👨🌾 ‘จ่าตา’ อดิศักดิ์ สมบัติคำ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดรายงาน สตง. ยืนยันชัด “โคก หนอง นา โมเดล” ส่อล้มเหลว เสียเงินกู้ฟรี 4,700 ล้าน จี้อนุพงษ์-ปลัด มท. ชี้แจง
1.- ถ้าเรายังจำกันได้ในปีที่แล้วในเงินกู้โควิด รัฐบาลได้กันงบส่วนหนึ่งมาไว้ตีเช็คเปล่าเพื่อทำโครงการต่างๆ หนึ่งนั้นคือ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่’ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘โครงการ โคก หนอง นา’ โดยกรมพัฒนาชุมชน
2.- วงเงินตอนแรกวางไว้ 9,800 ล้านบาท แต่เมื่อทำไปแล้วเกิดปัญหาในทางปฏิบัติทำให้ลดวงเงินลงมากว่าครึ่งหนึ่ง เหลือ 4,700 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามโครงการที่คิดจากข้างบนโดยไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จได้ ดังที่พรรคก้าวไกลเคยอภิปรายไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว
3.- ต่อกรณีนี้ อดิศักดิ์ สมบัติคำ หรือ ‘จ่าตา’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.มหาสารคาม ได้ออกมาเปิดรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เพิ่งมีออกมารายงานผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา โมเดล” ของกรมพัฒนาชุมชน ว่าโครงการแทบไม่เดิน ทำจริงไม่ได้ ยังไม่เกิดผลทางปฏิบัติ
4.- ‘จ่าตา’ กล่าวว่าตอนเริ่มโครงการภาครัฐโฆษณาด้านดีด้านเดียว โดยอ้างแต่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอทำจริงข้างนอกสดใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้แล้วว่าโครงการทำจริงในทางปฏิบัติแทบไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ยังดันทุรังทำ ผลคือโครงการล้มเหลวตามที่พรรคก้าวไกลอภิปรายไว้ทุกประการ
5.- สตง. เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าโครงการมีปัญหา 3 เรื่อง ที่ทำให้โคก หนอง นาเป็นโครงการส่อล้มเหลว
- 📌 หนึ่ง โครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ กรมพัฒนาชุมชนทำเสร็จเพียง 1 จาก 6 กิจกรรม ทำให้ต้องขอขยายเวลากว่า 2 รอบ ถึงจะปิดโครงการได้
- 📌 สอง พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบทำไม่ได้จริง ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามแบบ บางที่ยังสร้างไม่เสร็จ บางที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ส่วนที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้
- 📌 สาม ครุภัณฑ์อุปกรณ์ต่างๆ ในวันที่ สตง. ลงไปตรวจสอบ ยังถูกใช้ไม่ครบ ซึ่งมีทั้งบางที่ยังไม่ได้ใช้อุปกรณ์เลยแม้แต่รายการเดียว บางที่ใช้ไปแค่บางส่วน หรือก็คืองบอุปกรณ์ที่จัดซื้อลงไปถูกเอาไปวางทิ้งไว้เฉยๆ
6.- ในรายงานเล่มนี้ สตง. บอกชัดเจนว่าสาเหตุเกิดจากตัวกรมพัฒนาชุมชนออกโครงการที่ไม่เข้าใจบริบทของปัญหา สอดคล้องกับปัญหาที่ได้รับฟังมาจากประชาชนและผู้รับเหมาบอกตรงกันว่า หน่วยงานกรมพัฒนาชุมชนที่รับงบประมาณไม่มีความพร้อมในทุกๆด้าน เช่น บุคลากร ต้องใช้จากหน่วยงานอื่น เช่น ขอช่างจาก อบต. เทศบาล ฯ จริงๆ แล้วงบประมาณควรไปลงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมทุกอย่างมากกว่า
7.- โครงการที่ล้มเหลวในครั้งนี้ แทนที่ตัวตั้งตัวตีในการผลักดันโครงการอย่าง ‘สุทธิพงษ์ จุลเจริญ’ ที่ดันโครงการนี้มาตั้งแต่เป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนจะต้องรับผิดชอบในการออกนโยบายผิดพลาด กลับได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ถือว่าเป็นการปูนบำเหน็จรางวัลให้ข้าราชการแต่เป็นการตบหน้าประชาชน ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ลอยตัวเหนือปัญหา ไม่มีการชี้แจงใดๆ กับประชาชน
“ไม่ใช่แค่ปลัดกระทรวง แต่พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา ในฐานะเจ้ากระทรวงมหาดไทย ที่รับงบประมาณมากกว่า 4,700 ล้านบาท ก็ต้องออกมาชี้แจงความล้มเหลวของโครงการกับพี่น้องประชาชน ความเงียบของท่านไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้”
จ่าตา อดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
“ขณะเดียวกันความเคลือบแคลงสงสัยของพี่น้องประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่มีความโปร่งใส ไร้การตรวจสอบ ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ยิ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนขาดความเชื่อมั่นและไร้ซึ่งความหวังต่อรัฐบาล ซึ่งขณะนี้เป็นที่รับรู้กันว่าคะแนนนิยมของพี่น้องประชาชนที่มีต่อรัฐบาลต่ำเตี้ยลงทุกวัน”