free geoip

คู่มัลติเวิร์สหลงยุค ประยุทธ์ & มิน อ่อง หล่าย: เผด็จการผู้ไร้มนุษยธรรมบนเวทีโลก



ในยุคหนึ่ง ประเทศไทยเคยถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศหัวหอกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีบทบาทนำเป็นอย่างสูง ในการนำวาระและการขับเคลื่อนทิศทางของภูมิภาค ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

นั่นคือเหตุผลที่ประเทศไทย เต็มไปด้วยสำนักงานสาขาระดับภูมิภาคขององค์กรระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และการมีบทบาทนำเช่นนี้นี่เอง ใครก็ตามจากส่วนอื่นๆ ของโลกที่นึกอยากจะทำอะไรขึ้นมาในภูมิภาคนี้ ก็ต้องนึกถึงประเทศไทยในฐานะสปริงบอร์ดก่อนใครเพื่อน

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่วันเวลาเหล่านั้นได้กลายเป็นแค่อดีตไปแล้ว เมื่อระยะหลังๆ มา ฐานะและบทบาทของประเทศไทยในเวทีระดับอาเซียนและระดับโลกตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย และจุดที่ตกต่ำที่สุด ก็คือในยุคของรัฐบาลสืบทอดอำนาจของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงประเด็นนี้ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2021 เป็นต้นมา และจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ได้นำเรามาสู่จุดตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างไร?


สนามหญ้าหน้าบ้านเรา-สนามเด็กเล่นของเพื่อนบ้าน: ชะตากรรมคนไทยแนวชายแดนที่สุดขมขื่น

กระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. ที่ถูกยิงมาจากทางแม่น้ำเมยจนเจาะทะลุร่างของ “น้องปลื้ม” ด.ช. ปัณณทัต ขจรศักดิ์อุดม  ในเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 2563 คือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวขจรศักดิ์อุดม ที่สะท้อนชีวิตของคนไทยตามแนวชายแดนในปัจจุบัน ในยุคที่รัฐบาลไทยกล้าแต่ทำสงครามกับประชาชน แต่กลับไปจูบปากหอมคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นเผด็จการ 

จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงกระสุนนัดนี้เข้าใส่ ด.ช. ปัณณทัต ไร้ทั้งการติดตาม และไร้ความยุติธรรมให้แก่ความสูญเสียของคนไทยครั้งนี้

2 ปีต่อมา วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพเมียนมา บินล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทย ในพื้นที่หมู่ 3 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก และได้ทำการยิงเข้าใส่กองกำลังกะเหรี่ยงขณะอยู่ในน่านฟ้าของไทย ชาวบ้านต่างต้องหนีตาย ทรัพย์สินเสียหาย โรงเรียนบ้านวาเล่ย์ต้องปิด นักเรียนต้องหนีลงไปหลบในหลุมหลบภัยอย่างน่าอเนจอนาถ

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ผู้นำของประเทศที่ถูกรุกล้ำน่านฟ้าต้องมีท่าทีออกมาประท้วงการกระทำของประเทศผู้รุกล้ำแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เป็นมิตรกัน อย่างน้อยเราก็จะต้องได้เห็นการเตือนหรือการแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างเป็นทางการในระดับหนึ่ง อย่างที่เรามักจะเห็นในข่าวต่างประเทศบ่อยๆ

แต่ทว่าสำหรับประเทศไทย ผู้นำของเราทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนในเวทีโลกเลย นั่นคือการไม่ประท้วง ไม่เตือน และยังบอกด้วยว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต” และเป็นแค่การที่ “เพื่อนบ้านเดินลัดสนามหญ้าบ้านเรา” 

ปดิพัทธ์อภิปรายว่า แน่นอนไม่มีใครปรารถนาให้มีสงคราม และไทยไม่ถึงกับต้องส่งเครื่องบินรบไปยิงเครื่องบินเมียนมาแต่อย่างใดเลย แค่การประท้วงหรือเตือนด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการรุกล้ำอธิปไตยสักหน่อยก็เพียงพอแล้ว เพราะนี่คือสิทธิอันชอบธรรมที่เรา ในฐานะประเทศผู้ถูกกระทำ จะสามารถทำได้โดยไม่สูญเสียความสัมพันธ์

ปดิพัทธ์ยังได้เล่าต่อว่า จากคำชี้แจงโดยผู้แทนของกองทัพอากาศต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ระบุว่าชายแดนไทย-เมียนมานั้น “ติดกันจนทำให้การเข้าสู่เขตแจ้งเตือนเกิดขึ้นได้เสมอๆ”

แต่จากสิ่งที่ผู้แทนกองทัพอากาศเป็นผู้ชี้แจงในชั้นกรรมาธิการเองนั้น ระบุว่ากองทัพอากาศมีสถานีเรดาร์ที่อยู่บนภูเขาสูงทั่วประเทศ มีรัศมีครอบคลุมถึงประเทศข้างเคียง และมีการส่งภาพแบบ Real-time ไปที่กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ โดยทันทีที่มีเครื่องบินที่ไม่มีแผนการบินแจ้งล่วงหน้า บินเข้ามาในระยะ 100 NM จากแนวชายแดน กองทัพอากาศมีแนวปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งเตือนไปยังหน่วยบินขับไล่และสกัดกั้น (Quick Reaction Alert) ให้เตรียมความพร้อม และหากยังมีทิศทางบินเข้ามาอีกที่ระยะ 50 NM จากแนวชายแดน จะต้องสั่งการให้เครื่องบินบินขึ้นไปสกัดกั้นในทันที

แต่นี่คือสิ่งที่เราไม่ได้เห็นจากเหตุการณ์ในวันนั้น เมื่อ MIG-29 ลำนั้นกลับสามารถล่วงล้ำเข้ามาในเขตแสดงตนได้ถึง 4 รอบ กินเวลานานถึง 15 นาทีจนกระทั่งหายไปจากจอเรดาร์ กว่าที่เครื่องบิน F-16 จากฝั่งไทยจะมาถึงและเริ่มต้นการลาดตระเวน

นำไปสู่คำถาม ว่านี่เป็นเหตุสุดวิสัยจริงหรือไม่? หรือเป็นความไม่พร้อมของกองทัพอากาศในการปฏิบัติตามแนวทางที่มีอยู่?

หรือว่านี่จะเป็นการหลับตาข้างหนึ่ง รู้เห็นเป็นใจให้เครื่องบินรบเมียนมาใช้อาณาเขตไทยในการถล่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาล? เป็นการอนุญาตอย่างไม่เป็นทางการให้เพื่อนบ้านเผด็จการ สามารถใช้ “สนามหญ้าหน้าบ้าน” ของเรา เป็น “สนามเด็กเล่น” ของตัวเองได้อย่างนั้นหรือไม่?

แม้แต่นักธุรกิจไทยในเมียนมายังปกป้องไม่ได้

ไม่ใช่แค่คนไทยตามแนวชายแดนเท่านั้นที่ต้องกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้แต่คนไทยที่ข้ามไปทำธุรกิจที่ฝั่งเมียนมาตั้งแต่ยุคเปิดประเทศใหม่ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน

ปดิภัทธ์อภิปรายต่อเนื่องถึงกรณีของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และพนักงานคนไทย ที่เริ่มเข้าไปตั้งรกรากทำธุรกิจในย่างกุ้งตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วหลังการเปิดประเทศ ซึ่งได้มาถ่ายทอดเรื่องราวให้เขามาเล่าต่อในสภาผ่านการอภิปรายครั้งนี้

หลังการเปิดประเทศ เมียนมาได้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยมากเป็นอันดับสองรองจากประเทศจีน และคนไทยจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าไปลงทุนในทั้งภาคอุตสาหกรรม การค้า ก่อสร้าง กิจการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ในเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง

แต่หลังการรัฐประหารในปี 2021 คนไทยในเมียนมาต้องพบกับการกีดกันจากรัฐบาลเผด็จการทหารชุดใหม่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการระงับวีซ่า ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ยกเลิกการรขอวีซ่าสำหรับคนไทยไปแล้ว,  การไม่สามารถถอนเงินสดออกมาได้นอกจากจะจ่าย “เงินพิเศษ” ให้กับเจ้าหน้าที่, การถูกรีดไถส่วยและสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกระดับ และการออกระเบียบ กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิและธุรกิจของคนไทยจำนวนหนึ่ง เช่น การไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าเครื่องดื่มยกเว้นทางเรือและอากาศ,  ประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าสบู่ ผงซักฟอก และยาสีฟัน ด้วยบัตรการค้าเฉพาะบุคคล, การระงับการออกใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นการชั่วคราวทางชายแดนและทางเรือ ฯลฯ

ส่งผลให้กิจการของคนไทยในเมียนมาปิดตัวทยอยกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่า 50% โดยไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเลย 

นักธุรกิจไทยกลุ่มนี้ ยังเล่าให้ปดิพัทธ์ฟังอีก ว่าทุกวันนี้ มีแต่เพียงกิจการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์และผลประโยชน์ให้กับเผด็จการทหารเท่านั้น ที่ยังคงดำเนินธุรกิจในเมียนมาต่อไปได้ ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแทบจะไม่สามารถประกอบการอะไรได้เลยหากสายป่านไม่ยาวมากพอ

นโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐไทย: จากการโอบรับสู่การผลักไส

ชะตากรรมของคนไทยที่ริมชายแดนเมียนมา รวมถึงคนไทยที่เข้าไปประกอบการในเมียนมา เรียกได้ว่าน่าอเนจอนาถแล้ว แต่หากเรามองข้ามพรมแดนไปเห็นชะตากรรมของชาวเมียนมาฝั่งโน้น เราจะเห็นความน่าเศร้าเป็นทวีคูณ

หลังการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยนายพล มิน อ่อง หล่าย การประท้วงของประชาชนชาวเมียนมาเกิดขึ้นทั่วประเทศ พร้อมกับการปราบปรามอย่างรุนแรง ตามมาด้วยสงครามระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังต่อต้านรัฐบาล ที่นำมาซึ่งผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นจำนวนมากที่ต้องการหนีภัยเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะการข้ามมายังฝั่งประเทศไทย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น หลังการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 8888 หรือการปะทะสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นหลายระลอกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยสงครามจำนวนมากก็ได้ข้ามฟากมาพึ่งพิงขอความช่วยเหลือในฝั่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยมีองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากคอยให้ความช่วยเหลือรองรับร่วมกับรัฐบาลไทย

เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ว่าเมื่อสถานการณ์ผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้น องค์กรระหว่างประเทศอย่าง UNHCR จะประสานงานกับรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือ ด้วยทรัพยากรของ UNHCR เองเป็นหลัก โดยใช้ทรัพยากรของรัฐบาลไทยในปริมาณที่น้อยมาก

การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่อย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจผิดๆ กันมาตลอด ว่าเป็นการมาเปลืองข้าวเปลืองน้ำของประเทศไทย และไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองเคยไล่ให้คนที่เห็นอกเห็นใจผู้ลี้ภัย “รับไปเลี้ยงไว้สักสองสามครอกไหมล่ะ?”เลยแม้แต่น้อย เพราะแทบทุกอย่างใช้ทรัพยากรจากองค์กรระหว่างประเทศในการดูแลพวกเขาอยู่แล้ว ยกเว้นแต่เพียงพื้นที่และบุคลากรจำนวนเล็กน้อยเท่าั้น

ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยขึ้น การที่ประเทศไทยจะโอบรับให้การช่วยเหลือพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลทั้งทางมนุษยธรรมและในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง การผลักดันไม่ให้ผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยข้ามมาต่างหาก จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและไร้มนุษยธรรม

ในอดีตเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว มาจนถึงก่อนการขึ้นมาของรัฐบาลจากการรัฐประหาร ทุกครั้งที่สถานการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากฝั่งเมียนมา ประเทศไทยมักจะเปิดรับผู้หนีภัยสงคราม และอำนวยความสะดวกให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาให้การช่วยเหลือเสมอ จนเกิดค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนภายใต้การสนับสนุนจาก UN จำนวนหนึ่ง ที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

แต่การผลักดันและปฏิเสธให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัย กลับกำลังกลายเป็นนโยบายหลักภายใต้การนำของประยุทธ์และพันธมิตรกลุ่มคลั่งชาติ ผู้มักจะอ้างอยู่เสมอด้วยเหตุผลด้านทรัพยากรและความมั่นคง ทั้งๆ ที่พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร

เหตุสู้รบที่เกิดขึ้นในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดคลื่นผู้หนีภัยสงครามจำนวนมากที่โยกย้ายมาจากบนแผ่นดินฝั่งเมียนมา แต่ต้องมาติดอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนื่องจากกองทัพไทยไม่ยอมให้ผู้ลี้ภัยข้ามมาได้ สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือการอยู่ให้ใกล้ชายแดนไทยห่างจากการสู้รบให้มากที่สุด โดยปราศจากทั้งชายคาอยู่อาศัย อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นในชีวิตอื่นๆ


ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือท่ามกลางความขาดแคลนเหล่านี้ ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ทั้ง UNICEF,  UNHCR และองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากที่ได้รับบริจาคสิ่งของจำเป็นมา แทบจะไม่สามารถเข้าถึงเพื่อส่งข้าวส่งน้ำให้กับผู้หนีภัยสงครามเหล่านี้ได้เลย เพราะมักจะถูกปฏิเสธโดยกองทัพไทยเสมอ

ไม่ใช่แค่ผู้หนีภัยสงครามเท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมของการผลักดัน แม้แต่ผู้ลี้ภัยการเมืองก็ถูกนโยบายผลักดันนี้ด้วย ภายใต้หน้าฉากของการจัดการปัญหา “ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”

ผู้ลี้ภัยการเมืองโดยส่วนมาก จะแตกต่างจากผู้หนีภัยสงคราม ตรงที่พวกเขาคือเป้าหมายโดยตรงของเผด็จการทหารเมียนมา มีรายชื่อ ถูกล็อกเป้า โดนหมายหัว จนไม่สามารถอยู่ในเมียนมาต่อไปได้ มิเช่นนั้นจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี หรือกระทั่งถูกประหารชีวิตทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ปดิพัทธ์ได้ยกส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ที่ทีมงานพรรคก้าวไกลได้ไปสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของพรรค NLD โดยเธอเล่าให้ฟังว่าเธอต้องหนีมาอยู่ในฝั่งประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเธอไม่มีทางเลือกอื่น โดยที่ประเทศไทยก็ไม่มีนโยบายที่จะรองรับผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างพวกเธอ หากถูกทางการไทยจับได้ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องถูกส่งตัวกลับเมียนมา โดยไม่มีการคัดกรองว่าเธอเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ แต่ทุกคนจะถูกตีความเหมารวมหมด ว่าเป็นผู้ “ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”

เธอยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ทุกครั้งที่มีคนถูกจับ เจ้าหน้าที่จะไถเงินก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่มีเงินมาให้ก็จะเอาตัวไปขังไว้ รอให้เพื่อนๆ หรือคนที่ช่วยเหลือเรื่องเงินได้ หาเงินมา “ประกันตัว” พวกเขาออกมา แต่หากในที่สุดแล้วยังหาเงินมาช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้ พวกเขาก็จะต้องถูกส่งตัวกลับไปยังเมียนมาทันที กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ไทยกอบโกยจากความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมโลกได้อีก


นโยบายโอบรับเผด็จการทหารเมียนมา: ความอัปยศต่อประชาคมโลก

นโยบายของไทยภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ต่อผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยการเมืองจากเมียนมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ทั้งที่ประเทศไทยในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเสมอมา

แต่ไม่ใช่แค่นโยบายของรัฐไทยต่อผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยการเมืองจากเมียนมาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป นโยบายต่อเผด็จการทหารเมียนมา ที่เคยมีลักษณะสร้างสมดุล ไม่เข้าข้างแต่ก็ไม่ต่อต้านจนเกินไป ก็ยังเปลี่ยนไปด้วยภายใต้รัฐบาลประยุทธ์

สิ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือในขณะที่รัฐบาลและกองทัพปฏิเสธผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยการเมืองจากเมียนมาโดยสิ้นเชิง เรากลับได้เห็นภาพของนายทหารจากฝั่งไทยที่ตั้งโต๊ะพบปะพูดคุยกับนายทหารเมียนมาอย่างเป็นกันเอง การส่งเสบียงให้กองทัพเมียนมา และการทำลายสะพานไม้ที่ผู้หนีภัยสงครามใช้ 


จากการตอบรับผู้ลี้ภัยมาเป็นการผลักไสและสกัดขัดขวาง 

จากการสงวนท่าทีต่อเผด็จการทหารเมียนมากลายมาเป็นการโอบรับอย่างเป็นมิตร

นี่คือสิ่งที่ชาวโลกและองค์กรระหว่างประเทศต่างสัมผัสได้ ว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหนต่อความสัมพันธ์กับเมียนมา ซึ่งนอกจากจะสร้างความอัปยศอับอายไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการแสดงออกที่ไร้มนุษยธรรม ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

นั่นคือหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) ที่ปรากฏในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วย ระบุว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน 

ซึ่งหลักการนี้มีสถานะเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายบังคับเด็ดขาด หากไม่ปฏิบัติตามอาจก่อให้เกิดความรับผิดชอบของรัฐในทางกฎหมายระหว่างประเทศได้ และยังสามารถถูกตรวจสอบได้โดยกลไกระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ Universal Periodic Review (UPR) ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) อีกด้วย

แต่ประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ก็หาได้นำพาไม่ และยังมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไล่เรียงเป็นลำดับได้ดังนี้: 

10 ก.พ. 64 เพียง 10 วันหลังการรัฐประหารในเมียนมา ประยุทธ์เปิดเผยว่า มิน อ่อง หล่าย ได้ส่งจดหมายมาหาเพื่อชี้แจงเหตุผลในการรัฐประหาร โดยประยุทธ์พูดกับสื่อชัดเจนว่า

“ผมสนับสนุนอยู่แล้ว ในเรื่องบริหารและจัดการภายในก็เป็นเรื่องของท่าน ก็ยึดตามหลักอาเซียน”

ซึ่งความน่าตลกของเรื่องนี้ คือในขณะที่ประยุทธ์อ้างถึง “หลักอาเซียน” แต่ในเวลาเดียวกัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้หารือที่จะคว่ำบาตรการขายอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมกับแสดงความห่วงใยในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 

22 ก.พ. 64 รัฐบาลไทยเชิญ วันนา หม่อง ลวิน ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา มาเยือนประเทศไทย

20 มี.ค. 64 มีการรายงานว่าพบรถบรรทุก 3 คัน จาก อ.แม่สอด จ.ตาก นำข้าวสารมาถึงที่บ้านแม่สามแลบ นำใส่รถกระบะขนมายังจุดผ่อนปรนเตรียมส่งข้ามไปฝั่งเมียนมา

24 มี.ค. 64 ประยุทธ์ไม่ยอมไปปรากฏตัวในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นวาระพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะ 

30 มี.ค. 64 กองทัพปฏิเสธผู้อพยพลี้ภัย 2,000 คน พร้อมผลักดันให้กลับไปที่ฝั่งเมียนมา 

14 พ.ย. 64 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเมียนมา นำของบริจาค 17 ตันให้พร้อมหารือกับ มิน อ่อง หล่าย  โดยอ้างเรื่องการช่วยเหลือสถานการณ์โควิด

24 พ.ย. 64 ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญให้ประชุมสุดยอดประชาธิปไตย

18 มิ.ย. 64 ไทยงดออกเสียงในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในมติการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กับเมียนมา 

ปดิพัทธ์ยังได้ยกถ้อยคำที่สื่อนิกเกอิ ได้สัมภาษณ์ มิน อ่อง หล่าย ซึ่งระบุอย่างชัดเจน ว่าที่เขาตัดสินใจก่อการรัฐประหาร ก็ด้วยพิจารณาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในฝั่งไทย

หรืออีกนัยหนึ่ง นั่นแปลความหมายได้อย่างชัดเจนว่า มิน อ่อง หล่าย มีความมั่นใจอย่างเต็มที่ ว่าถ้าเขาทำรัฐประหาร จะมั่นใจได้แน่นอนว่าประยุทธ์และรัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่แน่นอน

“เรื่องทั้งหมดที่ผมอภิปรายมานี้ ไม่ใช่เรื่องของประเทศไทย กับประเทศเมียนมา แต่เป็นเรื่องของเผด็จการฝาแฝดของอาเซียน นายพลมิน อ่อง หล่าย กับเพื่อนแท้คนเดียวในอาเซียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝาแฝดที่ถอดรูปแบบมาเหมือนกัน ก่อการกบฏรัฐประหารเหมือนกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย เดินตามรอยกันในการเขียนรัฐธรรมนูญ และสืบทอดอำนาจด้วยการเลือกตั้ง”


“ผู้แทนพิเศษด้านเมียนมา”: ล็อบบี้ยิสต์ผู้อื้อฉาว และความอัปยศซ้ำอัปยศของไทยในเวทีโลก

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น ที่ปดิพัทธ์ยกขึ้นมาให้เราเห็นระหว่างการอภิปรายในครั้งนี้ คือนอกจากการที่รัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต่อผู้ลี้ภัยและเผด็จการทหารเมียนมาไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังมีการกำหนดบทบาทให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ ผ่านบุคคลที่มีประวัติฉาวโฉ่ จนกลายเป็นความอัปยศซ้ำอัปยศเข้าไปอีก

ในกรณีนี้ ก็คือการแต่งตั้ง “พรพิมล กาญจนลักษณ์” หรือ “พอลลีน” เป็นผู้แทนพิเศษด้านเมียนมา 

พอลลีนไม่ใช่นักการทูตมืออาชีพที่มีฝีไม้ลายมือในการทำหน้าที่ที่กระทรวงการต่างประเทศมาอย่างโชกโชนแต่อย่างใด แต่เธอคือล็อบบี้ยิสต์ ที่เคยมีบทบาทในการหอบเงินมามอบให้กับพรรคเดโมแครตอย่างผิดกฎหมาย เพื่อให้นำเจ้าสัวใหญ่ตระกูลหนึ่งจากประเทศไทย เข้าพบประธานาธิบดี บิล คลินตัน ในปี 1996 เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนนโยบายการค้ากับรัฐบาลจีน ดังที่มีการรายงานในเอกสารของสภาคองเกรสถึงกรณีการแทรกซึมของอิทธิพลจีนในสหรัฐอเมริกา


แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่โด่งดังที่สุดของเธอ เพราะจากกรณีการล็อบบี้ครั้งนี้เอง ที่ทำให้พอลลีนเคยต้องโทษคดีบริจาคเงินผิดกฎหมายให้กับพรรคเดโมแครต ถูกตัดสินว่ามีความผิด ให้รอลงอาญา 3 ปีที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้เงื่อนไขให้คุมขังในเคหสถานเป็นเวลา 6 เดือน พร้อมติดกำไลติดตามตัว

หลังจากการแต่งตั้งพรพิมลเป็นผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาไม่นานนัก เธอก็ได้แสดงบทบาทเป็น “ผู้แทน” ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศแทบจะในทันที เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ระหว่างการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคง “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเข้าร่วมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้นำทหารของประเทศเอเชียแปซิฟิก 28 ประเทศ โดยการประชุมในครั้งนั้น มีการหารือกันเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาด้วย

ในเวลาเดียวกันกับที่อาเซียนและประชาคมโลกกำลังหารือมาตรการคว่ำบาตรบริษัทที่ขายอาวุธให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ผู้แทนไทยในเวทีโลกคนนี้กลับขึ้นกล่าวปกป้องรัฐบาลเผด็จการเมียนมาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เชียร์ให้ชาวโลกเชื่อมั่นในรัฐบาลทหารเมียนมา


การที่ประยุทธ์แต่งตั้งคนที่มีประวัติฉาวโฉ่พรรค์นี้มาเป็นผู้แทนพิเศษด้านเมียนมา จึงนำไปสู่คำถามว่าเธอมีความเหมาะสมอย่างไรที่จะมาเป็น “ผู้แทนพิเศษ” ของประเทศไทย? หรือเป็นเพราะรัฐบาลต้องการทักษะพิเศษของเธอด้านการ “ล็อบบี้” มากกว่าหรือไม่ และเธอมาครั้งนี้เพื่อการล็อบบี้ให้กับใคร เพื่ออะไรกันแน่?

