free geoip

ได้เวลา “คืนความยุติธรรม” ให้นักโทษการเมือง ยุติการบิดผันกระบวนการยุติธรรม


ระหว่างการอภิปรายโดย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในกรณีที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจใช้กฎหมายอย่างบิดผันในฐานะ “คดีนโยบาย” เพื่อดำเนินคดีต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งการใช้ ม. 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ได้มีการลุกขึ้นประท้วงโดย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลว่านี่เป็นการก้าวล่วงไปถึงสถาบันตุลาการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ที่กำลังดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอยู่


ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่เบญจากำลังอภิปรายกันอยู่อย่างชัดเจน นั่นคือการที่สถาบันตุลาการขยายอำนาจขึ้นมาอย่างมหาศาล เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ตามนโยบายและทิศทางที่กำหนดโดยรัฐบาลสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยที่ยังคงไม่สามารถถูกแตะต้องได้ แม้แต่จากสภาผู้แทนราษฎรที่ควรต้องมีอำนาจในการถ่วงดุลกับสถาบันตุลาการ ไม่ใช่การถูกถ่วงดุลแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้

การประท้วงดังกล่าว ตลอดจนคำวินิจฉัยของประธานสภา ที่ได้ตักเตือนไม่ให้เบญจาไป “ก้าวล่วง” ถึงสถาบันตุลาการ จึงเป็นการบิดเบือนประเด็นที่เราต่างเห็นกันอยู่ ว่าอำนาจตุลาการกำลังถูกแทรกแซงโดยนโยบายของประยุทธ์มากเพียงใด

เหตุใดจึงกล่าวได้เช่นนั้น? เบญจาเริ่มต้นการอภิปรายด้วยการชี้ให้เห็นถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในยุค คสช. ว่ามีลักษณะเป็นคดีนโยบายอย่างชัดเจนอย่างไร


2557-2561: สู่ยุคกฎหมายหุ้มปืนภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร

กระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองพร้อมกับการบิดผันอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นในยุค คสช. นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ด้วยการสถาปนาระบบกฎหมายชุดใหม่ขึ้นมา พร้อมกับการใช้กฎหมายในระบบปกติอย่างบิดผัน 

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายขึ้นเองในรูปแบบประกาศ-คำสั่งของ คสช.  และกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่ง คสช. แต่งตั้งมาทั้งหมด ที่มาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังมีการใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ  โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่นฯ) และ มาตรา 112  (หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน นำตัวไปควบคุมตัวในค่ายทหาร ดำเนินคดีในศาลทหาร

หากสามัญสำนึกของบุคคลไม่บกพร่องแล้ว บุคคลใดๆ  ก็ตามย่อมควรจะเห็นได้ว่าการนัดเพื่อนไปกินแซนด์วิชหรืออ่านหนังสือกันในที่สาธารณะ ไม่ควรจะเป็นเหตุให้ใครก็ตามถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคงได้ แต่นี่กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของรัฐบาล คสช.  กลายเป็นคดีที่ผู้ต้องหาต้องถูกนำตัวไปคุมขังในค่ายทหาร ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร  หลายรายต้องติดคุกฟรีเป็นปีๆ

สะท้อนให้เห็นว่านี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบิดผัน และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช.  ในการรักษาอำนาจของ คสช.

จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะพบได้ว่า ภายใต้รัฐบาล คสช.  มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมอย่างน้อย 428 คน จาก 67 คดี มีคนถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย  197 คน จาก 115 คดี   มีประชาชนถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 124 คน จาก 50 คดี และมีประชาชนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112  อย่างน้อย 169 คน

โดยเฉพาะการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่มีการตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขึ้น ทั้งในทางเนื้อหาและในทางปริมาณยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา  โดยที่ผู้ถูกดำเนินคดีมักจะถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารก่อนที่จะส่งตัวให้ตำรวจ  และส่วนใหญ่มักไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ไม่ได้รับการประกันตัว  หรือต้องใช้เงินประกันตัวที่สูงมาก โดยหลายคดีเป็นการพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาโดยลับ

นอกจากนี้ การพิพากษาลงโทษจำเลยคดี มาตรา112 นั้น ยังมีอัตราโทษที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  มีการลงโทษจำคุกตั้งแต่ 50- 70 ปี โดยไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นเท่านั้น  โดยที่ทิศทางการดำเนินคดีมาตรา 112 ในลักษณะนี้ ได้ถูกส่งต่อมายังศาลยุติธรรมในเวลาต่อมา

นโยบายการดำเนินคดี มาตรา 112 อย่างเข้มข้นโดยรัฐบาล คสช.  ยังผลักดันให้คนจำนวนมากตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 6 คนที่ถูกบังคับให้สูญหายไปในระหว่างการลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นโยบายการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างเข้มข้น ถึงกับทำให้ผู้รายงานพิเศษของ UN  ส่งหนังสือถึงรัฐบาลประยุทธ์หลายต่อหลายครั้ง  ว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  พร้อมทั้งแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายในลักษณะเป็นเครื่องมือปิดปากกดปราบประชาชนด้วย

เอกสารสำคัญที่ยืนยันให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีต่อประชาชนในยุค คสช.  เป็นเครื่องมือทางการเมืองและนโยบายของประยุทธ์ คือเอกสาร “หมาย จ. 14” หรือ “ข้อพิจารณา กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61” ที่ พล.ต. บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้มอบให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ 6 แกนนำที่จัดการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561

ในเอกสารดังกล่าวนี้ มีประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญคือการชี้นำให้พนักงานสอบสวน

  • ทำการสรุปว่าแกนนำทั้ง 6 คน มีเจตนายุยงปลุกปั่นและกระตุ้นให้ประชาชนออกมารวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาล  เป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมของหัวหน้า คสช. 
  • ให้มีการดำเนินการแบบเป็นขั้นตอน  ทำให้ผู้ชุมนุมและแกนนำได้รับความกดดัน  เกิดความสับสน จำกัดเสรีเพื่อทำให้ความรุนแรงในการปราศรัยถูกลดระดับลง 
  • ให้ดึงระยะเวลาในการแจ้งความออกไป ให้มวลชนหันไปสนใจข่าวสารอื่นๆ แทนก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาเริ่มแจ้งความดำเนินคดีต่อไป 
  • แนะนำให้ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในการด้อยค่าการชุมนุมว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์  ให้ด้อยค่าว่ามีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน  สร้างความแตกแยกในสังคม และให้ด้อยค่าว่าผู้ชุมนุมสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง

แนวทางดังกล่าวนี้  ต่อมาได้กลายมาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินคดีกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทุกกลุ่มนับตั้งแต่นั้นมา  ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา  ทิศทางรวมถึงรูปแบบของการแจ้งความดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการจับกุมคุมขังประชาชนไว้ในเรือนจำ ล้วนเป็นไปตามนโยบายของประยุทธ์ทั้งสิ้น


2563-ปัจจุบัน: คดีนโยบายการเมืองพุ่งสูง สิทธิสู้คดีถูกลิดรอน

แม้ว่าหลังจากปี 2561 ประเทศไทยจะได้เข้าสู่การเลือกตั้งเสียที แต่คณะรัฐประหารที่นำโดยประยุทธ์ ก็ยังสามารถสืบทอดอำนาจต่อมาได้ แม้คดีการเมืองในช่วงต้นจะเบาบางลง รวมทั้งมาตรา 112 ด้วย  แต่นั่นก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

เพราะตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา  กระแสการต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง  ภายใต้การนำของกลุ่มเยาวชนต่างๆ  และนั่นได้นำมาสู่การดำเนินคดีทางการเมืองและการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างบิดผันตามนโยบายอีกครั้ง โดยรอบนี้มีความรุนแรง กว้างขวาง และสร้างความเสียหายร้ายแรงมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

ในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2563 กระบวนการคุกคามผู้ชุมนุมและผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลก็เริ่มเกิดขึ้นถี่อย่างเห็นได้ชัด  มีการเริ่มกลับมาแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนอีกครั้ง พร้อมกับการดำเนินมาตรการเชิงรุก ในการกดดันติดตามผู้จัดกิจกรรมและบุคคลเป้าหมายอย่างใกล้ชิดหลายราย ไม่เว้นแม้แต่นักเรียน  นักศึกษา เยาวชน รวมถึงการบุกไปถึงที่พักเพื่อกดดันผู้ปกครองด้วย

เครื่องมือทางกฎหมายที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจนำมาใช้ตามนโยบายในช่วงนี้ คือข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมกับกฎหมาย มาตรา 116 รวมทั้งข้อหายิบย่อยอย่างเช่น พ.ร.บ. ความสะอาด, พ.ร.บ. จราจร, พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไปจนถึงความผิดในการใช้เครื่องขยายเสียง  บางคดีมีการถูกกล่าวหารวมกันเป็นสิบกว่าข้อหา แต่สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนภายใต้อำนาจของ พลเอกประยุทธ์ก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อคนรุ่นใหม่และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ไม่มีใครเกรงกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดผันเหล่านี้

นโยบายการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จึงเพิ่มความเข้มข้นและรุนแรงขึ้นมาอีก รวมถึงการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งด้วย

ปลายเดือน ต.ค. 2563 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งที่ 558/2563  ให้แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฯ  โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการสั่งให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบ ติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์  โดยหากปรากฏพฤติการณ์ว่ามีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  ให้รายงานและเสนอความเห็นไปยังผู้บัญชาการเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่

ตามมาด้วยกระบวนการเริ่มต้นสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง  และการออกแถลงการณ์ในนามนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 พ.ย. 2563  มีใจความว่ารัฐบาลจะเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุม

“คดีการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็คือคดีนโยบายของท่านผู้นำ และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่นั้น ก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ตอบสนองต่อนโยบายของท่านผู้นำเท่านั้น    เพราะแม้จะเป็นพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน แต่ก็จะถูกดำเนินคดีต่างกัน   ได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมต่างกัน ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ “ท่านผู้นำ”  ที่สั่งลงมาในแต่ละช่วง”

เพียง 11 วัน หลังการออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อพริษฐ์ ชีวารักษ์  และปิยรัฐ จงเทพ ด้วยมาตรา 112  โดยเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังกลับไปถึงการปราศรัยในการชุมนุมที่อุบลราชธานีเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 จากการปราศรัยที่ร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563

เช่นเดียวกับผู้ปราศรัย 7 คนในการชุมนุมใหญ่วันครบรอบรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563  ซึ่งเป็นคดีแรกที่อัยการได้เร่งรัดยื่นฟ้องคดีในมาตรา 112 อย่างผิดสังเกตอีกด้วย

และยังมีคดีของเกษตรกรและช่างก่อสร้างชาวนครพนม ที่ถูกแจ้งความจากการโพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559  ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและยื่นฟ้องด้วยมาตรา 112 หลังจากแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีไม่นานนัก

ตามมาด้วยการไล่แจ้งข้อกล่าวหาในหลายจังหวัดเพื่อกลั่นแกล้งและสร้างภาระทางคดีกับบุคคลจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนอายุไม่ถึงสิบแปด หรือคนที่เพียงแค่แต่งชุดครอปท็อปไปเดินสยามพารากอน  โดยที่คดีจำนวนมาก เป็นคดีที่พฤติการณ์ผ่านมาแล้วหลายเดือนหรือหลายปี โดยไม่เคยมีการดำเนินคดีมาก่อน แต่หลังจากแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีออกได้ไม่นาน ก็มีการระดมแจ้งความดำเนินคดีขึ้นในทันที จนทุกวันนี้คดีในระบบมีจำนวนมากกว่า 200  รายเข้าไปแล้ว 

ทำให้เชื่อได้เป็นอย่างยิ่ง ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดคดีการเมืองจำนวนมหาศาลขึ้นมาเช่นนี้ ไม่ใช่การดำเนินคดีตามปกติ แต่เป็นใบสั่งมาจากรัฐบาลประยุทธ์


การบังคับใช้ ม. 112 ตามนโยบายประยุทธ์: บีบให้หมอบกราบยอมจำนน

แม้ว่าในระยะแรก การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112  จะมีการให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาออกไปสู้คดีนอกเรือนจำ หรือแม้แต่หลายคดีก็ได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจด้วยซ้ำ แต่ในเวลาต่อมา แนวทางการดำเนินคดีได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มาเป็นการไม่ให้ประกันตัวอย่างเด็ดขาด

นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 เป็นต้นมา ผู้ต้องหาหลายคน โดยเฉพาะคนที่รัฐบาลมองว่าเป็นแกนนำ เริ่มทยอยถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตามหลักในการให้ประกันตัวตามกฎหมายระบบปกติ

ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนได้ตัดสินใจใช้ร่างกายที่เป็นอาวุธชิ้นสุดท้าย ในการต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยการอดอาหารประท้วง  นำมาสู่กระแสกดดันและถูกวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมอย่างหนัก ทั้งจากภายในประเทศ และจากองค์กรในระดับสากล จนกระทั่งในเดือน พ.ค. 2564  ผู้ต้องหาในคดีการเมือง รวมทั้งคดี ม.112 ก็ทยอยได้รับการประกันตัว ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวในลักษณะเดียวกันหมด ได้แก่ 

  • ห้ามจำเลยกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ 
  • ห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง 
  • ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

อาจเรียกได้ว่านี่คือการ “บีบให้หมอบกราบแล้วคลาย”  ทดลองใช้ไม้แข็งเพื่อกดปราบการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พอเจอแรงต้าน ก็ค่อยผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข แล้วทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ อย่างมีแบบแผน

จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลมั่นใจได้อย่างเต็มที่แล้ว ว่าการชุมนุมอยู่ในกระแสต่ำ จึงมีการเปลี่ยนนโยบายอีกครั้งให้เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงที่สุด  นั่นคือการกวาดจับอย่างกว้างขวาง ยัดข้อหาหนักไว้ก่อน แล้วส่งขังทันที เพื่อบีบให้หมอบกราบโดยจำนน

ในช่วงเดือน ส.ค. 2564 แกนนำผู้ชุมนุมหลายคนถูกสั่งถอนประกันตัว หรือไม่ได้รับการประกันตัวในคดีที่ถูกดำเนินคดีใหม่ โดยที่การคุมขังระลอกนี้ยาวนานกว่าระลอกแรก ในคดีมาตรา 112 บางรายถูกคุมขังนานกว่า 6 เดือน โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา

การได้รับการประกันตัวในช่วงเวลานี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเพิ่มเติม ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น

  • ให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ EM
  • ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดเวลา หรือเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
  • เพิ่มถ้อยคำในข้อกำหนดว่า “ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน”
  • ห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
  • ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุ หรือชักชวนให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย

ในช่วงเดียวกันนี้ มีบางคนที่ถูกกล่าวหาในพฤติการณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์เลย เช่น คดีสาดสีที่หน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ยังถูกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวระหว่างพิจารณาว่าห้ามกระทำการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปด้วย

กระบวนการในช่วงเวลานี้นอกจากจะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีลักษณะร่วมในแทบทุกคดีและทุกข้อกล่าวหา นั่นคือ

  • การตีความหว่านแหให้ได้รับข้อหาร้ายแรงไว้ก่อน ซึ่งหลายกรณีหากพิจารณาหลักกฎหมายโดยเคร่งครัด บุคคลใดๆ ที่มีสามัญสำนึกย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดได้เลย อย่างเช่น คดีโฆษณาลาซาด้า
  • หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการคุมขังบุคคลเป้าหมายไว้ในเรือนจำ แม้ผู้ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 112 จะไปรับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ได้รับหมายเรียกครั้งแรก  แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้ประกันตัว แต่จะส่งศาลขอฝากขังทันที เช่น ในคดีทำโพลขบวนเสด็จ
  • สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อ  “ความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” เช่น  ในคดีลักขโมยพระบรมฉายาลักษณ์ไปทิ้งลงคลอง
  • ห้ามไม่ให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการพิจารณา แม้ศาลจะไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับ เช่น ในคดีแต่งครอปท็อปในงานแฟชั่นโชว์บนถนนสีลม
  • มีการสั่งตัดพยานของฝ่ายจำเลย หรือไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
  • ห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา
  • ในบางคดี ศาลใช้เวลาเพียง 3 วันหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมาเลย ได้แก่ คดีแปะสติ๊กเกอร์เพจ “กู Kult” ทั้งที่โดยคดีปกติมักใช้เวลาราว 1-2  เดือนหลังการสืบพยาน


“ลืมไปว่าประเทศนี้มันเ-ี้ย”: ความอยุติธรรมกรณี “โพลขบวนเสด็จ”

