ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และ ‘ปลัดติ๋ง’ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้พบปะคนรุ่นใหม่กลุ่ม ‘กิ่งก้านใบ’ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของประเทศไทยที่เยาวชนต้องการให้แก้ไข โดยพบว่าปัญหาด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านสวัสดิการ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
ในด้านการศึกษา พริษฐ์มองว่าปัจจุบันการศึกษาไทยมีปัญหาหลัก 3 เรื่อง คือปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และปัญหาค่านิยมในโรงเรียน พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทาง ‘7 เปลี่ยน’ ที่เชื่อว่าจะช่วยให้โรงเรียนไทยทั่วประเทศมีคุณภาพใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน และทำให้การศึกษาไทยเท่าทันโลก ประกอบด้วย
(1) เปลี่ยนจาก ‘เรียนฟรีทิพย์’ เป็น ‘เรียนฟรีจริง’ ด้วยการตัดค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคนไหนต้องหลุดจากระบบการศึกษา และเพื่อคุ้มครองสิทธิในการเรียนฟรีของเด็กไทย ครอบคลุมค่าอาหารและค่าเดินทาง
(2) เปลี่ยนจากหลักสูตรที่เน้น ‘อัดฉีดเนื้อหา’ มาเป็นหลักสูตรที่เน้น ‘พัฒนาทักษะ-สมรรถนะ’ ที่นำมาใช้ได้จริง ยกตัวอย่างเช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่ไม่ควรเน้นแค่หลักภาษาและไวยากรณ์ แต่ต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดให้เด็กได้ฝึกใช้ภาษา เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสาร
(3) เปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้จากแบบ ‘เสื้อเหมาโหล’ (one size fits all) มาเป็นแบบ ‘เสื้อสั่งตัด’ ลดวิชาบังคับ ลดการแบ่งสายแบบตายตัว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักเรียนได้เลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจหรือถนัดได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
(4) เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จากที่เสี่ยง ‘ทำลาย’ การเรียนรู้ มาเป็น ‘ส่งเสริม’ การเรียนรู้ เช่น ลดเวลาเรียน ลดปริมาณการบ้าน และลดการสอบแข่งขันที่มากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะเครียด หรือภาวะหมดไฟในการเรียนรู้
(5) เปลี่ยนบทบาทโรงเรียน จากที่เน้นดูแลแค่ ‘พัฒนาการด้านการเรียน’ มาเป็นการดูแล ‘พัฒนาการแบบองค์รวม’ ของนักเรียน ซึ่งครอบคลุมถึงทั้งสุขภาพกาย (เช่น โภชนาการ ความปลอดภัย) และสุขภาพจิต
(6) เปลี่ยนจาก ‘ห้องเรียนอำนาจนิยม’ สู่ ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่คุ้มครองสิทธินักเรียน เสรีภาพในการตั้งคำถามและแสดงออก รวมถึงการออกแบบกฎระเบียบที่ทันสมัยโดยนักเรียนมีส่วนร่วม
(7) เปลี่ยนการบริหารจัดการแบบ ‘รวมศูนย์’ มาเป็นแบบ ‘กระจายอำนาจ’ เพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจเรื่องงบประมาณ และอำนาจการออกแบบหลักสูตรบางส่วน ไปสู่โรงเรียนทุกแห่ง ประกอบกับการเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
นอกจาก ‘7 เปลี่ยน’ ด้านการศึกษาแล้ว พริษฐ์กล่าวว่าก้าวไกลยังเสนอให้มี ‘คูปองเปิดโลก’ ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งในชุด ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ ที่จะแจกคูปองแก่เด็กวัยเรียน มูลค่า 1,000-2,000 บาทตามช่วงอายุ เพื่อนำไปใช้สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ (เช่น กีฬา ดนตรี ภาษา) รวมถึงการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่ร่วมสมัยในแต่ละท้องถิ่น
ด้านทองแสง ชัยแก้ว หรือ ‘อ๊อด’ ผู้อำนวยการสำนักกิ่งก้านใบ ย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงกับระบบการศึกษาที่รัฐจัดสรรให้ รวมถึงการเพิ่มทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แก่เยาวชนไทย ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เขาจัดตั้งกลุ่มกิ่งก้านใบขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน
ระหว่างการพูดคุย ตัวแทนเยาวชนได้สะท้อนหลายปัญหาด้านการศึกษาที่พวกเขาพบเจอ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องกฎระเบียบ หลักสูตรที่ล้าหลัง การเรียนการสอนที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายของนักเรียน หรือ การขาดการเสริมทักษะผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียน
นอกจากนี้ วงพูดคุยยังแลกเปลี่ยนกันเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