“สรุปนโยบายต่างประเทศของไทยต่อเมียนมา คือไร้นโยบาย แต่มีเพียงเป้าหมายเดียว คือให้นายพลของทั้งสองประเทศอยู่ในตำแหน่งต่อไปให้ได้นานที่สุด กอบโกยความมั่งคั่งให้มากที่สุด วางรากฐานเพื่อสืบทอดอำนาจให้ได้ลึกที่สุด ไม่สนมนุษยธรรม ไม่สนเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไม่สนเรื่องสมการความขัดแย้งในโลก ฝาแฝดเผด็จการของอาเซียน ประยุทธ์ มิน อ่อง หล่าย จะต้องอยู่ต่อไปให้ได้”


จากหัวหอกประชาธิปไตยในภูมิภาคสู่ตัวตลกของอาเซียน: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

แน่นอนว่าเราทุกคนรู้กันดีอยู่ ว่าฐานะของรัฐบาลประยุทธ์ในเวทีโลกเป็นที่น่าอเนจอนาถเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประยุทธ์ได้นำพาประเทศไทยมาสู๋จุดตกต่ำด้วยการสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเช่นนี้

ไม่ต้องเปรียบเทียบกับที่ไหนไกล ในบรรดาผู้นำอาเซียนด้วยกันเอง ผู้ที่มีบทบาทในเวทีโลกอย่างน่าสนใจขณะนี้ ก็คือ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ใช้บทบาทประธานกลุ่มประเทศ G20 ในการเยือนพบผู้นำยูเครน และผู้นำรัสเซีย เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตความมั่นคงทางอาหารจากการที่รัสเซียปิดเส้นทางส่งออกสินค้าทางการเกษตรและปุ๋ยของยูเครน และหารือแนวทางยุติสงครามระหว่าง 2 ประเทศ


ซึ่งเมื่อเทียบกับประยุทธ์แล้ว จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศใดๆ นอกจากการให้ทูตไทยเดินสายแก้ต่างการรัฐประหาร อธิบายว่าเหตุใดจึงไม่เลือกตั้งเสียที จนมาสู่ยุครัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2562 ประเทศไทยก็ยังไม่มียุทธศาสตร์ใดๆ ในด้านการต่างประเทศ หรือมีบทบาทในแบบเดียวกันกับวิโดโดได้เลย

ยังไม่นับรวมกับการที่ประยุทธ์ เมื่อได้ไปเยือนต่างประเทศทุกครั้ง มักจะกลายเป็นตัวตลกที่มีภาษากายและกิริยาที่ดูไม่สง่างาม อึกอักทำอะไรไม่ถูก ขณะที่ภาษากายจากผู้นำต่างประเทศที่มีต่อประยุทธ์เองก็มักจะสั้น กระชับ รวดเร็วแบบให้ผ่านๆ ไปพอเป็นพิธี ไม่มีสัญญะใดๆ ในทางการทูตที่แสดงถึงความเป็นมิตรภาพแบบใกล้ชิด หรือความอยากคบหาสมาคม มีเรื่องให้พูดคุยกันอย่างจริงจังให้เห็นแม้แต่น้อย


ทำให้การต่างประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ กลายเป็นทศวรรษแห่งความสูญเปล่าทางการต่างประเทศของไทยอย่างแท้จริง

ปดิพัทธ์ได้อภิปรายให้แง่คิดต่อ ว่าความจริงแล้ว วิกฤตการณ์ในเมียนมาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ สามารถพลิกกลับมาเป็นโอกาสให้ไทยมีบทบาทในเวทีโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี 

ไทยมีเหตุผลทุกประการที่จะมีบทบาทหลักในการคลี่คลายสถานการณ์และแสวงหาสันติภาพในเมียนมา ทั้งด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ การมีประชากรแรงงานจากเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายแสนคน เศรษฐกิจชายแดนเมียนมาที่มีมูลค่าปีละเกือบสองแสนล้านบาท และความนับถือส่วนตัวระหว่างผู้นำสองประเทศ 


ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่พร้อมสรรพ เป็นช่องทางให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทนำในประชาคมอาเซียนเรื่องเมียนมาได้ แต่ทว่าจากท่าทีในการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไทยได้สูญเสียสถานะความเป็น “คนกลาง” ในการมีบทบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในยุคสมัยหนึ่ง ประเทศไทยเคยมีฐานะสำคัญทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการเป็นสปริงบอร์ดสำหรับนักลงทุน เพื่อส่งสินค้าไปกระจายต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอดีตอันเคยรุ่งเรืองนั้น ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว

ภาพของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ที่อาศัยช่องทางเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาล ที่ปรากฏตามข่าวให้เห็นตลอดเวลา ว่าสมัยนี้ข้ามหัวประเทศไทยไปสู่เวียดนามบ้าง อินโดนีเซียบ้าง คือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในฐานะที่เนื้อหอม มีแต่คนต้องมาง้อเหมือนแต่ก่อนแล้ว

การแก้ไขสถานะของไทยในเวทีโลก จากวิกฤติที่รัฐบาลประยุทธ์สร้างขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไทยจะต้องเข้าร่วมกับนานาชาติในการประกาศตัวเป็นศัตรูกับเมียนมา หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเวทีการเมืองโลก แต่ทั้งหมดคือเรื่องของการสร้าง “สมดุล”

ที่ผ่านมาประเทศไทยไทยดำรงตนอยู่รอดพ้นสงครามโลกสองครั้งและสงครามเย็นมาได้ ก็ด้วยการเล่นเกมอย่างชาญฉลาดกับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเลือกข้างเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูแบบที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

จากสถานการณ์ในเมียนมา ประเทศไทยย่อมสามารถใช้เป็นโอกาส ในการมีบทบาทในเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมสันติภาพในฐานะคนกลางของเมียนมา เรียกร้องต่อรัฐบาลเมียนมาให้เคารพสิทธิมนุษยชนในฐานะผู้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โอบรับมนุษยธรรมด้วยการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ให้ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศได้

มหาอำนาจล้วนต้องการให้สงครามกลางเมืองในเมียนมายุติลงด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยความกังวลต่อแหล่งพลังงานธรรมชาติ การลงทุนที่ต่อเนื่อง เหตุผลด้านมนุษยธรรม ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้สถานการณ์เช่นนี้ในการประสานแก้ไขปัญหา พบกับผู้นำของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็น มิน อ่อง หล่าย กองทัพประชาชน หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ประเทศไทยสามารถมีไพ่ต่อรองในมือหลายใบ สำหรับใช้กับหลากหลายประเทศและกลุ่มต่างๆ ได้

แต่สิ่งที่ประยุทธ์ทำกลับเป็นการเลือกเดินหมากในการอุ้มชู มิน อ่อง หล่าย ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้การเดินหน้าต่อเพื่อสร้างสมดุล กดดัน และเจรจา กับทั้งเมียนมาและประเทศมหาอำนาจต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ไร้ฐานะนำใดๆ  ให้ประเทศไทยได้เปรียบในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเลย

การเดินเกมแบบเสียเปรียบที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมิใช่หรือ ที่ทำให้ประเทศไทยไร้ซึ่งปากเสียงในเวทีโลก จนประเทศมหาอำนาจจะเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งเท่าไหร่ก็ได้ ให้ซื้อเรือดำน้ำด้วยดีลแบบไร้แม้กระทั่งเครื่องยนต์ก็ได้ นำวัคซีนมาทดลองกับคนไทยก็ได้ มายึดครองตลาดกิจการค้าปลีกไปจนถึงโรงแรมในไทยก็ได้ ขอให้ประเคนที่ดินของคนไทยให้อย่างไรก็ได้?

“นโยบายต่างประเทศแบบไม่มีนโยบาย ตีมึนไม่รู้ไม่ชี้ คนไทยโดนลูกหลงตายก็ไม่เป็นไร เครื่องบินรบเมียนมาเข้ามายิงในน่านฟ้าไทยก็ไม่เป็นไร ถูกประชาคมโลกกดดันในท่าทีเรื่องเมียนมาก็ไม่เป็นไร เพราะนโยบายมีอย่างเดียว เพื่อนแท้เผด็จการฝาแฝด ประยุทธ์ มิน อ่อง หล่าย จะต้องอยู่ต่อไป”



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 21 กรกฎาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า