free geoip

สภาคว่ำร่าง พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ ฉบับพรรคก้าวไกล : บทพิสูจน์เนื้อแท้รัฐบาลประยุทธ์เสพติดอำนาจ



นับตั้งแต่การออก พ.ร.ก. การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนำมาสู่การเริ่มบังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2548 มาจนถึงปัจจุบันภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ด้วยข้ออ้างเรื่องสถานการณ์โควิด กฎหมายฉบับนี้ได้ถูกพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าไม่เคยแก้ไขปัญหาความฉุกเฉินของสถานการณ์ในประเทศนี้ได้ และกลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการกระชับอำนาจของผู้มีอำนาจรัฐมาทุกยุคทุกสมัย

เกือบ 20 ปีของการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เราได้เห็นแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษมากกว่ากัน ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และนำมาสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจริงๆ หรือไม่

ด้วยความที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีเนื้อหาสาระสำคัญ ในการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคง ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเสรี โดยไม่อาจถูกตรวจสอบ ร้องเรียน หรือฟ้องร้องในทางใดๆ ได้เลย ทำให้แทบจะทุกกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในพื้นที่และสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม นำไปสู่การใช้อำนาจอย่างล้นเกินของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมตัว คุมขัง และสอบสวน ที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง ซึ่งในบางกรณีนำมาสู่การเสียชีวิตของบุคคลด้วยซ้ำ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบตามสัดส่วนความเสียหายที่ได้กระทำต่อบุคคล

และเนื้อแท้ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่เป็นเครื่องมือของการกระชับอำนาจ ลิดรอนสิทธิของประชาชน ก็ยิ่งแสดงตัวให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ที่อ้างว่าบังคับใช้เพื่อการรับมือกับสถานการณ์โควิด และมีการต่ออายุมาเรื่อยๆ มาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กลับถูกนำมาบังคับใช้กับประชาชนที่แสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

สิ่งที่เป็นที่ประจักษ์ คือจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ตลอดสองปีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นคดีที่เกี่ยวของกับการแสดงออกของประชาชนเกือบทั้งหมด กว่า 1,400 คน โดยมีการนำมาใช้กับกรณีการฝ่าฝืนมาตรการโควิดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือการแสดงออกของประชาชนเพียงจำนวนไม่เกินสองมือนับนิ้วเท่านั้น

แต่การโต้แย้งและตั้งคำถามถึงเจตนาที่แท้จริงแห่งการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคก้าวไกล และประชาชนทั่วไปเอง ก็ไม่ได้ทำให้ประยุทธ์ยี่หระหรือกระอักกระอ่วนที่จะต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

จนปัจจุบัน “สภาวะฉุกเฉิน” แทบจะกลายเป็นสภาวะถาวรไปแล้ว ทั้งที่สถานการณ์โควิดได้มีการคลี่คลายลงจนแทบจะกลับมาสู่สภาวะปกติ กิจการร้านค้าต่างๆ ที่เคยถูกปิดตัวลงในสถานการณ์โควิดก็กลับมาเปิดตามปกติแล้ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็กลับมาเป็นปกติแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทก็กลับมาเป็นปกติแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ก็คือการคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เอาไว้จนถึงวินาทีนี้

เป็นอีกหนึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าแท้ที่จริงแล้ว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำลังถูกใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด แต่กลับกำลังเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ต่างหาก

“การยังคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อไป มันคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการที่รัฐบาล เสพติดอำนาจ จึงยังคงกฎหมายพิเศษฉบับนี้เอาไว้เป็นเครื่องมือต่อไปเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง”

นั่นคือช่วงหนึ่งในถ้อยคำอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้นำมาสู่การบังคับใช้แทนที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในปัจจุบัน ซึ่งเข้าสู่วาระการประชุมตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ถูก ครม. “อุ้ม” ไป “พิจารณา” ตามกรอบเวลา 6 เดือน กว่าที่จะได้เข้าสู่วาระการพิจารณาอีกครั้งในวันนี้

ซึ่งรังสิมันต์ ระบุว่านี่เป็นเพียงการจงใจเตะถ่วงกฎหมายนี้ให้ล่าช้าออกไปเท่านั้น ภายใต้ธงที่ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าจะไม่ให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน ด้วยเหตุว่าจะทำให้การกระชับอำนาจและลิดรอนสิทธิของประชาชนผู้เห็นต่างโดยรัฐบาลประยุทธ์ ไม่อาจกระทำได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบของอำนาจตุลาการและนิติบัญญัติอีกต่อไป

และนี่เอง คือความแตกต่างระหว่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการละเมิดสิทธิของประชาชน กับ พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ ฉบับพรรคก้าวไกล ที่มุ่งปกป้องสิทธิของประชาชนไปพร้อมๆ กับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินไปพร้อมๆ กันได้


พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ ฉบับพรรคก้าวไกล มีเนื้อหาสาระสำคัญที่สรุปออกมาได้เป็น 6 ประการ ได้แก่ :

1) ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยนายกรัฐมนตรี มีระยะเวลาคราวละไม่เกิน 30 วัน และการขยายระยะเวลาต้องไม่เกิน 30 วันด้วยเช่นกัน (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้ 3 เดือน) โดยต้องนำเสนอเหตุผล มาตรการ และข้อกำหนดที่จะนำมาใช้ รวมถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การยุติสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกลับสู่สถานการณ์ปรกติ ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบภายใน 7 วันหลังจากประกาศ

2) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. โดยระยะเวลาที่ประกาศต้องไม่เกิน 30 วัน และสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วันเท่านั้น

3) เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีต้องนำเสนอรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วัน และจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งหลังสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินเดิมน้อยกว่า 3 วันไม่ได้

4) ตัดอำนาจการออกข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ที่ห้ามการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงและความสงบออกไป

5) ตัดข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

6) การควบคุมตัวบุคคล ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้ดำเนินการด้วยกระบวนการปกตอเหมือนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั่นคือไม่เกิน 48 ชั่วโมง และต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติและทนายความเข้าถึงได้ (จากเดิม 7 – 30 วัน โดยจะเป็นที่ไหนก็ได้)

“สิ่งที่ผมเสนอไปนั้นเป็นเพียงแค่การทวงคืนการตรวจสอบถ่วงดุลกลับคืนมา ถ้าเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เรายอมรับได้หรือกับการเพิ่มข้อยกเว้นทางกฎหมายให้กับตัวเอง ด้วยตัวเอง จะเพิ่มยาวไปถึงไหนก็ทำกันเองได้หมด ถ้านายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทุกท่านมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้คิดหาเศษหาเลยจากอำนาจที่ได้เพิ่มมา ไม่ได้เป็นพวกที่อยากคงอำนาจล้นเกินไว้เพื่อจะได้ดีดนิ้วได้ตามสะดวก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหวาดกลัวร่างกฎหมายฉบับนี้”

แต่อย่างที่รังสิมันต์ได้อภิปรายไว้ข้างต้น มติของสภาผู้แทนราษฎรที่ออกมาในวันนี้ ด้วยมติ 169 ต่อ 69 ไม่เห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ ฉบับพรรคก้าวไกล เป็นที่พิจสูจน์แล้ว ว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้การใช้อำนาจใดๆ ของพวกตัวเอง โดยเฉพาะการใช้อำนาจในลักษณะที่ล้นเกิน ได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลหรือนำมาสู่ความรับผิดชอบ

“สรุปแล้วก็คือรัฐบาลนี้คงติดใจในอำนาจและข้อยกเว้นความรับผิด อยากกอดมันไว้อย่างนี้เงียบๆ ไม่พูดไม่จา ไม่ชี้แจงแถลงไขอะไรใดๆ แบบนี้นี่เอง”

การคงอยู่ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คือเครื่องมือในการละเมิดสิทธิประชาชนโดยผู้มีอำนาจมาทุกยุคสมัย ซึ่งเราไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้ พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าเราจะไม่ยุติความพยายามเพื่อนำอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นปกติกลับคืนสู่สังคมนี้อีกครั้ง


สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 5,000 บาท ผลิตวันที่ 4 สิงหาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า