่ไม่ควรใช้กัญหาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาอาการใดๆ ไม่ใช้กัญชากับคนท้อง คนที่ให้นมบุตร และคนอายุต่ำกว่า 25 ปี เพราะจะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง นอกจากนี้ ยังไม่ควรผสมในอาหารให้คนทั่วไปกินด้วย


ไทม์ไลน์ สถานะกัญชาในกฎหมายไทย

นพ.วาโย ได้พาย้อนดูสถานะกัญชาในทางกฎหมายของประเทศไทย เราจะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนกระทั่งมีการเริ่มปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองให้แก่ 7 กลุ่ม

ต่อมา อนุทิน ชาญวีรกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และเดินหน้าปลดล็อกกัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ อย่างแข็งขัน โดยวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

จากนั้น มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ อนุทิน จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565

ประกาศนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ ขณะที่ ส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ แม้ช่อดอกกัญชาจะมีสาร THC สูง (ทำให้เกิดอาการมึนเมาได้) โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อพืชกัญชาและกัญชงถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใดๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ทั้งอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์เกิดเป็น ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’

เมื่อถูกวิจารณ์หนักเข้า อนุทิน จึงออกประกาศปาหี่ตบตาประชาชน แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว ด้วยประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการใช้เพื่อสันทนาการและการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อการแพทย์อีกเหมือนเดิม

นอกจากนี้ การประกาศสมุนไพรควบคุม มีเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตให้ปลูกสมุนไพรพื้นถิ่นนั้นๆ ในระบบนิเวศน์เดิม นั่นเป็นเพราะมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองสมุนไพร ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการคุ้มครองประชาชน


จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพื่อปล่อยของ

นพ.วาโย ตั้งข้อสังเกตว่า จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่เดินหน้าปลดล็อกกัญชาอย่างแข็งขันตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับเพิ่งยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 ทั้งที่ก็รู้กระบวนการว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อนจะส่งกลับมาที่สภา ซึ่งช่วงเวลานั้นก็ใกล้ปิดสมัยประชุมพอดี กว่าจะเปิดสภาและได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม ไม่สามารถผ่านกฎหมายได้ทัน 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ

สุดท้าย รัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วัน โดยที่รัฐมนตรีก็ไม่พยายามยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงออกไปเลยแม้แต่น้อย

“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแต่ท่านไม่ทำ”

นพ. วาโย กล่าว

แล้วสร้างมิติมืดทางกฎหมายนี้ทำขึ้นมาเพื่อใคร?

ที่ผ่านมา อนุทิน ส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ ให้นายทุนได้กอบโกยให้มากที่สุดในช่วงสุญญากาศนี้

อีกทางหนึ่ง ก็ยังตั้ง KPI หรือเกณฑ์วัดผลของกระทรวงสาธารณสุขให้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสังกัดกรมวิชาการ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนจะต้องมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้ได้จำนวนตามเป้า ซึ่งจะเพิ่มดีมานด์กัญชาเพื่อการแพทย์อีกด้วย


ผลกระทบทางการทูตและเศรษฐกิจ

นพ. วาโย ย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนการปลดล็อกกัญชา แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะการไม่ควบคุมกัญชายังอาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมหาศาล อย่างที่เห็นแล้วว่า สถานทูตหลายประเทศได้ออกมาเตือนทั้งคนไทยและพลเมืองของตนเองว่าห้ามนำกัญชาเข้าประเทศ อาจเสี่ยงโทษจำคุก ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติที่มาทำงานหรือท่องเที่ยวในไทยต่างกลัวว่าจะกินกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จากอาหารผสมกัญชา แล้วทำให้ผิดวินัยร้ายแรงหรือถูกดำเนินคดีในประเทศของตัวเอง

นอกจากนี้ การไม่มีมาตรการควบคุมการกัญชายังขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากไทยเข้าร่วมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้วไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ จึงขัดต่อมาตรา 23 และ 28 ของอนุสัญญาฯ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศภาคีที่ปลูกกัญชาจะต้องนำระบบควบคุมฝิ่นมาบังคับใช้ และต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการค้ากัญชาอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงต้องตั้งสถาบันมาดูแลควบคุมการปลูกกัญชาเพื่อผลผลิต ซึ่งหากไม่ทำตามก็อาจมีบทลงโทษถึงขั้นคว่ำบาตรการนำเข้าส่งออก


** เอกสารการตั้ง KPI คลินิกกัญชาทางการแพทย์
https://www.chiangmaihealth.go.th/cmpho_web/document/210512162081072189.pdf



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า