“มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดำเนินคดีมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย”
ข้างต้น เป็นข้อสรุปจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ชุดที่ วิชา มหาคุณ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากคดีซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนนี้ พบข้อพิรุธสารพัด ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่อิรุงตุงนัง จนทำให้เหตุการณ์ที่บอส-วรยุทธ ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อ 3 กันยายน 2553 ยังนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีไม่ได้
คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวได้มีข้อเสนอให้ดำเนินคดีอาญาและมีโทษทางวินัย คน 8 กลุ่ม คือ
- พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับสำนวน
- พนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
- ผู้บังคับบัญชาที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
- ทนายความซึ่งกระทำผิดทางกฎหมาย
- พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ
- ตัวผู้ใช้ ผู้ให้ สนับสนุนการกระทำผิด
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จากนั้น ได้มาตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาตอบเมื่อพฤศจิกายน 2564 แต่คำตอบก็เหมือนกับว่า “ไม่มีความคืบหน้า” สำหรับการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว รวมถึงการติดตามตัวบอส-วรยุทธ
ล่าสุด พรรคก้าวไกลยังคงเกาะติดคดีดังกล่าว โดย ธีรัจชัย ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้เร่งรัดติดตามจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดคดีนายวรยุทธ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เป็นผู้มาตอบเช่นเดิม และก็ไม่น่าเชื่อว่าคำตอบที่ได้รับก็คือ “แทบ” จะ “ไม่มีความคืบหน้า” เช่นเดิม
เพราะเมื่อธีรัจชัยถามว่า มีอะไรที่คืบหน้าไปบ้าง ในการดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้อง หรือที่ให้การช่วยเหลือ บอส-วรยุทธ?
คำตอบจากวิษณุ คือ หลังจาก คณะกรรมการฯ ส่งเรื่องมายังรัฐบาลในปี 2563 ได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นเจ้าภาพรับไปดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน และแต่ละหน่วยงานมีความคืบหน้าคือ
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับรายชื่อมาตรวจสอบ 19 รายชื่อ และเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 คน กับควรที่จะกันตัวเป็นพยานอีก 2 คน จึงเหลือรายชื่อสำหรับตรวจสอบ 15 คน ซึ่ง ป.ป.ช.รับเรื่องไต่สวนเต็มคณะ และอยู่ระหว่างการดำเนินการ
- สำนักงานอัยการสูงสุด มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และมีมติเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสำหรับการลงโทษรองอัยการสูงสุดให้ออกจากราชการ ขณะที่อีกคนจะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หลังได้รับรายงานให้ตรวจสอบ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งการประชุมล่าสุด ยังไม่มีเหตุให้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ เพราะอยู่ในอำนาจหน่วยงานอื่นตามปกติ แต่ก็เห็นว่าน่าจะมีเหตุรับได้ในบางประเด็น จึงให้อนุกรรมการกลั่นกรองไปตรวจสอบเพิ่มเติม และรายงานให้คณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป เร็วๆ นี้
- สภาทนายความ มีการตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความ แต่ทว่าผู้ถูกตรวจสอบไม่ได้ให้ความร่วมมือ โดยอ้างสถานการณ์โควิด อ้างติดภารกิจ บ่ายเบี่ยงมาตลอด แต่อย่างไรก็ตามจะมีการปิดสำนวนตรวจสอบในเดือนสิงหาคมนี้ ถ้าไม่มาให้ถ้อยคำใดๆ จะมีการชี้ขาดฝ่ายเดียว
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการตั้ง 3 เรื่อง คือ ให้สอบวินัย สอบทางอาญา และดำเนินการแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้การดำเนินการชั้นตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา และการสอบที่ผ่านมา ให้ยุติการสอบตำรวจบางรายซึ่งชัดเจนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันอีกบางรายยังต้องตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงบางรายหลุดบางข้อหาขณะที่อีกข้อหาอยู่ระหว่างการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนต่อไป อยู่ระหว่างการดำเนินการ
นี่เป็นคำตอบ จากรองนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำด้วยว่า หลายเรื่องอาจจะยังไม่จบเวลานี้ แต่คิดว่าแต่ละหน่วยงานคงจะเร่งรัดปิดสำนวนได้ภายในเดือนสิงหาคม นี้
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่ได้คำตอบเรื่องของบุคคลกลุ่มอื่นที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ไม่มีความคืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดี, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และที่สำคัญคือในส่วนของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ที่มีส่วนทำให้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถขณะชน จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำสำนวนให้ผู้ตายประมาท
ขณะที่ในส่วนของการติดตามตัวบอส-วรยุทธ กลับมาดำเนินคดีนั้น วิษณุ ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้วิธีการตามตัวเหมือนคนหนีไปต่างประเทศทั่วไป โดยความร่วมมือ 2 ช่องทาง คือ ติดต่อสถานทูต 76 แห่ง ในประเทศที่คาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้อง โดยมีการรายงานเป็นระยะ หากแต่ยังไม่พบการผ่านเข้าออกประเทศเหล่านั้น กับอีกช่องทางคือ ตรวจสอบกับ “อินเตอร์โพล (International Criminal Police Organization)” หรือ องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ เป็นการดำเนินการทางลับ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า
คำตอบที่ได้รับนี้ ทำให้ ธีรัจชัย ถึงกับตัดพ้อว่า เสียใจแทนประชาชนที่กระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ทำลายความน่าเชื่อถือ สร้างความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีการลงโทษที่ควรจะเป็นกับผู้ที่ร่วมกระทำผิด ขณะที่กระบวนการติดตามผู้ต้องหาก็ไม่มีความชัดเจน ซึ่งแค่ตั้งหน่วยงานพิเศษไปติดตาม เอาจริงเอาจัง เพียงแค่เดือนเดียวก็ได้ตัวแล้ว ไม่ใช่การทำงานตั้งรับแบบที่เป็นอยู่นี้
บอส-วรยุทธ ถูกสั่งฟ้องใน 2 ข้อหา คือ 1.ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยปัจจุบันเหลืออายุความ 5 ปี และ 2.ข้อหาเสพยาเสพติดโคเคน มีอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุเช่นกัน แต่เนื่องจากต่อมามีการพิจารณาแก้ไขในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ในที่สุด โดยสรุปคือคดีนี้หมดอายุความแล้ว
“เป็นเรื่องสะเทือนใจของคนไทยทั้งประเทศว่า คนร่ำรวย คนมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง จะเอาผิดไม่ได้เลยเหรอ? ขณะที่คนจน คนยากไร้ ทำผิดก็โดนจับกุมดำเนินคดี ซึ่งบางทีความผิดก็หนักกว่าสิ่งที่กระทำอีก”
ธีรัจชัย กล่าว
นี่คือ “ความคืบหน้า” ที่ “ไม่มีความคืบหน้า” ของคดีที่เกี่ยวข้องกับ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวดังที่เคยก่อเหตุไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว