
ที่มาที่ไป
ย้อนกลับไปเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารถูกต่อต้านจากประชาชนคนไทยจำนวนมาก พร้อมกับการต่อต้านจากนานาชาติหนึ่งในเครื่องมือที่นานาชาติใช้ในการกดดันรัฐบาลทหารของไทย ก็คือการลดระดับการประเมินมาตรฐานในการจัดทำรายงานต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเสรีภาพและประชาธิปไตย
เช่นการจัดระดับประเทศไทยอยู่ใน Tier 3 ซึ่งเป็นระดับที่เลวร้ายที่สุดในรายงาน Trafficking in Persons Report หรือ TIP Report ประจำปี 2015 โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาโดยในรายงานยังระบุว่าประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทั้งประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์


นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลทหารต้องเร่งเครื่องเพื่อพิสูจน์ตัวเองในสายตาชาวโลกว่าตนก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตามโดย พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหารที่แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศอย่างขึงขังเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 ว่า “การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ” พร้อมทั้งแสดงท่าทีจริงจังในการจัดการแก้ไขปัญหา
ค่ายกักกัน
เพียง 1 เดือนหลังจากการประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการค้นพบค่ายกักกันและหลุมศพกลางป่าบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา มีการค้นพบศพชาวโรฮิงญาบริเวณค่ายกักกันอย่างน้อย 30 ศพ และคาดว่าค่ายกักกันแห่งนี้สามารถจุคนได้ถึง 1,000 คน แต่ไม่ทราบว่ามีชาวโรฮิงญาผ่านค่ายกักกันนี้จำนวนกี่คนโดยประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีถึงหลักหมื่นคน
จากคำให้การขงผู้รอดชีวิต เล่าให้ฟังว่าพวกเขาต้องจ่ายเงิน 1-7 หมื่นบาท ให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้ได้ขึ้นเรืออพยพลี้ภัยจากประเทศต้นทางเพื่อเดินทางไปยังมาเลเซีย แต่เมื่อขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย กลับถูกกักกันไว้ โดยขบวนการค้ามนุษย์มีการติดต่อข่มขู่ญาติพี่น้องที่อยู่ฝั่งมาเลเซียเพื่อให้จ่ายค่าไถ่อีกรอบหนึ่ง ใครไม่สามารถจ่ายได้ก็ถูกนำไปใช้แรงงานทาส หรือถูกปล่อยให้เสียชีวิตตายคาค่าย เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่นั้นย่ำแย่เกินกว่าจะจินตนาการได้ว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์สามารถทำกับมนุษย์ได้ลงคอ










เล่นใหญ่
เมื่อเกิดคดีค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาจึงมีการแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เป็นหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ในครั้งนี้เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีนโยบายซึ่งเป็นวาระแห่งชาติตามที่หัวหน้า คสช. แถลงข่าวพร้อมทั้ง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ยังมีประวัติใสซื่อมือสะอาดผู้ประสบความสำเร็จจากการทำคดีปราบมาเฟียแท็กซี่ภูเก็ตและคดีทุจริตโรงพักร้าง 396 แห่งที่เกี่ยวข้องกับสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์
จุดเริ่มต้นของจุดจบ
เพียง 6 เดือนหลังจากนั้นดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี มีการออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 153 คนสามารถจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาจนกระทั่งสามารถนำคดีเข้าสู่ศาลได้ แต่วันดีคืนดี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ กลับต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยท่ามกลางกระแสมึนงงของสื่อและประชาชนทั้งประเทศว่าเกิดอะไรขึ้น เจอ ‘ตอ’ อะไร?

ข่าวจากสำนักข่าว The Guardian เผยแพร่ข่าว พล.ต.ต.ปวีณ ลี้ภัยที่ประเทศออสเตรเลีย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารกล่าวในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ว่า “กลับมา มาบอกนี่จะจับให้ ใครไปขู่ ขู่จริงหรือเปล่า… มีความรักชาติเหลือมั้ยเกิดมาบนแผ่นดินนี้ บอกมาดิใครขู่มันจะใหญ่แค่ไหนผมจะจับลงโทษให้หมด”

มันจะใหญ่แค่ไหน?
ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปวีณเก็บงำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเอาไว้ในขณะที่ต้นลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งพรรคก้าวไกลได้รับเอกสาร คำให้การต่อรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อขอลี้ภัย ทำให้เราทราบรายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบว่าประเทศไทยมีกระบวนการบิดคดีทำให้คนผิดเป็นคนถูกทำให้คนดีต้องลี้ภัยอย่างไรบ้างและที่สำคัญคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ “มันจะใหญ่แค่ไหน?”

หัวกระดาษเอกสารคำให้การต่อรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณ
ปม 1 : ช่วยเหลือพวกพ้อง ไม่ส่งหลักฐานเชื่อมนายพล
หลังจากการค้นพบค่ายกักกันและศพชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นคดีสะทือนขวัญและได้รับความสนใจจากนานาชาติ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ได้เริ่มทำงาน มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสนธิกำลังเพื่อค้นบ้านผู้ต้องหาค้ามนุษย์เพื่อค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเพื่อขยายผลการสืบสวนสอบสวน
เมื่อมีการแถลงข่าวกรณีค้นบ้านผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ดังกล่าว สื่อมวลชนได้สอบถามถึงการพบหลักฐานใบฝากเงินเข้าธนาคาร ทางด้าน พล.ต.ต.ปวีณ ปฏิเสธกระแสข่าวเพราะในบันทึกการจับกุมไม่มีแจ้งไว้ว่าพบหลักฐานดังกล่าว
“ผมยืนยันว่าผมไม่ได้รับ แต่หลังจากนั้นคนในทีมของผมแจ้งว่ามีการลงข่าวไปทั่วโซเชียลมีเดียไปหมดเลยถึงสลิปฝากเงิน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ผมตกใจ พอไปเปิดดูก็พบว่าเป็นไปตามที่นักข่าวถาม เราก็รีบเอาหลักฐานการตรวจค้นที่ประกฏอยู่ในโซเชียลมีเดียเพื่อไปสอบถามทางผู้กำกับ สภ.ระนอง ว่าทีมไหนไปตรวจค้น ท่านบอกว่าเป็นทีมของ พ.ต.อ. อ………… รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 8 ดังนั้นทีมงานผมตกลงกันว่าจะทำหนังสือทวงถามหลักฐานชิ้นนี้
หลังจากนั้นผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ เขาก็เอาสลิปฝากเงินมาให้พนักงานสอบสวน แล้วก็มีปัญหากัน มีปากเสียงไม่พอใจกันกับทีมงานผม โดยเขากล่าวว่า พล.ต.อ.จ…….. สั่งไว้ไม่ให้ส่งหลักฐานชิ้นนี้มาให้ทีมสืบสวนของผม
ซึ่งหลักฐานสลิปฝากการเงินชิ้นนั้น เป็นการฝากเงินเข้าบัญชีของ พล.ท.มนัส คงแป้น”

พบหลักฐานสลิปฝากเงินจำนวนมาก หลังจากการตรวจสอบแล้วพบการโอนหลายรายการ มูลค่าร่วมนับล้านบาท ไปยังบัญชีธนาคารของ พล.ท.มนัส คงแป้น




พล.ท.มนัส คงแป้น (เสื้อยืดสีเทาเข้ม สวมหมวก และกางเกงวอร์มสีกรมท่า)
ปม 2 : กดดันให้ประกันตัว พล.ท.มนัส คงแป้น
หลังจากที่ทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ได้รับหลักฐานการเงินที่เชื่อมโยงระหว่างขบวนการค้ามนุษย์กับ พล.ท.มนัส คงแป้น แล้ว จึงมีการขออกหมายจับ ทำให้ พล.ท.มนัส คงแป้น ตัดสินใจเข้ามอบตัว โดยมีเพื่อนพี่น้องตำรวจทหาร ให้การรับรองอย่างออกหน้าออกตาไม่เกรงใจสังคม

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ได้รับโทรศัพท์จาก พ.ต.อ.ส……… กล่าวว่าตนเป็นคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่รับหน้าที่ปราบปรามการค้ามนุษย์ในขณะนั้น โดยกดดันให้ทางตำรวจไม่ฝากขัง พล.ท.มนัส คงแป้น
“ก่อนที่ พล.ท.มนัส คงแป้น จะเข้ามอบตัว ผมได้รับโทรศัพท์สายหนึ่ง ว่าชื่อ พ.ต.อ.ส….. รองผู้บังคับการฯ เป็นนายตำรวจติดต่อประสานงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยท่านรองนายกมอบหมายเขามาให้ประสานงานกับพนักงานสอบสวนให้ พล.ท.มนัส คงแป้น ได้รับการประกันตัวเมื่อมีการมอบตัวแล้ว
ผมได้ยินแล้วก็ตกใจว่านี่คือคดีใหญ่ของประเทศ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ทุกคนประกาศว่าคดีค้ามนุษย์เป็นคดีสำคัญ ต้องทำอย่างจริงจัง เราก็ตั้งใจทำอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาลและตามแนวทางของกฎหมายบนความยุติธรรม แต่ทำไมมีโทรศัพท์จากนายตำรวจติดตามแล้วอ้าง พล.อ.ประวิตรอย่างนี้…
ผมจึงตอบว่าคดีนี้เป็นคดีอาชญากรรมข้ามชาติ เราทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ง. ฯลฯ เป็นคดีร้ายแรง พบศพจำนวนมาก เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย มีลักษณะเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เราจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัวแม้แต่คนเดียว และจะคัดค้านการประกันตัวในชั้นศาลด้วย เราจะปฏิบัติกับผู้ต้องหาทุกคนเช่นเดียวกัน ไม่มีการลักลั่น แล้วถ้าเราให้ พล.ท.มนัส คงแป้น ได้ประกันตัวไปเพียงคนเดียวเนี่ย เราจะตอบสื่อมวลชนและประชาชนทั้งประเทศอย่างไร ว่าเมื่อจับนายทหารสักคนขึ้นมา ก็มีการละเว้นหลักการส่วนนี้ เพราะมันจะเกิดความเสียหายทั้งต่อคดีและต่อภาพลักษณ์ของประเทศ”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับดูแลนโยบายปราบปรามการค้ามนุษย์
ปม 3 : ถูกข่มขู่
ทางทหารไม่พอใจมากที่ออกหมายจับ พล.ท.มนัส คงแป้น แถมยังมีการออกหมายจับนายทหารอีก 4 นาย เมื่อรายงานไปยังผู้บังคับบัญชากลับถูกตำหนิและถูกสั่งให้เก็บหมายจับเป็นความลับไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้ แต่เมื่อใช้วิธีส่งหมายจับไปให้กองทัพอย่างเงียบๆ ผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ต.ปวีณ กลับถูกเด้งออกไป ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาท่านนั้นมีโอกาสมากกว่าแคนดิเดตคนใดๆ ในการจะได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. เสียด้วย
แม้ว่าจะถูกกดดันจากทุกทิศทาง แต่ทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ของ พล.ต.ต.ปวีณ สามารถสรุปสำนวนและส่งฟ้องศาลได้สำเร็จภายในเวลาอันจำกัด โดยมีเอกสาร 699 แฟ้ม เกือบ 3 แสนแผ่นกระดาษ สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้ถึง 153 คน

แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ เพราะมีทั้งตำรวจ ทหาร และข้าราชการ จากหลายหน่วยงาน ส่งคำเตือนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งหวังดีและไม่หวังดี ถึงความปลอดภัยของเขาและครอบครัวจากการที่เขาทำคดีนี้ เนื่องจากเขาทำให้ทหารไม่พอใจเป็นจำนวนมาก เพราะได้ดำเนินคดีกับสมาชิกในกองทัพอย่างตรงไปตรงมาไม่ละเว้น
ปม 4 : ถูกเด้ง
ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้อนุมัติให้ย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ จากรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปรักษาราชการอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้
การย้ายไปชายแดนใต้ครั้งนี้เปรียบเสมือนเป็น “ใบสั่งตาย” ให้ไปอยู่ในพื้นที่เขตอิทธิพลของขบวนการค้ามนุษย์และเขตอิทธิพลของทหาร(ที่บอกว่าไม่พอใจมากจากการออกหมายจับของปวีณ) และยังเป็นพื้นที่ที่กองทัพใหญ่ที่สุดจากอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
พล.ต.ต.ปวีณ ไม่สมัครใจย้ายไปตามคำสั่งดังกล่าว จึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการตำรวจเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
ปม 5 : ถ้าไม่เข้าวัง ก็มีอันฉิบหายวายวอดกันไป นี่คือด้านตรงข้ามของ ‘ตั๋วช้าง’
ไม่กี่วันหลังจากการยื่นใบลาออก พล.ต.ต.ปวีณ ได้รับโทรศัพท์จาก พล.ต.ท.ฐ……. อ้างว่าผู้บังคับบัญชาของเขาได้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.ต.ปวีณแล้ว ไม่นานหลังจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์จาก พล.ท.จ……… ที่เล่าให้ผู้บังคับบัญชาฟังว่าการย้าย พล.ต.ต.ปวีณไปภาคใต้นั้นไม่ต่างอะไรกับการ “ส่งไปตาย”
นำไปสู่การที่ พล.ต.ต.ปวีณ ได้พูดคุยกับ พล.อ.อ.ส…….. ข้าราชการชั้นสูงคนหนึ่งของประเทศนี้ พร้อมทั้งได้รับแฟกซ์ใบสมัคร ‘สนง.นรป.904’ พร้อมทั้งให้ พล.ต.ต.ปวีณ ทำเรื่องถอนใบลาออก

พล.ต.ต.ปวีณ ได้กรอกใบสมัคร สนง.นรป.904 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ปวีณ ยืนยันอยากทำงานในคดีค้ามนุษย์ต่อ ทาง พล.อ.อ.ส. ได้ให้ตัวเลือกว่า 1.จะทำงานกับเขา หรือ 2.จะไปดูคดีค้ามนุษย์ต่อในสังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง ส่วน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ที่อยู่ในที่นัดพบด้วย ให้ข้อเสนอที่ 3.ยืนยันว่าจะลาออก แล้วอยู่เงียบๆ ไป
ในขณะนั้น พล.ต.ต.ปวีณ เชื่อจริงๆ ว่าเขาจะได้รับหน้าที่ให้ดูคดีค้ามนุษย์ต่อไป จึงแจ้งความประสงค์จะเลือกข้อ 2. แล้วไปทำหนังสือขอถอนใบลาออกต่อหน้า ผบ.ตร.
ทว่าในคืนเดียวกัน ผบ.ตร. กลับสั่ง พล.ต.ต.ปวีณ ให้ไปพบในวันรุ่งขึ้น เมื่อไปพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวกับ พล.ต.ต.ปวีณว่า “พี่กับผมไม่มีอะไรกันนะครับ แต่พี่ต้องลาออกแล้วอยู่เงียบๆ ไป” จากนั้นก็ต่อสายตรงถึง พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ที่ยืนยันเช่นเดียวกันว่าให้ลาออกแล้วอยู่เงียบๆ ไป
ถึงจุดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ รู้สึกว่าไม่สามารถไว้วางใจสถาบันใดๆ ในประเทศนี้ได้อีกแล้ว และการอยู่ในประเทศไทยจะกลายเป็นช่องให้ถูกกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะการยัดข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีทหารตำรวจและบุคคลจำนวนมากโดนข้อกล่าวหานี้ อย่างเช่นกรณีหมอหยองและพวก ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาในเรือนจำ
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ลี้ภัยไปต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้
ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ถามว่า
“กรณีที่เกิดขึ้นนี้คือเรื่องเดียวกับกรณีที่ตำรวจ 96 นายถูกลงโทษธำรงวินัยจากการไม่ยอมย้ายสังกัดใช่หรือไม่? หรือนี่เป็นด้านตรงข้ามของคนที่ได้ ‘ตั๋วช้าง’ คือถ้าไม่ได้ดี ก็ต้องมีอันฉิบหายวายวอดกันไป นี่คือผลลัพธ์ของการที่ใครสักคนหนึ่ง ปฏิเสธ ‘ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้’ หรือเปล่า?“
ย้อนกลับไปฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารกล่าวในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ว่า “กลับมา มาบอกนี่จะจับให้ ใครไปขู่ ขู่จริงหรือเปล่า… มีความรักชาติเหลือมั้ยเกิดมาบนแผ่นดินนี้ บอกมาดิใครขู่มันจะใหญ่แค่ไหนผมจะจับลงโทษให้หมด”

จบแบบไม่จบ
หลังจาก พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ต้องลี้ภัยในปลายปี 2558 ศาลได้ตัดสินลงโทษจำเลยค้ามนุษย์จำนวนหนึ่ง แต่มีผู้ถูกยกฟ้องถึง 40 คน รวมทั้งข้าราชการ ตำรวจ และทหารระดับสูง
ระหว่าง พล.ท.มนัส คงแป้น ถูกจำคุกจากการตัดสินของศาลลงโทษคดีค้ามนุษย์ พล.ท.มนัส มักกล่าวด้วยความเคียดแค้นเสมอๆ ว่า “ตอนทำก็รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกคน ตอนโดนทำไมกูโดนอยู่คนเดียว ถ้าออกไปได้กูจะเอาคืนให้หมด” แต่จู่ๆ ในเดือนสิงหาคม 2564 พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญที่สุดของคดีค้ามนุษย์ กลับเสียชีวิตอย่างปริศนาภายในเรือนจำด้วยอาการหัวใจวาย
การรัฐประหารในเมียนมาร์ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังหลั่งไหลเข้าไทยเพื่อผ่านไปยังมาเลเซีย ต้องยอมเสียเงินและเสี่ยงตาย ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด