การทุจริตจากนโยบาย “ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หรือ “สปก.4-01″ ในปี 2537 สร้างความคับแค้นใจให้กับเกษตรกรตัวจริงที่ได้เห็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องเครือข่ายนักการเมือง ไม่เคยมีคำขอโทษใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา… มีก็แต่เพียงการปลุกผี สปก. ขึ้นมาหลอกหลอนใหม่
ปัจจุบัน ประชาชนต้องรอคอยอย่างยาวนานกว่าจะมีการออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นช่องให้ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำ “โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน” โดยอ้างว่า จะมาช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในการออกโฉนดและกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนและเกษตรกร แต่ผลกลับกลายเป็นโครงการออกโฉนดที่ดินผืนงาม เพื่อให้นายทุนเครือข่ายของตัวเองแสวงหาประโยชน์ จึงเป็นเหตุผลให้ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์
เกาะนุ้ยนอก สู่ เกาะยาวใหญ่
ปลายปี 2564 เกาะนุ้ยนอก เกาะกลางทะเลเล็กๆ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้หลบฝนหรือแวะแกะอวนกัน ไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างการเพาะปลูก จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการออกโฉนด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ข้อ 14 (3) แต่ชัยยุทธ ไชยทองรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดกระบี่-พังงา ก็ยังลงนามรับรอง โดยหนึ่งในผู้ที่ได้โฉนดบนเกาะนุ้ยนอกไปคือ ผู้อำนวยการ ใน DSI ที่ดูแลด้านแผนที่โดยเฉพาะ ที่สร้างหลักฐานเท็จ สร้างร่องรอยการใช้ประโยชน์ปลอมๆ และมีการใช้หลักฐานปลอมเป็นเอกสาร ส.ค. 1 ในการขอโฉนด
เมื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการออกโฉนดที่เกาะนุ้ยนอก กลายเป็นข่าวดัง และเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พรรคก้าวไกลก็เคยอภิปรายการออกโฉนดที่ดินเกาะนุ้ยนอก จังหวัดกระบี่ ไปแล้ว สังคมได้กดดันให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ จนต้องมีการเพิกถอนโฉนดที่ดิน และสั่งสอบเจ้าหน้าที่ DSI คนดังกล่าว
ในขณะที่ ป.ป.ช. DSI และ กอ.รมน. เข้ามาตรวจสอบกรณีนี้ นิพนธ์ กลับไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้เพียงแต่ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยกรณีที่เกาะนุ้ยนอกที่เดียว ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งหมด 47 จังหวัด เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดกรณีคล้ายกันในที่อื่นๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องตรวจสอบพื้นที่ในความดูแลของ ผอ.ศูนย์ฯ ที่มีปัญหา
ในเดือนมีนาคม 2565 ชัยยุทธ คนเดียวกันนี้เดินหน้าออกโฉนดให้นายทุนต่อได้อีก มีการออกโฉนดที่ดินผืนใหญ่ที่เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงาให้บริษัท ถึง 20 แปลง ซึ่งไม่ใช่การออกโฉนดในชื่อของนายทุนเจ้าของบริษัท แต่เป็นการออกโฉนดในชื่อบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนหลักร้อยล้าน
ออกโฉนดให้เครือข่ายของ นิพนธ์
การออกโฉนดในพื้นที่หาดนาใต้เป็นอีกตัวอย่างที่จะทำให้เห็นการออกโฉนดที่ดินอย่างมิชอบ อีกทั้งยังเป็นการเอื้อนายทุนและเครือข่ายทางการเมืองของ นิพนธ์ อีกด้วย
เมื่อสิงหาคม 2564 ชัยยุทธ เจ้าเก่าได้ออกโฉนดในพื้นที่หาดนาใต้รวม 27 ฉบับภายในวันเดียว ทั้งที่ไม่มีการแนบหลักฐานการใช้ประโยชน์ที่ดิน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเคยมีคดีความไล่คนที่ใช้ปักอาณาเขตทำสวนมะพร้าว จนศาลตัดสินชัดเจนแล้วในปี 2558 ว่านี่เป็นพื้นที่ป่าสงวน มีการติดป้ายประกาศชัดเจน รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นการถือครองที่ผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวน
หลัง ชัยยุทธ รับรองการออกโฉนดหาดนาใต้ คนที่เคยแพ้คดีเมื่อปี 2558 จึงยื่นคัดค้านการออกโฉนดไปยังกรมที่ดิน และส่งเรื่องต่อไปยังกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ก็เพิ่งยืนยันเมื่อพฤษภาคม 2565 ว่าที่ดินเหล่านี้อยู่ในเขตป่าสงวนจริง
ประเสริฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจสอบรายชื่อเจ้าของที่ดิน 27 แปลงที่หาดนาใต้แล้ว พบว่ามีทั้งนายทุนธุรกิจท่องเที่ยว ก่อสร้าง และพัฒนาที่ดิน หลายคนก็ไม่ใช่คนพื้นที่พังงาด้วย และยังมีที่ดินถึง 4 แปลงที่เป็นของนายทุนนามสกุลเดียวกัน และ ประเสริฐพงษ์ ยังได้เปิดคลิปเสียงแฉว่า ในจำนวนนี้มีนอมินีถือที่ดินแทน อดีตนายก อบจ. พังงา อาจเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ สมัยหน้า
อดีตอัยการสูงสุดคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ช่วย ‘นิพนธ์’ รั้งเก้าอีก รมช.?
หนึ่งในผู้ถือครองที่ดินหาดนาใต้ คือคนนามสกุล กิตติพรหมวงศ์ นามสกุลเดียวกับ สจ. อำเภอท้ายเหมือง ซึ่งลงเลือกตั้งทีม อบจ. เดียวกับ อดีตนายก อบจ.พังงา
นอกจากนี้ เจ้าของที่ดินแปลงนี้ยังเป็นน้องสาวของ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ด้วย และที่น่าสังเกตก็คือ ในช่วงที่มีการออกโฉนดนี้ให้กับน้องสาวของ วงศ์สกุล นั้น นิพนธ์ กำลังมีคดีค้างอยู่กับ ป.ป.ช.
ช่วงปลายปี 2463 ป.ป.ช. อยากจะฟ้อง นิพนธ์ จากกรณีละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่าซื้อรถอเนกประสงค์ 2 คัน 50 ล้านบาท สมัยที่เป็นนายก อบจ. สงขลา ซึ่งทำให้ อบจ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 30 ล้านบาท แต่ อสส. กลับแจ้งว่ามีข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี จนกระบวนยืดออกไป ถ่วงเวลาออกไปจนครบกำหนดเกษียณตำแหน่งของ วงศ์สกุล พอดี ช่วยรั้งให้ นิพนธ์ ยังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่อได้ กว่ากระบวนการจะไปถึงศาล นิพนธ์ก็อาจจะอยู่ในตำแหน่งครบวาระ
ปลุก สปก. 4-01 ขึ้นมาใหม่ ไฉไลกว่าเดิม
ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า โครงการเดินสำรวจรังวัดที่ดินนี้เป็นเพียงการปรับปรุงแผนทุจริตให้แนบเนียนขึ้นจาก โครงการ สปก.4-01 เพราะโครงการนี้แจกโฉนดโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นเกษตรกรไหม ออกโฉนดให้นายทุนก็ไม่ผิดอะไร ต่างจากนโยบาย สปก.
นอกจากนี้ โครงการเดินสำรวจรังวัดที่ดิน ยังปรับปรุงความผิดพลาดในคราว สปก. เพราะไม่จำเป็นต้องผ่านมติ ครม. ต้องผ่านมติ คณะกรรมการ สปก. ระดับจังหวัด ทำให้เมื่อเรื่องแดงขึ้น มีกระบวนการสอบสวน เอกสารหลักฐานเหล่านั้นก็สาวไปมัดตัวหมดว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง การตัดตอนกระบวนการไม่ให้รัฐมนตรีต้องมาเกี่ยวข้อง แต่ให้จบที่ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจ ทำให้เมื่อเกิดเรื่อง รัฐมนตรีก็เพียงปิดตาข้างเดียว สั่งสอบเป็นรายๆ ไป
“น่าเศร้าไม่มีคำขอโทษใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย สปก. จนวันนี้มาเจอการทุจริตอีกแบบ จากรัฐมนตรีของพรรคเดิม แต่คราวนี้มาอย่างแนบเนียนขึ้น”
ประเสริฐพงษ์ กล่าว