ก้าวไกล – เพื่อไทย – ประชาชาติ ผนึกกำลังยื่นอภิปราย “8 ปีประยุทธ์” สุดท้าย #สภาล่ม
ปมร้อน 8 ปี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่พูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรค 4 เขียนไว้ว่า ‘นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
คำถามคือจะเริ่มนับ “อายุตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ กันที่ตรงไหน?
- ถ้าเริ่มตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 เมษายน 2560 ก็หมายความว่า วาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 5 เมษายน 2568
- ถ้าเริ่มตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ก็หมายความว่า วาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 8 มิถุนายน 2570
- แต่ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ซึ่งเป็นปีที่มีการทำรัฐประหารนั้น ก็หมายความว่า วาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 23 สิงหาคม 2565 หรืออีกเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น
สอดคล้องกับนักวิชาการจำนวนมาก รวมทั้งแม้แต่ความเห็นส่วนตัวของตัวกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองที่ถูกนำบันทึกการประชุมออกมาเปิดเผย
ด้วยความซึ่งประเด็นนี้เป็นที่จับตาของสังคม ด้วยความที่ยังไม่มีการชี้ขาดได้ข้อสรุป ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (11 สิงหาคม) พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ จึงผนึกกำลังกันเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อเสนอความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรส่งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจทางการเมืองของตัวเองต่อไป โดยที่สุดท้ายแล้ว เรื่องอาจไม่ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.มหาสารคาม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ เตรียมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อระดมความคิดเห็นของสภาฯ ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถูก ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล ไม่ยินยอมให้มีการอภิปรายในประเด็นนี้ โดยอ้างว่า ได้มีการเตรียมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีการพูดคุยตกลงกันไว้แล้ว
ขณะที่ฝ่ายค้านยืนยัน นี่เป็นเรื่องเร่งด่วน และการอภิปราย “8 ปี ประยุทธ์” จะสามารถทำได้แค่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้เท่านั้น ก่อนที่จะถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพราะในสัปดาห์หน้า สภาได้กำหนดให้เป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในวาระที่ 2 และ 3
ศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจึงตัดสินใจให้มีการลงมติเพื่อหาข้อสรุป ว่าญัตติด่วนด้วยวาจานั้น จะเป็นเรื่อง “8 ปีประยุทธ์” หรือ “หนี้นอกระบบและแชร์ลูกโซ่”
กดออดเรียก ส.ส.ให้เข้ามาแสดงตนอยู่นานพอสมควร ในที่สุดเมื่อเสียบบัตรนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 124 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หมายความว่า “สภาล่ม”
“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” กำลังทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน พูดคุย ถกเถียง ในสิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามและสงสัย เพื่อที่จะได้นำความเห็นนั้น นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ตัดสินใจ
แต่ทว่าชื่อของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เหมือนจะเป็นอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย ไม่อยากให้พูดถึง อ้างเรื่องการมีญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า อ้างว่าห่วงจะก้าวล่วงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาด