free geoip

‘ศักดิ์สยาม’ ซุกหุ้น! ใช้นอมินีเอาบริษัทฮั้วประมูล รับงานกระทรวงคมนาคม


ลองนึกภาพว่า คุณมีบริษัทที่ฟูมฟักให้เติบโตขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง แต่คุณก็จะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี คุณต้องเลือกระหว่าง ขายหุ้นบริษัทตัวเองทิ้ง กับ ตัดใจไม่เป็นรัฐมนตรี คุณจะเลือกทางไหน?

‘นอมินี’ คือคำตอบของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาเลือกที่จะหานอมินีมาถือหุ้นของตัวเองใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น แล้วขึ้นเป็นรัฐมนตรี แล้วก็นำบริษัทของตัวเองมารับงานกระทรวงคมนาคม มีแต่ได้กับได้

เมื่อไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ว่า บุรีเจริญ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมี ตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของ ศักดิ์สยาม ในขณะนั้น ก่อนที่ตระกูลชิดชอบ จะออกจากการถือหุ้น หจก. นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น ในปี 2540 ซึ่งก็เป็นช่วงที่มีตำแหน่งทางการเมือง จนกระทั่งปี 2558 ที่มีแนวโน้มว่า คสช. จะอยู่ยาว ศักดิ์สยาม จึงกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ บุรีเจริญ ในปี 2558 และเพิ่มทุนขึ้นมาเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง


จู่ๆ วันที่ 26 มกราคม 2561 ศักดิ์สยาม ก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินี เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ สนช. เห็นชอบวาระ 3 พรป.เลือกตั้ง ส.ส. แต่เหมือนว่าจะดีใจเสียจนลืม จึงเพิ่งนึกได้ว่าต้องย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเองไปที่อื่น ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้มาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย ปกรณ์วุฒิได้จำลองสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไว้ 3 แบบ ได้แก่

  1. ขายหุ้นต่ำกว่าราคาทุน สมมติเป็นการให้หุ้นฟรี ศุภวัฒน์ จะต้องยื่นส่วนที่ต่ำกว่าทุน 120 ล้านบาทเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานการเสียภาษี และถ้า ศักดิ์สยาม ให้หุ้นฟรีก็ตีความได้เลยว่า ศุภวัฒน์เป็นนอมินี
  2. ขายเกินราคาทุน ศักดิ์สยาม จะต้องยื่นส่วนเกินทุนเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่พบหลักฐานการเสียภาษีของเงินส่วนนี้ และถ้ากรณีนี้เกิดขึ้นจริง หมายความว่า ศักดิ์สยาม สำแดงรายได้เป็นเท็จ และหลบเลี่ยงภาษี
  3. ขายเท่าราคาทุน ผู้ซื้อและผู้ขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีใดๆ แต่จะถือเป็นซูเปอร์ดีลที่ซื้อบริษัทในราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำรายได้ และถ้ามีการซื้อขายหุ้นกันที่ 120 ล้านบาทจริง เงินก้อนนี้ก็ควรต้องถูกแสดงในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ปปช. ในปี 2562 แต่ไม่มี

“ปรากฏว่าในปี 62 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 61 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหนครับ”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว

นอกจากจะซุกหุ้นแล้ว ศักดิ์สยาม ยังนำ หจก. บุรีเจริญ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานก็มีความผิดปกติ คือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 5 ล้านบาทในปี 2562

“แบบนี้เอาไปให้ใครดูเขาก็ว่าฮั้วครับ ชัดขนาดนี้ครับ เอาธุรกิจตัวเองเข้ามารับงานกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีก็ว่าผิดแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจน”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว


นอมินีคนนี้คือใคร?

ปกรณ์วุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่า นอมินีคนนี้แจ้งข้อมูลรายได้เพียงปีละประมาณหนึ่งแสนบาท แล้วมีแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียวคือการได้เงินเดือนละ 9,000 บาท จากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบ แต่เขากลับสามารถซื้อต่อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดง ต่อจาก ชัย ชิดชอบ บิดาของ ศักดิ์สยาม และซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญ ทั้งหมดมาจาก ศักดิ์สยาม ได้

ที่สำคัญ คนนี้เข้าเป็นลูกจ้างบริษัท ศิลาชัย ในปี 2558 ในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่ ศักดิ์สยาม เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ศิลาชัย ก่อนที่จะมารับโอนหุ้น บุรีเจริญ ทั้งหมดมาจาก ศักดิ์สยาม ในปี 2561

นอกจากนี้ บริษัทศิลาชัย ยังกู้หนี้ระยะยาวจากลูกจ้างคนนี้ ในช่วงปี 2561-2564 ยอดสุดท้ายอยู่ที่ 250.2 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการกู้เงินไม่มีสัญญา ไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ แล้วขณะที่ขาดทุนและติดหนี้ก้อนโตกับลูกจ้างคนนี้ ในปี 2562 บริษัทศิลาชัยยังบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยไป 4.7 ล้าน เขาก็ยังใจป้ำ ร่วมบริจาคให้พรรคไปอีก 2.77 ล้านบาท และให้ หจก.บุรีเจริญ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ บริจาคให้พรรคไป 4.8 ล้านบาท

หากไปดูสาเหตุที่ บริษัทศิลาชัย ขาดสภาพคล่องจนต้องกู้ยืมเงินลูกจ้าง นั้นก็เป็นเพราะบริษัทได้เอาเงินไปซื้อเครื่องบิน Cirrus รุ่น SR222T ในราคา 12 ล้านบาท ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการซื้อด้วยเงินสดในราคาที่ไม่ผ่านระบบภาษีใด ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ ไม่รู้ว่าไปเก็บเครื่องบินไว้ที่ใด ไม่มีที่มาที่ไปในการทำสัญญาซื้อขาย

“ถ้าเราลองเปลี่ยนชื่อ พฤติการณ์นี้ทั้งหมดจาก นายเอ เป็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และบริษัทศิลาชัยเป็นเหมือนกงสี ทุกอย่างก็ดูเรียบง่าย ตัวเลขกำไรขาดทุนก็อาจไม่สำคัญมากนัก ถึงบริษัทจะขาดทุนและเป็นหนี้อยู่เป็นร้อยล้าน แต่ก็เป็นหนี้คนในครอบครัว เอาเงินไปบริจาคให้พรรคการเมืองตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า