เบญจาอภิปรายต่อไป ถึงกรณีที่น่าเจ็บปวดใจที่สุดของกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน นั่นคือกรณีการดำเนินคดีต่อกิจกรรมทำโพลหน้าสยามพารากอน ที่ผู้ถูกกล่าวหาบางคนมีอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น มีแค่แผ่นฟีเจอร์บอร์ดกับสติ๊กเกอร์และโพสต์อิท แต่เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ ที่กิจกรรมยืนเฉยๆ  ทำโพลที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับใคร กลับถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112

“และ ณ วินาทีนี้ ที่ดิฉันกำลังพูดให้ท่านประธานฟังอยู่นี้ บุ้ง เนติพร และ ใบปอ ณัฐนิช ยังคงต้องทุกข์ทรมานกับการอดอาหารอยู่ พวกเขาตัดสินใจเอาชีวิตของตัวเองเข้าประจัญหน้ากับกระบวนการอยุติธรรมภายใต้ยุคสมัยที่โหดเหี้ยมอำมหิต ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ด้วยน้ำตาที่เริ่มคลอเบ้า เบญจาอภิปรายต่อไปว่าแม้กระทั่งทานตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) ที่ได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ก็ต้องถูกตั้งเงื่อนไขให้อยู่ในเคหะสถานตลอด 24 ชั่วโมง  ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติระหว่างรอต่อสู้คดี

กระบวนการยุติธรรมที่ยึดตามหลักสากลและหลักกฎหมายปกติ จะต้องยึดในหลักการ  “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” อย่างเคร่งครัด 

แต่เมื่อเป็นคดี มาตรา112  กลับไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมคนใดที่มีความกล้าหาญพอจะยึดในหลักการนี้และกล้าฝืนนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ จนนำมาสู่การสั่งฟ้องและคุมขังโดยไม่ให้ประกันตัว ซึ่งไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายปกติอย่างที่ควรจะเป็น 

“มันคือการที่อยากจะลงโทษพวกเขาล่วงหน้าตามอำเภอใจให้สาสม โบยตี เพื่อให้ยอมหมอบอย่างราบคาบ ลงโทษพวกเขาโดยที่ไม่ต้องรอฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ”

จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีการเมืองที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ มีจำนวนที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ในเวลานี้ มีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 30 คน และนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565  มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน  โดยในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย  โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทะลุสองร้อยคนไปแล้ว

“การบิดเบือนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อค้ำจุนและรักษาอำนาจทางการเมืองของท่านผู้นำ เป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน และกลายเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนี้ที่เห็นได้ชัดเจนไปแล้ว  สภาวะเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง แต่มันยังนำมาซึ่งวิกฤตของสถาบันตุลาการและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ  และจะกลายเป็นวิกฤตทางโครงสร้างทางการเมืองที่รอวันพังทลายในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

ดิฉันและพรรคก้าวไกล คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง สังคมไทยไม่อาจที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีอนาคต ดิฉันเรียกร้องให้ ปล่อยบุ้งเนติพร ปล่อยใบปอณัฐนิช และนักต่อสู้ทางการเมืองทุกคน เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  คืนความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคมนี้”


คืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

เบญจาทิ้งท้ายการอภิปรายในครั้งนี้ ว่าด้วยเหตุที่มีการบิดผันกระบวนการยุติธรรมและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางนโยบายเสมอมาภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จึงเป็นความจำเป็นที่เร่งด่วน ที่จะต้องมีการคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในทันที  โดยเฉพาะต่อนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิด รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ทั้งหมดนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการเอารัฐบาลประยุทธ์ออกไป  เปลี่ยนให้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ขึ้นมามีอำนาจแทนที่ เพื่อทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่สภาวะปกติเสียที

“ประยุทธ์ทำให้ประเทศนี้ไม่มีนิติรัฐ ทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  ไม่ได้รับการยอมรับและได้รับการต่อต้านมากทึ่สุดในประวัติศาสตร์  และเพื่อปลดล็อกชนวนระเบิดที่ประยุทธ์สร้างขึ้นมา เราต้องเริ่มต้นด้วยการเอาประยุทธ์ออกไป  เปลี่ยนขั้วเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รับฟังเสียงของทุกคน และนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับนักโทษ และนักต่อสู้ทางความคิดทุกคน

และนั่นคือก้าวแรกของการคืนความปกติให้สังคมไทย  ให้ประชาชนยังเชื่อว่าพวกเรายังสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ไม่ว่าใครจะมีความคิด ความเชื่อ  และความฝันที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า