free geoip

สำรวจ “บางระกำโมเดล” กับวิธีคิดการจัดการแบบ “พื้นที่รับน้ำ”


ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในประเทศไทย เป็นปัญหาร่วมที่กระจายไปในทุกภาคทั่วประเทศ กลายเป็นปรากฎการณ์ “ปกติ” ที่เป็นที่ทำใจของประชาชนที่อยู่ในเขตน้ำท่วมซ้ำซากมานานหลายสิบปีแล้ว

ประโยคข้างต้นนี้ เอาเข้าจริงเป็นวิธีคิดที่ไม่สู้จะถูกต้องเท่าไหร่ แต่สำหรับประชาชนจำนวนมากรวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำส่วนใหญ่ มันก็เป็นปัญหาที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรจริงๆ และกลายเป็นเรื่องที่ต้อง “ทำใจ” ด้วยความที่ยังไม่มีใครสามารถผลักดันให้เกิดการจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบแบบพลิกแผ่นดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรได้จริงๆ

ด้วยวิธีคิดว่าน้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นเรื้อง “ปกติ” ที่ต้อง “ทำใจ” จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “บางระกำโมเดล” ขึ้นมา เป็นรูปแบบการจัดการน้ำที่มีการใช้อยู่ในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ขนาบด้วยทั้งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ที่ทำให้ “ปฏิเสธไม่ได้เรื่องการเป็นพื้นที่รับน้ำ” ในฤดูมรสุม

โดยสรุปอย่างคร่าวๆ ตามภาษาราชการ บางระกำโมเดล คือการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปีในพื้นที่ให้เร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายนจากเดิมที่เป็นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ชุมชนเมือง ชะลอการระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้บางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ หน่วงน้ำรอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง


ในภาษาชาวบ้าน มันคือการที่ไหนๆ ก็ ไหนๆ บางระกำปฏิเสธความเป็นพื้นที่รับน้ำไม่ได้อยู่แล้ว ก็ให้ชาวบางระกำต้องปรับตัวในเรื่องของการเพาะปลูกเสีย แล้วใช้การเป็นพื้นที่รับน้ำที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วให้เต็มที่ไปเลย เพื่อไม่ให้พื้นที่อื่นที่มีประชากรหนาแน่นกว่าต้องได้รับผลกระทบ แล้วก็ค่อยมาเยียวยาทีหลัง

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนการรัฐประหารปี 2557 และมีการมาต่อยอดในสมัยของรัฐบาลจากการรัฐประหารด้วย เป็นที่กล่าวขานถึงกันอย่างมากตามหน้าข่าวประชาสัมพันธ์ที่ส่ง press มาให้สำนักข่าวต่างๆ รายงาน แต่คำถามก็คือผลสัมฤทธิ์นั้นชี้วัดด้วยอะไรเป็นเกณฑ์ และเกณฑ์ชี้วัดนี้เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของชาวบ้านหรือไม่?

หลังจากเพิ่งไปศึกษารับรู้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างมาเมื่อต้นสัปดาห์ “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล เดินทางต่อมายังจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ทั้งตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เพื่อรับฟังปัญหาหลายๆ ด้านของประชาชน ร่วมกับทีมงาน ส.ส. พรรคก้าวไกลหลายคน

และหนึ่งในพื้นที่ที่เพชรได้มาพบปะกับประชาชนและเรียนรู้ปัญหา ก็คือพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมกับ ชุตินันท์ ชญาณ์นันท์โภคิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 จ.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล

ระหว่างการเดินสายของทีมงานพรรคก้าวไกลในรอบนี้ หลายพื้นที่ที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เป็นพื้นที่น้ำท่วม แต่โดยส่วนใหญ่น้ำก็ลดลงไปมากแล้วหรือหลายพื้นที่ก็น้ำแห้งไปแล้ว แต่ในพื้นที่ของ อ.บางระกำ เองนั้น เป็นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังคงมีน้ำท่วมในระดับที่สูงมิดท่วมชั้นหนึ่งอยู่เป็นหย่อมๆ มีส่วนที่ท่วมถึงเข่าอยู่เป็นระยะๆ ท่วมทั้งนาข้าวเป็นจุดๆ ขณะที่บางจุดที่ไม่ท่วมเลยก็มี เป็นลักษณะแบบนี้กระจายไปทั่วทั้งอำเภอ


จุดแรกที่ทีมงานพรรคก้าวไกลได้ไปดู ก็คือ “แก้มลิงบึงตะเครง” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน อ.บางระกำ ที่เมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้วก็พอจะเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้อยู่ไม่น้อย

ประการแรกคือความไม่ถูกเชื่อมโยงกับพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติจริงๆ มีเพียงลำรางน้ำสายเล็กๆ ไม่กี่เส้นที่ทำเชื่อมออกสู่พื้นที่ภายนอก ระดับน้ำในบึงเองก็ตื้นเขินอย่างเห็นได้ชัด ว่าไม่มีน้ำจากภายนอกเข้ามาเลย เป็นภาพคนละแบบกับพื้นที่น้ำท่วมเป็นหย่อมๆ ที่เราเห็นมาตลอดสองข้างทางที่วิ่งรถผ่านมาโดยสิ้นเชิง นำไปสู่คำถามว่าทำไมพื้นที่ๆ ควรจะช่วยรองรับน้ำได้จริงๆ กลับไม่ถูกนำมารองรับน้ำอย่างที่ควรจะเป็น?

จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่เราได้พบปะพูดคุยกัน หลายคนบอกว่านั่นเป็นเพราะความสูงต่ำของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ระหว่างแก้มลิงบึงตะเครงกับพื้นที่รับน้ำซึ่งชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินกันจริงๆ ด้วยสภาพโดยธรรมชาติเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่น้ำที่ท่วมขังอยู่จะไหลขึ้นไปที่แก้มลิงเพื่อบรรเทาปัญหาจริงๆ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำที่มีไม่เพียงพออยู่แล้ว หรือไม่ก็มาแต่ตัวเครื่องแต่ไม่ได้ให้น้ำมันมาด้วย

สำหรับชาวบ้านบางระกำจำนวนมาก เรื่องของปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว ท่วมทีก็ครั้งละเดือนกว่าๆ จนต้องส่งต่อสภาวะจำยอมมาจากรุ่นสู่รุ่น คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรได้ และก็ต้อง “ทำใจ” ให้ได้ รอรับถุงยังชีพที่แจกอย่างไม่ทั่วถึง

ครอบครัวๆ หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่เราได้พูดคุยด้วย พักอาศัยอยู่ในเตนท์ที่ทางการจัดมาให้บนถนน บ้านและที่นาที่อยู่ข้างล่างอยู่ใต้น้ำที่ท่วมมาได้เดือนกว่าแล้ว น้ำเองเริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น แต่นอกจากถุงยังชีพและความช่วยเหลือพื้นฐานต่างๆ แล้ว พวกเขายังไม่ได้รับในสิ่งที่เป็นเงินเยียวยาจริงๆ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องรอให้น้ำแห้งก่อน ให้เจ้าหน้าที่มาสำรวจประเมินความเสียหายก่อนแล้วถึงจะเบิกจ่ายได้ ซึ่งก็มีเงื่อนไขเข้าไปอีกว่ามีความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรด้วยหรือไม่


หากประเด็นหลักของการทำ “บางระกำโมเดล” คือการใช้ศักยภาพของพื้นที่รับน้ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ท่วมพื้นที่สำคัญอย่างเขตเมือง และชะลอการปล่อยน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเยียวยาให้ชาวบ้านที่ต้องเป็นผู้อยู่ในพื้นที่รับน้ำอย่าง “ไม่อาจปฏิเสธได้” ผลสัมฤทธิ์ของบางระกำโมเดล ก็เห็นทีว่าจะมีแต่เพียงครึ่งท่อนแรกเท่านั้น ก็คือการให้บางระกำได้ใช้ศักยภาพในการเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างเต็มที่ ส่วนการเยียวยาก็ยังคงเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย ไม่ทั่วถึง และไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทุกปี

“การเยียวยาด้วยถุงยังชีพอย่างเดียวมันไม่พอหรอก ชีวิตคนเรามันไม่ได้กินข้าวอย่างเดียว มันมีเรื่องที่ต้องใช้เงินเข้ามาด้วย การเยียวยาในระบบที่ต้องรอน้ำลด รอประเมินความเสียหาย มีเกณฑ์อะไรเต็มไปหมดมันแย่เกินไป น้ำจะท่วมแค่ขา ถึงชั้นเดียวหรือสองชั้น ท่วมที่นาด้วยหรือท่วมแค่บ้าน มันมีผลกระทบกันทั้งนั้น การเยียวยาเป็นเงินอย่างน้อยควรต้องมีให้ทุกคนที่ถูกน้ำท่วม เพราะสุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้น มันมาจากการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งนั้น”

เพชรกล่าวขึ้นตอนหนึ่งระหว่างการพบปะประชาชน

แน่นอนว่าการจัดการปัญหาน้ำท่วมบางระกำ เช่นเดียวกับการจัดการปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ยังคงเป็นปริศนาที่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ถ่องแท้ เป็นปัญหาที่คงต้องถูกจัดการในระยะยาวทั้งระบบอย่างถาวร ไม่ใช่แค่การผลักภาระให้ประชาชนต้องมาเป็นผู้รับน้ำและรับกรรม แต่ก่อนที่จะมีการแก้ไขปัญหาไปให้ถึงจุดนั้น ตราบใดที่ชาวบ้านยังคงต้องเป็นผู้รับน้ำอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้อยู่ ก็ต้องตอบโจทย์การเยียวยาให้ทั่วถึงและสมน้ำสมเนื้อให้ได้

ในท้ายที่สุด โจทย์ของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็คือการทำให้ไม่ท่วม หรืออย่างแย่ที่สุดถ้ามันจะต้องท่วมจริงๆ ก็จะต้องทำให้น้ำผ่านไปโดยเร็วที่สุด มีช่องให้น้ำออก ขยายแม่น้ำไม่ได้ก็ต้องขุดลอก ให้ระบายได้เร็ว ทำพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำ ขุดแม่น้ำให้ลึกขึ้น ขยายพื้นที่ระบายน้ำออก มีจุดระบายน้ำที่ชัดเจน ฯลฯ จะอย่างไรก็ได้ให้ตอบโจทย์ของการไม่ให้ท่วม หรือให้ท่วมน้อยที่สุด เร็วที่สุด

เทคโนโลยีวิศวกรรมการจัดการน้ำของโลกไปไกลมากแล้ว มันคงต้องถึงเวลาเสียทีที่เราต้องก้าวให้พ้นวิธีคิดแบบที่ “ปฏิเสธไม่ได้เรื่องการเป็นพื้นที่รับน้ำ” ที่สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เคยได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง


🔥ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า 🔥
🍊เปลี่ยนรัฐบาลไม่พอ ต้องเปลี่ยนประเทศ 🍊


สื่อชิ้นนี้ผลิตโดย พรรคก้าวไกล เลขที่ 167 ชั้น 4 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 จำนวนที่ผลิต 1 โพสต์ วันที่ผลิตตามวันเดือนปีที่ปรากฏ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า