“ก้าวไกล” ชี้ เหตุปะทะหนองจิก สะท้อนปัญหาความปลอดภัยพลเรือน ชูข้อเสนอ “ผู้ตรวจการกองทัพ” สอบการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่
คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล ชี้ เหตุปะทะที่ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ใหญ่บ้าน สะท้อนปัญหาความปลอดภัยของพลเรือนที่เข้าไปช่วยราชการและที่อยู่ในพื้นที่ปะทะ หวังในอนาคตมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยพลเรือนมากขึ้น ย้ำ นี่คือเหตุที่ต้องมีผู้ตรวจการกองทัพมากำกับมาตรฐานการใช้กำลัง
รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีเหตุเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่มีการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยลอบวางเพลิงและวางระเบิดสถานีบริการน้ำมันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่หมู่ 7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนนำไปสู่การปะทะและเสียชีวิตของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และผู้ต้องสงสัย 1 ราย โดยระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการปฏิรูปการใช้กำลังในพื้นที่
รอมฎอน ชี้ว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรกที่นำไปสู่การปะทะและการเสียชีวิต แต่เป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าไปช่วยราชการในการเจรจาต่อรอง ซึ่งในกรณีนี้คือผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นและข้อสังเกตของประชาชนในที่เกิดเหตุ มีการตั้งข้อสงสัยต่อความได้สัดส่วนของการใช้กำลัง และการดูแลความปลอดภัยของพลเรือนในพื้นที่ที่มีการสู้รบ
การให้ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปในจุดเกิดเหตุที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน การที่พลเรือนไม่ได้ถูกกันออกมาจากพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมถึงการควบคุมตัวนักกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่มาซักถามในช่วงระหว่างที่มีการปิดล้อมและพื้นที่ซึ่งมีการใช้กำลัง นำไปสู่คำถามจากประชาชนพื้นที่ว่ามีการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนในจุดเกิดเหตุหรือไม่ และในอนาคตจะมีการนำพลเรือนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการทหารในลักษณะนี้อีกหรือไม่
รอมฎอนระบุต่อไป ว่าการใช้กำลังให้มีความเหมาะสมกับกฎแห่งการใช้กำลัง การให้ความสำคัญกับชีวิตพลเรือนทั้งที่เข้าไปช่วยราชการ และประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ล้วนมีผลต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในกรณีชายแดนใต้ ในอดีตเมื่อสาธารณชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา แต่ในระยะหลังกลไกในลักษณะนี้กลับมีลดน้อยลง
นี่คือเหตุที่พรรคก้าวไกล ได้เคยเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอสำคัญคือการให้มีการจัดตั้งผู้ตรวจการกองทัพ เป็นกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการทางการทหารและการดำเนินการตามกฎการปะทะหรือกฎการใช้กำลังที่เป็นที่กังขาของสาธารณชนให้มีความโปร่งใสและมีมาตรฐาน ซึ่งจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อกรณีชายแดนใต้ ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจและการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่สูงมาก อันเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ข้อผิดพลาดและความหละหลวมในการใช้กำลังที่ผ่านมาโดยตลอด
รอมฎอนกล่าวว่าในอนาคต การมีกลไกตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชนเช่นนี้ จะทำให้การใช้กำลังในอนาคตจะอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็นได้ ส่วนในระยะเฉพาะหน้านั้น เห็นว่าการปิดล้อมตรวจค้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรต้องมีการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพลเรือนมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีอาวุธ หรือประชาชนทั่วไปในที่เกิดเหตุ และจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการกันคนออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหล่านั้นมากขึ้น
“สิ่งที่จะเป็นประเด็นในอนาคตข้างหน้าก็คือ อาจจะไม่มีผู้นำชุมชนคนไหนยินยอมที่จะไปช่วยคุยหน้างานให้กับหน่วยงานที่ถืออาวุธอีกต่อไปแล้ว หากไม่มีการให้หลักประกันว่าพวกเขาจะปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอย่างมาก ในกรณีที่ดอนรักนั้น สาธารณชนแทบจะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวงล้อมและแนวปะทะ หลายกรณีที่ผ่านมาเราพบว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าในการปิดล้อมมักจะสู้จนตัวตายและไม่ยอมที่จะมอบตัว ส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเราก็แทบไม่รู้ว่าได้ยึดถือกฎการปะทะและใส่ใจต่อความปลอดภัยของพลเรือนมากพอหรือเปล่า เราจึงต้องให้มีกลไกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการดึงคนไปช่วยแล้วปรากฏว่ามีการใช้กำลังแล้วเสียชีวิต โดยที่ข้อเท็จจริงอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวเท่านั้น” รอมฎอนกล่าว