จากกรณีที่ค่าไฟฟ้าของคนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด กฟผ.เพิ่งประกาศเพิ่มค่า Ft อีกครั้งในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงโดยการเจรจากับกลุ่มทุนและแก้ปัญหานโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน
วรภพชี้ว่าสาเหตุที่คนไทยใช้ไฟฟ้าแพง เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเอื้อกลุ่มทุนถึง 7 นโยบายด้วยกัน ได้แก่
- หนึ่ง ทุกหน่วยไฟฟ้าที่เราจ่ายไป 1 สลึง คือ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ไม่ได้เดินเครื่อง เพราะรัฐไปทำสัญญาประกันกำไร ค่าความพร้อมจ่าย ให้โรงไฟฟ้าเอกชน มากเกินความต้องการใช้ไปถึง 54% จากมาตรฐานสากลที่กำหนดเอาไว้แค่ 15% ทั้งนี้ ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาที่การใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ยังมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ไม่ได้เดินเครื่องเลย 6 โรง จากทั้งหมด 12 โรง ทำให้ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง 2,500 ล้านบาท/เดือน
- สอง ประชาชนยังต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซเข้าสู่โรงไฟฟ้า ที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องให้กับกลุ่มทุนฟรีๆ อีก 500 ล้านบาท/เดือน
- สาม ทั้งที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว แต้่รัฐบาลกำลังจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวอีก 3,876 MW คำถามคือกลุ่มทุนใดได้ประโยชน์
- สี่ แก๊สธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า 2,600 ล้านลบ. ฟุต ซึ่งเพียงพอกับที่เราผลิตได้จากอ่าวไทย แต่กลุ่มทุนแย่งเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่ราคาถูก ไปขายให้อุตสาหกรรมก่อน โรงไฟฟ้าก็เลยต้องไปซื้อก๊าซจากต่างประเทศในราคาแพง ถ้าเราทำโครงสร้างนี้ให้เป็นธรรมได้ จะลดค่าไฟได้จากหน่วยละ 3.3 บาท เป็น 1.9 บาท
- ห้า ที่อยู่อาศัยของประชาชนจ่ายค่าไฟ 4.19 บาท/หน่วย ในขณะที่กิจการขนาดใหญ่จ่ายค่าไฟเพียง 3.74 บาท/หน่วย หมายถึงครัวเรือนจ่ายค่าไฟแพงกว่าถึง 45 สตางค์/หน่วย โดยอ้างว่าเป็นการเก็บค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้า ทั้งที่จริงๆ แล้วกิจการขนาดใหญ่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า
- หก นโยบายรัฐบาลซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SSP) ในราคาหน่วยละ 3.9 บาท ก่อนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ต้นทุนหน่วยละ 3.4 บาท/หน่วย ซึ่งปล่อยมลพิศเท่ากัน แต่กับ Solar Rooftopที่ไม่ปล่อยมลพิษของประชาชน กลับรับซื้อในราคาหน่วยละ 2.2 บาท น้อยกว่ากันเกือบเท่าตัว
- เจ็ด นโยบายที่รัฐบาลแถลงกับสภาที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้พึ่งพาตัวเองได้ อย่างระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิและแพลตฟอร์มกลางซื้อขายไฟฟ้า ทุกวันนี้ยังเป็นไม่เดินหน้าไปไหน จะดำเนินการหรือไม่ เพราะอยู่มาจะ 4 ปีทุกวันนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าไปไหน
ทั้งนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพลังงาน ได้ลุกขึ้นมาตอบกระทู้ถาม โดยชี้แจงว่านโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น และสาเหตุที่กำลังการผลิตเหลือเยอะจากปัญหาโควิดทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกำลังการผลิตไฟฟ้าและท่อส่งแก๊สจึงเหลือใช้งานเยอะ แต่ก็ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมใช้
ในเรื่องของเขื่อน สาเหตุที่ต้องซื้อไฟฟ้าเพราะเป็นพลังงานสะอาดและกว่าจะสร้างใช้เวลา 5-7 ปี ในการส้ราง แก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย ต้องย้อนกลับไปดูว่าอุตสาหกรรมจากแก๊สธรรมชาติได้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ส่วนเรื่องแพลทฟอร์มการรับซื้อไฟฟ้าปัจจุบันได้ทำอยู่แล้วแต่มีผู้มาสมัครเข้าจำนวนน้อย ซึ่งต้องไปพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ให้กระบวนการอนุมัติให้ทำได้เร็วขึ้น ขระนี้พยายามเร่งกระบวนการอนุมัติและติดตั้งอุปกรณ์ไม่ให้ล่าช้าจนเกินไป