free geoip

แฉ! ขบวนการเอื้อกลุ่มทุนพลังงานทำคนไทยใช้ไฟแพงโดยไม่จำเป็น


ก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจ แฉประยุทธ์ในฐานะประธาน กพช. วางแผนพลังงานเกินความจำเป็น ออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้า แถมผูกสัญญาประกันรายได้แม้ไม่ผลิตไฟฟ้าเลยก็ได้ แบกรับ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เฉลี่ย 24 สตางค์ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ไป ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนใช้ไฟฟ้าแพงเกินจริง


วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) โดยวรภพกล่าวถึงการขึ้นค่าไฟฟ้าในห้วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ว่าประชาชนอาจจะต้องเตรียมตัวจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็น 5บาท/หน่วย โดยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายแพงนั้น มันไม่ได้มีสาเหตุมาจาก ต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นอย่างเดียว แต่มันมีสาเหตุมาจากการ บริหารราชการแผ่นดินที่ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานของรัฐบาล พรรคก้าวไกลขอสรุปเนื้อหาใจความสำคัญ ดังนี้…

คลิปเต็มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ



คลิปสรุป



ค่าไฟ 4 บาท/หน่วย นั้นมีที่มาอย่างไร?

คือ ค่าไฟฟ้ามาจาก 2 ส่วน คือส่วนที่เรียกว่า ค่าไฟฟ้าฐาน 3.76 บาท/หน่วย อธิบายง่ายๆ ว่าค่าไฟฟ้าฐาน คือต้นทุนค่าไฟฟ้า ณ ปีฐาน คือปี 2558 ซึ่งจะรวมทั้งค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง ค่าระบบสายส่ง ณ ปีฐาน กับส่วนที่เรียกว่า ค่า Ft อธิบายง่ายๆว่า คือส่วนต่าง ระหว่างต้นทุนเชื้อเพลิงจริงในแต่ละช่วงเวลา และต้นทุนเชื้อเพลิงในปีฐาน ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันงวดล่าสุด ค่า Ft คือ 0.25 บาท/หน่วย


ซึ่งเมื่อรวม ค่าไฟฟ้าฐาน และ ค่า Ft จะได้เป็น ค่าไฟฟ้า 4 บาท/หน่วย นี่คือที่มาของราคาไฟฟ้าปัจจุบัน จะเห็นว่าส่วนต่างของต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น นั้น จริงๆ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่เยอะของราคาค่าไฟฟ้า 4 บาท นี้เลย

ซึ่งถ้าอธิบายอีกแบบ คือค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ถูกคำนวนมาจาก โครงสร้างต้นทุนไฟฟ้าทั้งระบบของประเทศไทย ซึ่งไส้ไน สามารถแยกมาเป็น 4 ส่วน จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ ส่วนแรก คือ 1.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าเอง ทั้งต้นทุนค่าสร้างโรงไฟฟ้าและเชื้อเพลิงของ กฟผ. 2.)ต้นทุนที่ กฟผ. ซื้อจากเอกชน และ 3.)ค่าใช้จ่ายนโยบายภาครัฐ ส่วนต้องทดไว้ จะอธิบายทีหลัง และ 4.)ระบบสายส่ง ทั้งของ กฟผ. ก่อนที่จะขายต่อเข้าสายส่ง กฟน., กฟภ. และ ขายไปยังประชาชนต่อไป


ซึ่งปัจจุบัน ส่วนที่ใหญ่ที่สุดไปแล้วของ โครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศไทย คือส่วน 2.) ส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ซื้อจากเอกชน ที่เป็นสัดส่วนถึง 63% ของ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นมูลค่า 440,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งนี่เป็นส่วนที่สำคัญที่ว่าทำไมราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยเราถึงแพงเกินจริง และเกิดเป็นความั่งคั่งของกลุ่มทุนพลังงานไฟฟ้า ที่วันนี้มูลค่าตามตลาดหลัพทรัพย์ของกลุ่มทุนพลังงานไฟฟ้าวันนี้ รวมกันถึง 1.6 ล้านล้านบาทไปแล้ว

ส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อจากเอกชนนั้นสามารถแบ่งออกมาได้อีก เป็น 3 ก้อนคือ 1.)โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(IPP) 2.)โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) และ 3.)นำเข้า คือ ไฟฟ้าที่ซื้อจาก สปป.ลาว เป็นหลัก 

ซึ่งโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้านั้นจะเริ่มจากการที่ กฟผ. ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า PPA : Power Purchase Agreement ตามมติที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติ ซึ่งต้องย้ำจากตรงนี้ว่านายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กพช. ผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำสัญญา PPA กับโรงไฟฟ้าเอกชนมาตลอด


และในสัญญา PPA นี่แหละที่จะกำหนดสูตรที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ว่าจะต้องซื้อไฟฟ้าเท่าไหร่ และราคาค่าไฟฟ้าเท่าไหร่  ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1.) EP : Energy Payment คือต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าตามแต่ละประเภทของโรงไฟฟ้า และ 2.) AP ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าสำหรับ IPP และ CP ค่าพลังไฟฟ้าสำหรับ SPP ในโครงสร้างราคาไฟฟ้า โดยทั้ง AP และ CP นี่แหละที่กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินความจำเป็น

ค่า AP และ CP เรียกให้เข้าใจความหมายของมันง่ายๆ คือ “ค่าประกันกำไรให้เอกชน” จำนวน 90,895 ล้านบาท/ปี ขอเพียงเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จพร้อมเดินเครื่อง กฟผ. จะต้องจ่ายค่าประกันกำไรนี้ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน โดยไม่สนเลยว่า โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะผลิตไฟฟ้ามากหรือน้อย แล้วรัฐบาลก็จะเอาต้นทุนนี้มาคิดเป็นค่าใช้จ่ายกับประชาชนแทน

เอกชนได้คืนทุนแถมกำไรครบทุกบาททุกสตางค์ ตลอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ส่วนใหญ่ล้วนแล้วเป็นสัญญาที่นานกว่า 25 ปี ตามอายุของโรงไฟฟ้า


ขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ถ้าให้สรุปสั้นๆ จะมี 4 ขั้นตอน คือ…

  1. โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่แล้วต้องใช้เวลาสร้างประมาณ 5 ปี ดังนั้น เลยต้องมีการวางแผนพลังงานไว้ล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า “แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า” หรือ PDP : Power Development Plan เป็นแผนระยะยาว ระยะเวลา 20 ปี และจะมีการทบทวนแผน PDP ทุกๆ 2 ปี และในขั้นตอนแรกของขบวนการนี้ ก็จะเริ่มจากการประมาณการความต้องการไฟฟ้า ในแผน PDP ไว้สูงเกินความเป็นจริง
  2. ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินไว้สูง
  3. วางแผนให้มีโรงไฟฟ้าเพิ่มมากเกินความจำเป็น และเหตุผลที่ต้องประมาณการความต้องการไฟฟ้าไว้สูง ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินไว้สูง และ วางแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น ใน แผน PDP  ก็เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนที่ 4.
  4. รัฐบาล หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะได้มีเหตุผลในการอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนมากเกินความจำเป็นตามมา หรือมากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นจริง โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP ที่ทำไว้

และด้วยสัญญาที่รัฐบาลประกันกำไร ตลอดระยะเวลาอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เอกชนก็ไม่ต้องสนใจเลยว่าประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นหรือไม่ แต่ต้นทุนของการมีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นนี้ จะถูกนำมาคิดในโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ให้ประชาชนเป็นคนรับภาระ เป็นคนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง จากขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ


แล้วความเสียหายเท่าไหร่?

ผลลัพธ์ของความเสียหายขบวนการค่าไฟฟ้าแพงเป็นเท่าไหร่? ก็ต้องเริ่มจากว่าตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้ามากเกินอยู่เท่าไหร่ ฟังแล้วอาจจะตกใจ วันนี้เรามีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการสูงสุดไป 54% โดยเป็นข้อมูลในช่วงที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุด หรือค่า peak ในเดือนเมษายน 2565 จะอยู่ที่ 33,177 MW เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14.30 น.

เรามีกำลังการผลิตตามสัญญาในระบบไฟฟ้าทั้งหมดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 51,040 MW เท่ากับว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน หรือมีโรงไฟฟ้า เกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ถึง 54% หรือ 17,863 MW ซึ่งมาตรฐานสากลทางพลังงานเค้ารู้ทั่วกันว่า มาตรฐานกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินอยู่กันที่เพียง 15% เท่านั้น ถ้าทนายกจะอ้างว่าเพื่อความมั่นคง นายกจะต้องตอบมาด้วยว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินความจำเป็นขนาดนี้มัเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประชาชน หรือเพื่อความมั่งคั่งของกลุ่มทุนพลังงานกันแน่? ย้ำอีกทีว่าค่าใช้จ่ายจากการกำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินขนาดนี้ ก็จะวนกลับมาเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งหมด

ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น มากแค่ไหน?

ในเดือนเมษายน 2565 โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP ในไทยที่มีทั้งหมด 12 โรง มีถึง 6 โรง หรือครึ่งนึงของโรงไฟฟ้า IPP ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ยังต้องจ่ายเงินค่าประกันกำไรให้กับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ถึง 2,166  ล้านบาท/เดือน นี่ยังไม่รวมค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่ได้มีก๊าซผ่านเลย อีกประมาณ 700 ล้านบาท นี่คือต้นทุนที่นำมาคิดเป็นโครงสร้างต้นทุนไฟฟ้า ให้ประชาชน 67 ล้านคนเป็นคนจ่ายค่าไฟแพงเกินความจำเป็น


แล้วประชาชนต้องจ่ายเท่าไหร่?

มูลค่าความเสียหายของท่านที่ถูกยักยอกไปโดยรัฐบาลจากค่าไฟฟ้าแพง เกินความจำเป็นจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าเอากำลังการผลิตโรงไฟฟ้าส่วนเกินความจำเป็น มาเทียบกับ จำนวนรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของ IPP, SPP ที่รวมกันตอนนี้ ก็จะคำนวนได้เลขกลมๆ ง่ายๆ คือ ครึ่งนึงของ โรงไฟฟ้า IPP และ SPP รวมกัน ที่รัฐบาลได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้เกินความจำเป็น หรือ เป็นมูลค่าความเสียหายถึง 45,819 ล้านบาทต่อปี ที่ประชาชนต้องเป็นกลายคนรับภาระค่าไฟฟ้าแพง เกินความจำเป็นนี้

ความเสียหายนี้ที่ประชาชนเป็นคนจ่าย จากนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานของรัฐบาล และถ้าเอามูลค่าความเสียหายนี้ หารด้วย จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี ก็จะได้ว่า ทุกๆ หน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายไป ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงเกินความจำเป็นให้กับกลุ่มทุนพลังงานไปถึง 24 สตางค์/หน่วย

เดือนๆ หนึ่งเราใช้ไฟฟ้าไปเท่าไหร่ เอามาคูณด้วย 24 สตางค์/หน่วย ก็จะได้เป็นค่าความเสียหาย ที่ประชาชนทุกคนถูกยักยอกเอาไปโดยรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ ความมั่งคั่งของกลุ่มทุน อย่างถูกกฎหมาย อย่างบ้านผมเนี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าเดือนล่าสุดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 732 หน่วย ก็เหมือน ผมเนี่ยถูกยักยอกเงินไป 175 บาท/เดือน ปีๆ นึง 2,100 บาท โดยไม่จำเป็น โดยรัฐบาล ที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน

ถ้าย้อนกลับไปที่ขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบที่ได้เกริ่นไว้ ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปี ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการทำแผน PDP มาแล้ว 2 ฉบับ คือปี 2558 และปี 2561 ส่วนปี 2563 คือฉบับปรับปรุงปี 2561 ซึ่งทั้งสองฉบับก็มีรูปแบบเหมือนกับที่ได้เกริ่นไว้ทุกประการ
 


ต่อมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งเป้าหมาย เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินให้เพิ่มสูงขึ้น ในแผน PDP คือตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นมาเป็น 43% โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องสูงขนาดนี้ เพราะแผน PDP ฉบับก่อนๆ ก็ไม่ได้ตั้งเป้ากำลังการผลิตส่วนเกินไว้สูงถึงขนาดนี้มาก่อน และประเทศไทยเองก็ไม่เคยมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ไว้สูงขนาดที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำไว้ในแผน PDP มาก่อนเลย เพื่ออะไร?


เพราะที่รัฐบาลประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้สูง และเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตส่วนเกินไว้สูงถึง 43% ในแผน PDP ก็เพื่อวางแผนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ทุกปี แทนที่จะปล่อยให้กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินในประเทศไทยค่อยๆ ลดลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่เกินจริงนี้ให้กับประชาชน ซึ่งมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า เหตุผลคือเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการที่จะอนุมัติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นต่อไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาพลังงาน PDP ที่วางแผนไว้ และ แน่นอนว่ามาพร้อบกับสัญญาประกันกำไรให้เอกชนเกินความจำเป็น นี่คือ ขบวนการ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ของรัฐบาล ที่เป็นต้อตอของค่าไฟฟ้าที่แพงเกินจริง


ประยุทธ์ทำอะไรไปบ้าง?


เริ่มจากก้อนแรก โรงไฟฟ้า IPP ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ ได้อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า IPP เพิ่ม 2 โรง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งต้องย้ำอีกที เพราะเมื่อสิ้นปี 2561 ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเกินไปแล้ว 58% พูดง่ายๆ คือตอนปี 2562 ประเทศไทยไม่เห็นถึงความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องอนุมัติให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก

แต่ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งเป็นประธาน กพช. ก็ได้อนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 1,400 MW และประกันกำไรให้ตลอดอายุ 25 ปีของโรงไฟฟ้า

ส่วนโรงไฟฟ้า IPP โรงที่สอง ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ อนุมัติไปคือโรงไฟฟ้า 540 MW ของโรงไฟฟ้าบูรพา พาวเวอร์ ซึ่งโรงที่สองนี้เป็นการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมที่เอกชนคู่สัญญายังไม่สามารถเดินเครื่องตามเงื่อนไขสัญญาเดิมได้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ ก็มีมติให้แก้ไขสัญญาจนนำไปสู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ขนาด 540 MW และแน่นอน มาด้วยเงื่อนไขประกันกำไรให้เอกชนอีก 25 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติให้มีโรงไฟฟ้าเกินเพิ่มขึ้นอีกถึง 1,940 MW โดยไม่จำเป็น และที่สำคัญ โดยไม่เปิดประมูลด้วย สำหรับโรงไฟฟ้าหินกอง พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติประเคนสัญญา IPP ให้เอกชนดื้อๆ เลย ทำไมถึงไม่เปิดให้ประมูล?


ก้อนที่สอง ต้องเกริ่นก่อนว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มีทำสัญญาซ์้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก หรือ SPP ตั้งแต่ปี 2538 และอายุสัญญาของ โรงไฟฟ้า SPP เหล่านี้ กำลังจะเริ่มทยอยหมดสัญญาลงในปี 2560-2568 นับดูแล้วรวมๆ มี 19 โรงไฟฟ้า SPP ที่กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. ทั้งหมด คือ 1,471 MW ที่จะหมดอายุสัญญาไปในปี 2560-2568 ซึ่งก็เหมือนจะดี ว่าในเมื่ออายุสัญญาประกันกำไรให้เอกชนกำลังจะหมดถึง 1,471 MW ก็น่าจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าเกินจำเป็นของประชาชนได้

แต่น่าเสียดาย มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมติเดิม ที่ตั้งใจจะปลดระวาง โรงไฟฟ้า SPP เหล่านี้ เพื่อช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟฟ้าลงอยู่แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมติ กพช. ในเดือน มกราคม 2562 ให้ต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สำหรับ SPP ที่กำลังจะหมดสัญญาออกไปก่อน และสุดท้ายก็ให้โรงไฟฟ้า SPP ที่กำลังจะหมดอสัญญาไปแล้ว สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทนโรงเดิมได้เลย โดยไม่เปิดประมูลอีกแล้ว ไม่ต้องมีการแข่งขันใหม่อะไร 

ผลลัพธ์ก็คือ มีโรงไฟฟ้า SPP มาทำสัญญาซื้อขายไฟเพิ่มอีก 420 MW ก็ยังดีที่น้อยลง แต่ก็จะยังเป็นสัญญาประกันกำไรอีก 25 ปี เหมือนเดิม และค่าพลังงาน หรือ CP แพงกว่าเดิม 65% และสุดท้าย ค่า EP หรือค่าเชื้อเพลิง ก็แพงกว่าโรงไฟฟ้า IPP ที่เคยเปิดประมูลไปถึง 0.60 บาท/หน่วย คือนอกจากประชาชนยังต้องจ่ายค่าประกันกำไรให้เอกชนเพิ่มโดยไม่จำเป็นแล้ว ประชาชนก็จะยังต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 0.60 บาท/หน่วย จากการไม่เปิดประมูลให้มีการแข่งขัน หรือไม่ไปเทียบกับต้นทุนที่จะประหยัดที่สุด สุดท้ายแล้วต้นทุนเหล่านี้ก็จะมาเป็นภาระค่าไฟของประชาชนโดยไม่จำเป็น จากการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า SPP ของรัฐบาล ช่างเป็นรัฐบาลที่ใจดีกับกลุ่มทุนเอกชนเสียจริง จนบางทีก็อดสงสัยเสียงดังๆ แทนพี่น้องประชาชนจริงๆ ว่าเป็นเจ้าสัวเมืองไทยนี่มันช่างดีแสนดี ถ้าทำธุรกิจกับรัฐบาล หมดสัญญา ก็ต่อสัญญา ประเคนสัญญาใหม่ให้ได้เลย โดยไม่ต้องเปิดประมูล ปล่อยให้พี่น้องประชาชน มองกันตาปริบๆ จ่ายค่าไฟแพง เลี้ยงดูกลุ่มทุน จากการบริหารเอื้อประโยชน์ของรัฐบาลแบบนี้


ก้อนที่สาม คือ 5 เขื่อนที่ประเทศลาว ต้องบอกก่อนว่าก้อนนี้ โชคยังดี ที่ประเทศไทยยังมีโอกาสแก้ไข เพราะยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทาง 5 เขื่อนลาวนี้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงพฤติการณ์ที่ชัดเจน ที่จะนำไปสู่การอนุมัติให้มีการสร้าง 5 เขื่อนที่ลาวเพิ่มเติมอีกโดยไม่มีความจำเป็น ตั้งแต่เมื่อ พฤศจิกายน 2564  ที่ กพช. ได้อนุมัติให้ทำ MOU เพื่อเตรียมที่จะอนุมัติให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนลาวเพิ่มอีก 3,876 MW ซึ่งผมต้องขอกลับมาย้ำอีกครั้งตอนนี้ประเทศไทยตอนนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินอยู่ 54% จึงยังไม่เห็นถึงความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องอนุมัติให้มีการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 

เพราะทั้ง 5 เขื่อนนี้ ก็มีเงื่อนไขประกันกำไร ที่สุดท้ายแล้วภาระเหล่านี้ก็จะตกกลับมาที่ประชาชนอยู่ดี จากการมีโรงไฟฟ้าเขื่อนเกินความต้องการ และราคาค่าไฟที่ การไฟฟ้าจะต้องรับซื้อตามร่างสัญญาก็แพงกว่า ราคาเดิมที่การไฟฟ้าเคยรับซื้อในเขื่อนแห่งอื่นๆถึง เกือบ 1 บาท/หน่วย ซึ่งแน่นอนว่า ต้นทุนที่แพงขึ้นตรงนี้ ก็จะถูกนำมาบวกเพิ่มให้เป็นภาระของประชาชนอีกต่อไป


ก้อนสุดท้าย คือมติ กพช. เมื่อเดือนที่แล้วนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ พึ่งอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 100MW แต่ประเด็นสำคัญ คือตั้งราคารับซื้อไฟฟ้าที่แพงถึง 6 บาท/หน่วย คือแพงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ 4 บาท/หน่วย ซึ่งถ้าท่านประธานยังจำโครงสร้างต้นทุนไฟฟ้าที่ผมได้อธิบายไว้ว่า เมื่อการไฟฟ้ารับซื้อมาแพง ทุกต้นทุนไฟฟ้าก็จะถูกคำนวนและผลักภาระมาให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงตามมา ซึ่งค่าใช้จ่ายก้อนนี้จะถูกรวมอยู่ในส่วน ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อนุมัติมาหลายรัฐบาล ที่วันนี้เป็นมูลค่ารวมถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี และแน่นอน ก้อนนี้เป็นภาระที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นถึง 26 สตางค์ต่อหน่วยในวันนี้ โดยให้เหตุผลอ้างว่าเพื่อสนับสนุนพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์, ลม, ชีวมวล และขยะ ซึ่งผมต้องย้ำตรงนี้ว่า เราไม่ได้คัดค้านพลังงานทางเลือก แต่เราคัดค้านขบวนการที่ผลักภาระมาให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง แต่กลายเป็นกลุ่มทุนพลังงานที่มั่งคั่งขึ้นแบบที่รัฐบาลกำลังจะทำอยู่นี้

เพราะโดยเฉพาะนโยบายนี้ของรัฐบาล ที่จริงแล้ว มันคือการผลักภาระจากอุตสาหกรรมให้กลายมาเป็นภาระของประชาชนแทน อย่างที่อธิบายไว้ว่าเราสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนจากขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เพราะนี่คือทางออกที่ยั่งยืนในการจัดการกับปัญหาขยะ เพียงแต่ภาระในการกำจัดขยะ ควรจะอยู่ที่คนสร้างขยะ ไม่ใช่ประชาชน ดังนั้น สิ่งที่ควรคือภาพด้านล่างนี้ คือเมื่อโรงงานเป็นคนสร้างขยะอุตสาหกรรม ก็ควรจะต้องจ่ายค่ากำจัดขยะที่เพียงพอในการกำจัดขยะให้โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าก็ขายไฟฟ้าให้ การไฟฟ้าและประชาชนในราคาปกติ แต่ถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาล จะกลายเป็นว่า โรงงานจ่ายค่ากำจัดขยะน้อยกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้ โรงไฟฟ้าขายไฟฟ้าได้แพงกว่าปกติ และปล่อยให้ประชาชนเป็นคนรับภาระส่วนต่างของค่าไฟฟ้าแพงตรงนี้ กลายเป็นว่าโรงงานประหยัดค่ากำจัดขยะ โรงไฟฟ้าได้กำไร ประชาชนเป็นคนรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพง จากนโยบายนี้ นี่จึงเป็น นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และ เพิ่มภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินความเป็นจริง ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา



พี่น้องประชาชนต้องช่วยกันส่งเสียงกดดัน คัดค้านขบวนการค่าไฟแพง ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา คือ

  1. ให้ทบทวนมติ ลดราคารับซื้อไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ไม่ให้ปลักภาระค่าไฟแพงจากโรงงานอุตสาหกรรมมาให้ประชาชนเป็นคนรับภาระแทน
  2. ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ 5 เขื่อน ที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และจะกระทบกับภาระค่าไฟของประชาชนในอนาคตนี้ออกไปก่อน
  3. ให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ แผน PDP ฉบับใหม่ด้วย เพราะประชาชนจะต้องมาเป็นคนรับภาระค่าไฟฟ้าจาก PDP ฉบับใหม่ ว่าจะมีขบวนการที่นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่จำเป็นหรือไม่ และจะสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยหรือไม่ หรือจะสนับสนุนพลังงานสะอาดของประชาชนอย่าง Solar Rooftop เทียบเท่าที่สนับสนุนกลุ่มทุนพลังงานได้หรือไม่
  4. เปิดเผยข้อมูลระบบไฟฟ้า ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ทั้ง ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาครายชั่วโมง plant factor จริงของแต่ละโรงไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ทางออกในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าและลดค่าไฟฟ้าของประเทศไทย


Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า