free geoip

‘ตั๋วช้าง’ ภาค 2 ฉายแล้ววันนี้ ทำไม ‘ประยุทธ์’ ยอมควักงบกลาง 937 ล้าน อุ้ม พล.ต.ต. กำพล



‘ตั๋วช้าง’ คือรูปธรรมของโครงสร้างตำรวจไทยภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล สตช. แต่กลับปล่อยปละละเลย ปกป้องคนผิด ปกปิดการประพฤติมิชอบ และขับไสไล่ส่งคนที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา จนลากวงการตำรวจและข้าราชการไทยไปสู่ก้นเหวอันมืดมิดไร้จุดจบ

ตั๋วช้างภาคแรก คือ การเปิดเผยเรื่องราวและการกระทำของบรรดาตำรวจเลวที่อ้างสถาบันแล้วได้ดี
ตั๋วช้างภาคสอง คือ ด้านตรงข้ามของคนไม่มีตั๋วและเป็นตำรวจดีกลับต้องลี้ภัย
ขณะที่ตั๋วช้างภาคนี้เป็นภาคต่อเนื่องที่จะฉายให้เห็นของรูปธรรมของ ‘ตั๋วช้าง’ อีกชนิดหนึ่ง ที่หากได้มาแล้ว ต่อให้เป็นตำรวจที่มากด้วยข้อครหาก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ดิบได้ดี เหมือนมีของคุ้มกะลาหัวให้ไม่มีใครเอาผิดได้




เปิดทุจริต ‘กองบินตำรวจ’

คดีนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับ พล.ต.ต.ก ไก่ หรือ กำพล กุศลสถาพร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) โดยในปีงบประมาณ 2563 สตช. ได้รับงบประมาณสำหรับโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน อยู่ที่ 950 ล้านบาท มีการทำสัญญาว่าจ้าง การบินไทย ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ส่วนตัว พล.ต.ต.กำพล เมื่อหมดปีงบประมาณ 63 ตั้งแต่ 1 ตุลา 63 เป็นต้นมา ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ และย้ายออกจากกองบินตำรวจไปประจำอยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ

แต่ปรากฏว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงทำให้พบว่า กองบินตำรวจ ในระหว่างที่ พล.ต.ต.กำพล เป็นผู้บังคับการ ได้สั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าด้วยสามัญสำนึก เมื่อหน่วยงานต่างๆ รับงบประมาณมาเท่าไร ก็ควรที่จะใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบของงบที่ได้มา หรือตามกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ


ตรวจน้อย พังเร็ว หาเรื่องจัดซื้อมือเติบ

ในรายละเอียดการใช้จ่าย พบว่ามีการตั้งไว้งบประมาณเป็นค่าซ่อมถึง 520 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงเรื่องการตรวจซ่อมประจำวัน ตรวจเช็คก่อนและหลังบินทุกครั้งเพื่อให้อากาศยานอยู่ในสภาพพร้อมบิน แต่ปรากฏว่างบก้อนนี้ใช้จริงไปแค่ 71 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 14% เท่านั้น จึงหมายความว่าอาจไม่ได้ตรวจเช็คประจำวันเลย ในขณะที่เมื่อไปดูส่วนของค่าซื้ออะไหล่ ตามแผนตั้งไว้ 235 ล้านบาท แต่ใช้จ่ายจริงพุ่งไปถึง 764 ล้านบาท หรือเท่ากับ 324% จึงเป็นข้อสังเกตว่า มีความตั้งใจตรวจเช็คน้อยๆ ให้เครื่องพังเร็วๆ เพื่อหาเรื่องซื้อของมาเยอะๆ เพราะการหากินจากงานซื้ออาจทำได้ง่ายกว่ากินจากงานซ่อม

เมื่อไปดูต่อในงบทั้งก้อนที่เกินมาทั้ง 2,774 ล้านบาท ปรากฏว่ามีการใช้จ่ายเป็นของไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซ่อมเครื่องบินเลยถึง 784 ล้านบาท เช่นซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท ซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท ที่หนักกว่านั้นคือรายการที่ตั้งชื่อว่า ‘ระบบไฟฟ้าไล่นก’ ที่ของจริงคือแค่ติดตาข่ายกันนกธรรมดาๆ ที่โรงเก็บเครื่องบิน แต่ใช้เงินไปถึงโรงละ 5 ล้านบาท รวม 7 โรง 35 ล้านบาท และนอกจากจะใช้เงินผิดประเภทแล้ว ยังน่าสงสัยว่าจะมีเงินทอนกันด้วย เพราะราคาตาข่ายตามที่ขายในอินเตอร์เน็ต คำนวณพื้นที่เท่าโรงเก็บเครื่องบินน่าจะอยู่แค่หลักแสนบาทต่อโรงเท่านั้น หรือต่อให้เป็นระบบไฟฟ้าไล่นกจริง ราคายังแค่หลักหมื่นต่อเครื่องเท่านั้น


การทุจริตลักษณะนี้ยังส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติราชการของกองบินตำรวจ เพราะเมื่อค้างหนี้ไม่มีเงินไปจ่ายให้การบินไทย จึงทำให้มีอะไหล่หลายชิ้นที่ส่งซ่อมไปแล้วยังไม่ถูกส่งกลับมา จนมีอากาศยานของกองบินตำรวจไม่สามารถใช้การได้อย่างน้อย 11 ลำ และยังทำให้การบินไทยไม่ยอมต่อสัญญาซ่อมเครื่องบินรอบใหม่ ตั้งแต่ตุลา 64 เป็นต้นมา เพิ่งมายอมเซ็นเมื่อ 30 มิถุนา 65 ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเครื่องบินของกองบินตำรวจตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ซ่อมแซมตามรอบที่ควรเป็น เพิ่มความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


วันที่ 25 มีนา 65 เฮลิคอปเตอร์ตำรวจรุ่น Bell 429 หมายเลข 3204 ตกกระแทกพื้นขณะลงจอดจนเสียหายทั้งลำ ซึ่งเมื่อดูในสัญญาจ้างการบินไทยซ่อมอากาศยาน พบว่า ฮ. ลำนี้เป็นหนึ่งในรายการที่การบินไทยต้องดูแลด้วย ตามข่าวระบุว่าเกิดจากลมแรง หรือสาเหตุจริงๆ เป็นเพราะเงินที่ควรเป็นค่าซ่อมถูกเอาไปใช้อย่างอื่นหมด หรือเป็นเพราะการบินไทยไม่ยอมเซ็นสัญญาซ่อมรอบใหม่ จนไม่ได้ตรวจซ่อมตามมาตรฐานที่ควรทำ โชคดีที่กรณีนี้ไม่มีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต


เตะถ่วงกระบวนการตรวจสอบ

ต่อมา เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ กลับมีลักษณะเหมือนถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้า และทำซ้ำไปมา โดยมีกระบวนการตรวจสอบครั้งแรก เริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ ผบ.ตร. สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2564 แต่กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2564 แต่ถึงแม้กระบวนการตรวจสอบโดยจเรตำรวจสิ้นสุด พล.ต.อ.ปิยะ รอง ผบ.ตร. กลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อีก หรือต่อมาเมื่อทางกองบินตำรวจทวงถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ และกว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริงๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าตั้งมาแล้วผ่านไปอีกหนึ่งเดือนก็ยังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวกรรมการไม่เลิก


‘ประยุทธ์’ รู้เรื่องดี ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

มีข้อสังเกตว่า ความไม่ปกติในกองบินตำรวจ เป็นเรื่องที่อยู่ในการรับรู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด เนื่องจาก สตช. ได้เริ่มทำหนังสือส่งมายัง ครม. เพื่อขอความช่วยเหลือเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 กันยา 64 และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เซ็นท้ายหนังสือ รับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แม้จะรู้ว่าความเสียหายจากการคอรัปชันครั้งนี้ รัฐอาจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ สูงสุดถึง 1,800 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรับทราบมาตั้งแต่แรก สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องทำคือ 1. ตามติดความคืบหน้าเกี่ยวกับการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐต้องมาเป็นผู้จ่ายหนี้ที่ไม่ควรต้องจ่าย และ 2. ติดตามการสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย


หลังจากการบินไทยแจ้งหนี้แล้ว วันที่ 7 ธันวา 64 กรมบังคับคดีได้ส่งหนังสือทวงหนี้มายัง สตช. โดยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย สตช. จะมีเวลาที่จะปฏิเสธหนี้ดังกล่าวภายใน 14 วัน และถ้าปฏิเสธไปแล้วเรื่องก็จะเข้ากระบวนการพิสูจน์จำนวนหนี้ที่แท้จริงต่อไป จึงโอกาสทองที่ทางตำรวจจะต่อสู้กลับไปว่าหนี้ก้อนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องมาจ่าย แต่ปรากฎว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. ท่านหนึ่ง ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. กลับแจ้งปฏิเสธหนี้ก้อนดังกล่าวเกินกำหนดเวลา 14 วันไปแล้ว


นั่นจึง ทำให้ สตช. ต้องกลายเป็นลูกหนี้เด็ดขาด และถูกศาลล้มละลายออกคำบังคับให้ต้องชดใช้หนี้แก่การบินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่รู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เหตุไฉนจึงได้หย่อนยาน ไม่ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองไม่ให้พลาดในจุดชี้เป็นชี้ตายที่ไม่ควรจะพลาดที่สุดแบบนี้ได้

ในเรื่องการติดตามเอาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ หากดูจากไทม์ไลน์ จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้เรื่องนี้เมื่อปลายเดือนกันยา 64 ก่อนที่จเรตำรวจรายงานผลการตรวจสอบต่อ ผบ.ตร. เสียอีก ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์คิดที่จะตามเช็คตามจี้สักนิด ไม่ปล่อยให้ไปตั้งคณะกรรมการเตะถ่วงกันต่อ ก็คงจะเอาตัวคนผิดมาร่วมชดใช้หนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และอาจช่วยให้ทางตำรวจสู้คดีจนรัฐไม่ต้องจ่ายเลยสักบาทได้ด้วยซ้ำ


แต่เมื่อไม่มีการเอาตัวคนผิดมารับผิดชอบและดำเนินการปฏิเสธหนี้อย่างล่าช้า ในที่สุดรัฐจึงยังต้องเป็นผู้ออกเงินจ่ายหนี้ให้กับการบินไทยถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตที่ลดลงจาก 1,824 ล้านเพราะก่อนหน้านี้ทางตำรวจไปขอต่อรองกับการบินไทยให้ยกเลิกรายการบางส่วนได้ และอีกเหตุหนึ่งอาจมาจากการบินไทยเองก็มีแผล เพราะเคยทำอะไหล่เครื่องยนต์ของกองบินตำรวจที่รับมาซ่อมหายไปบางส่วนด้วยเหมือนกัน และเมื่อต้องชำระหนี้ 937 ล้านบาท สุดท้ายหวยจึงมาลงที่ ‘งบกลาง’ โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภา 65 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้นำเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปจ่ายหนี้ก้อนนี้ และต่อมา 12 เมษา 65 ก็ผ่านขั้นตอนการอนุมัติโดย ครม. อีกทีหนึ่ง


ทั้งให้เงิน ทั้ง ‘ฟอกขาว’

สำหรับสภามีข้อสงสัยถึงการใช้ ‘งบกลาง’ มาตลอด เพราะเป็นหนึ่งในงบประมาณที่ก้อนใหญ่ที่สุดและแต่แทบไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะถูกนำไปใช้จริงอย่างไร ซึ่งเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในการตัดสินใจใช้งบกลางก้อนนี้ แต่จากเงินที่นึกกันว่าจะเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินอย่างเกิดภัยพิบัติ แต่กลับกลายเป็นเงินเผื่อว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ค่าโง่ แต่คือค่าแกล้งโง่ของคน 2 ฝ่ายที่ร่วมกันปล้นคนไทย ฝ่ายหนึ่งซื้อมือเติบทั้งที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจซื้อ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล ที่ควรเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ปกป้องเงินก้อนนี้ไว้ ก็ยินยอมพร้อมใจเปิดตู้เซฟหยิบเงินของประชาชนทั้งก้อนไปจ่ายให้ทั้งหมดด้วยมือของตัวเอง นี่คือการร่วมมือกันปล้นพี่น้องประชาชน


ยังมีที่ร้ายแรงไปกว่านั้น เพราะตามหนังสือที่ สตช. ทำถึง ครม. เพื่อของบกลาง พบว่า ยังมีการอนุมัติให้ สตช. สามารถก่อหนี้ผูกพันในส่วนที่เกินกว่างบประมาณปี 63 ด้วย โดยอ้าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ว่าเป็น “กรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน”

แต่การสั่งซื้อสั่งจ้าง ก่อหนี้ก้อนนี้ทำกันตั้งแต่ปีงบ 63 แล้วเพิ่งจะมาขออนุมัติเอาเมื่อ 2 ปีให้หลังในปีงบ 65 หลังจากศาลล้มละลายสั่งให้ใช้หนี้มาแล้ว หากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ทำไมจึงไม่รีบเอามาเข้า ครม.ตั้งแต่เมื่อปีงบ 63 ตอนที่มีการสั่งซื้อกันไปตั้งแต่แรก ความจำเป็นเร่งด่วนที่ว่าก็คือเพราะไปทุจริตจนเป็นหนี้ก้อนโต โดนบังคับจ่ายแล้ว เลยต้องมาบิดเบือนกฎหมายแบบมั่วๆ เท่านั้น




กินเหนือฟ้า ค้าอะไหล่กองบิน


การจ้างซ่อมเครื่องบินเกินงบไม่ใช่กรณีอื้อฉาวกรณีเดียวที่เกิดขึ้นกับกองบินตำรวจในยุคของ พล.ต.ต.กำพล แต่ยังมีกรณีการหาประโยชน์จากอะไหล่เครื่องบิดด้วย

เดือนกันยา 63 อีกไม่กี่วันก่อนที่ พล.ต.ต.กำพล จะย้ายออกจากกองบินตำรวจ มีการทำสัญญากับบริษัท Airwork Helicopter เพื่อแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้ว ไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด แต่การจะสั่งจำหน่ายแลกเปลี่ยนด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ตาม คำสั่ง ตร. ระบุว่าตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติได้ในวงเงิน ซึ่งหมายถึงราคาอะไหล่ที่จะเอาไปแลก ต้องไม่เกิน 5,000,000 บาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ก็ระบุไว้ว่าวงเงินต้องไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้น


แต่ของที่ พล.ต.ต.กำพล เอาไปแลกทั้งหมด 6,622 ชิ้น มูลค่าราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท แม้จะอ้างว่าเป็นของเสื่อมสภาพ แต่ตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ผิดอย่างแน่นอน แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คือใน 6 พันกว่าชิ้นนี้ ไม่ได้มีแค่เศษเหล็กเพราะยังพบว่ามีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย ซึ่งอะไหล่ที่ใส่เข้ามาทีหลังนี้ยังใช้งานได้ทั้งหมด


ต่อมา เมื่อไปสำรวจราคาตลาดกับผู้จำหน่ายรายต่างๆ พบว่าเครื่องยนต์อะไหล่ดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 111 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าบริษัทคู่สัญญาตีราคาเศษเหล็กกับเครื่องยนต์ ยำรวมกันในราคาแค่ 2.5 ล้านบาทเท่านั้น เครื่องบิน 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์อีก 3 ลำ จึงแปรสภาพกลายเป็นแค่ใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ 2 ชุด ซึ่งเป้าหมายที่ต้องการจริงๆของการแลกเปลี่ยนนี้ ไม่ใช่เศษเหล็ก 6 พันกว่าชิ้น แต่คืออะไหล่จาก Skyvan และ Bell ที่ยังใช้งานได้ดี เพื่อฮั้วกันให้ได้มาในราคาถูกแบบยิ่งกว่าล้างสต๊อก

เรื่องนี้ก็มีการตรวจสอบภายในกองบินตำรวจมาตั้งแต่เดือนมกรา 64 ไล่เลี่ยกันกับเรื่องจ้างซ่อมเครื่องบิน ก็มีกระบวนการเตะถ่วงในลักษณะเดียวกัน โดยมี รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย คนเดิม เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการก็สั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่อีกรอบ



ใครคือ พล.ต.ต.กำพล


เพราะอะไร ?

ทำไมต้องมีความพยายามจะเตะถ่วงกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคดี พล.ต.ต.กำพล เข้าไปเกี่ยวข้อง ?
และทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ กลับไม่มีความพยายามที่จะทำอะไรสักอย่างกับผู้ต้องสงสัยรายสำคัญคนนี้ แม้กระทั่งว่าจะดำเนินการให้มีการพักงานผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังไม่มีแม้แต่น้อย


วันที่ 19 พฤษภา 65 ยังคงพบชื่อ พล.ต.ต.กำพล ในตำแหน่ง ผอ.ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ. เดโชชัย 5 ปฏิบัติงานตามปกติ และยังคงสั่งการกองบินตำรวจให้เอาคนของกองบินฯ มาช่วยปฏิบัติงานธุรการ นั่นจึงหมายความว่า แม้จะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีกรณีการทุจริตเกิดขึ้นจะเป็นที่รับรู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังปล่อยให้นายตำรวจคนนี้ใช้อำนาจสั่งการคนอื่นๆ ได้ราวกับว่าตัวเองไม่เคยมีเรื่องมัวหมองอะไรใดๆ เกิดขึ้น


หนึ่งประเด็นที่สำคัญที่ต้องสืบต่อ นั่นคือเมื่อ พล.ต.ต. กำพล ถูกย้ายไปอยู่นอกกองบินตำรวจตั้งแต่ตุลา 63 แต่ทำไมจึงยังสั่งการกองบินตำรวจได้อีก และอีกประเด็นหนึ่งคือ ตำแหน่ง ผอ.ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ. เดโชชัย 5 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ศูนย์เดโชชัย 5” ศูนย์นี้คืออะไร? อยู่ตรงไหนในโครงสร้างตำรวจ? เพราะนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่จะให้คำตอบได้ว่า ทำไมกระบวนการตรวจสอบ พล.ต.ต.กำพล จึงได้หย่อนยานตลอดเวลาที่ผ่านมา




เอกสารแผนรักษาความปลอดภัยขบวน ฮ. เซ็นอนุมัติไว้ท้ายเอกสารโดย พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ระบุถึงการจัดตั้ง ศูนย์เดโชชัย 5 ชื่อเต็มๆ คือ “ศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ” โดยมีอำนาจสั่งการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการจัดเฮลิคอปเตอร์ถวายแด่สมเด็จพระเทพฯ และยังกำหนดให้กองบินตำรวจ ต้องคอยรับผิดชอบและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมาจาก ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฯ ซึ่งก็คือ พล.ต.ต.กำพล

ปกติที่ผ่านมา กองบินตำรวจเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานการเสด็จพระราชดำเนินอยู่แล้ว โดยตำแหน่งผู้การกองบินตำรวจจะรับหน้าที่ ผอ.การเดินทางถวาย ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งที่ผ่านมากองบินตำรวจก็ดำเนินการกันเช่นนี้โดยที่ไม่ต้องมีการตั้งศูนย์อะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งแผนรักษาความปลอดภัยขบวน ฮ.นี้ ระบุวันที่ 17 พฤศจิกา 63 หลัง พล.ต.ต.กำพล ย้ายออกจากกองบินตำรวจแค่ 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น ทำให้มีข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วแผนนี้ ดูเหมือนทำขึ้นเพื่อรองรับ พล.ต.ต.กำพล ให้มีที่ทางบางอย่างหลังพ้นตำแหน่งผู้การกองบินตำรวจเป็นการเฉพาะ ซึ่งพล.ต.ท.สุทิน ผู้เซ็นแผนดังกล่าวเองก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต.ต.กำพล


หนึ่งในข้อสังเกตที่สำคัญคือ ศูนย์เดโชชัย 5 ที่ตั้งขึ้นใหม่ ไม่สามารถระบุได้ว่าตั้งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใดและ ทำไมจึงมามีอำนาจมอบหมายงานให้กับกองบินตำรวจได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แบ่งโครงสร้างองค์กร วางสายการบังคับบัญชาไว้ชัดเจนแล้ว ให้กองบินตำรวจขึ้นตรงต่อสำนักงาน ผบ.ตร. จึงเป็นคำถามว่าจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการนี้ขึ้นมาให้อยู่เหนือกองบินตำรวจอีกได้อย่างไร และในกฎหมายแบ่งส่วนราชการของ สตช. ก็ไม่มีชื่อศูนย์นี้ระบุไว้ด้วย จึงเป็นคำถามว่าศูนย์นี้คือศูนย์เถื่อนหรือไม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ที่คุมตำรวจ ปล่อยให้เกิดความเละเทะแบบนี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ การให้ พล.ต.ต.กำพล ที่ตัวไปอยู่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจแล้ว แต่ยังมีอำนาจสั่งการกองบินตำรวจได้อีก ทั้งที่สองหน่วยงานนี้ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน อาจเป็นการเปิดช่องให้ พล.ต.ต.กำพล สามารถเข้าไปกดดันพยานปากสำคัญในการสอบสวน หรืออาจไปทำลายหลักฐานสำคัญบางอย่างที่ยังไม่ถูกเปิดเผยก็ได้


เปิด ‘ตั๋วช้าง’ ประเภทใหม่ ใครได้มาเหมือนมีของดีคุ้มกะลาหัว

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นความพยายามของ พล.ต.ต.กำพล ในการใช้สถาบันเบื้องสูงมาเป็นเกราะกำบังปัญหาของตัวเองไม่ให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ

วันที่ 5 ตุลา 63 มีหนังสือออกมาจากสำนัก Royal Palace ระบุว่า ก่อนหน้านี้ วันที่ 25 กันยา 63 พล.ต.ต.กำพล ทำหนังสือในนามกองบินตำรวจ ว่าตัวเอง ณ ตอนนั้นเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย แต่กำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่นแล้ว ถ้ามีพระประสงค์จะให้ปฏิบัติงานถวายต่อ จักได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นการทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ ต่อมาหนังสือนี้จึงตอบกลับมาว่า ได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะและผู้อำนวยการเดินทางถวายต่อไป ลงชื่อท้ายหนังสือ คุณหญิง อ.อ่าง ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ

ดาวน์โหลดตั๋วช้างที่นี่

หนังสือดังกล่าวจึงเป็นลักษณะของตั๋วอีกประเภท และอาจที่เป็นที่มาของคำตอบว่า ทำไมกระบวนการสืบสวนสอบสวน พล.ต.ต.กำพลจึงได้ล่าช้า เตะถ่วงกันไปมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ กลับปล่อยปละละเลยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไปกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด นั่นคือไปขอให้สถาบันมาข้องเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง แล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือคุ้มกะลาหัวป้องกันไม่ให้คนอื่นกล้ามาตรวจสอบเรื่องมัวหมองในอดีตของตัวเอง และทำมาแล้วเกือบ 2 ปีเต็มๆ


การออกตั๋วช้างครั้งนี้ นอกจากใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลอยนวลพ้นผิดแล้ว ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง 2 ประการประการแรก คือการเอาตำแหน่ง ผอ.การเดินทางถวายมาเป็นตำแหน่งติดตัวของตัวเอง นั่นหมายความว่าต่อไปหน้าที่การงานต่างๆ จะไม่ได้มอบหมายให้กับคนที่ปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ถ้าใครมีตั๋ว คนนั้นอยากมีตำแหน่งอะไร อยากรั้งตำแหน่งอะไรไว้กับตัวเอง ก็ทำได้หมด

อีกประการหนึ่ง การใช้ตั๋วใบนี้เพื่อเป็น ผอ.การเดินทางถวายและเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ต่อไป เมื่อไปดูกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย, ระเบียบกรมราชองค์รักษ์ว่าด้วยการถวายความปลอดภัย และระเบียบของ ก.ตร. เองแล้ว พบข้อกำหนดว่าผู้ที่จะเป็น ผอ.การเดินทางในอากาศยานนั้นต้องเป็น “นักบินประจำกอง” ผู้มีตำแหน่งที่ทำการบิน และจะต้องตรวจสมรรถภาพของร่างกายและจิตใจโดยแพทย์โรงพยาบาลตำรวจและกรรมการจากกองบินตำรวจในทุกๆ ปี ถ้าขาดการตรวจ หรือถูกย้ายไปสังกัดอื่นแล้ว ก็ให้พ้นจากตำแหน่งนักบินประจำกอง ซึ่ง พล.ต.ต.กำพล ที่ถูกย้ายไปอยู่สังกัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต้องทำการบินแล้ว รวมถึงไม่ได้ตรวจสุขภาพด้วย อย่างน้อยตลอดทั้งปี 64 ไม่ได้ตรวจอย่างแน่นอนและเป็นที่รับรู้กันดีในกองบินตำรวจ


นั่นจึงหมายความว่า พล.ต.ต.กำพล ขาดคุณสมบัติในการเป็นนักบินถวายการเดินทาง และการไม่ได้ตรวจสุขภาพตามมาตรฐานที่กำหนดนั้น ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะเสด็จโดยสารเครื่องบินที่ขับโดยนายตำรวจคนนี้ต้องตกอยู่ในอันตราย

ทว่าในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ แค่เฉพาะในปี 65 พล.ต.ต.กำพล ทำการบินไปแล้วกว่า 40 ครั้ง คือหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาการตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย กลับเป็นผู้ที่บกพร่องที่สุดในการทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย ด้วยการปล่อยให้คนที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ต้องเคร่งครัดที่สุดเช่นนี้ได้

“การถวายความจงรักภักดีที่ พล.อ.ประยุทธ์มักอวดอ้างเป็นหนักหนา คือการถวายนักบินเถื่อนที่ไม่ตรวจสุขภาพ ไม่รู้ว่ามีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจที่จะทำการบินหรือไม่ ให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านทำอย่างนี้ได้อย่างไร”


Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า