free geoip

ปฏิรูปกองทัพล้มเหลว ใต้ร่มเงาระบอบประยุทธ์ ปล่อยเงินทอนสะพัดว่อนทั้งสามเหล่า







รับชมคลิปการอภิปราย : https://youtu.be/L8KbLo9SpMc





เป็นที่รู้กันดีว่ากองทัพไทยคือแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่ใครๆ  ก็ตามได้ผ่านเข้ามาไต่เต้าไปจนถึงระดับนายพลแล้ว  มักจะร่ำรวยกลับออกไปตั้งแต่หลักหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยล้านบาท  จากเดินที่เริ่มต้นมาแบบไม่มีอะไรเลย



และยังเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมแบบ “ศักดินา” ฝังรากลึกที่สุด  คำว่าสิทธิมนุษยชนไม่เคยได้รับการยอมรับที่นี่  และมีข่าวอื้อฉาวทุกปีเกี่ยวกับการตายอย่างลึกลับของพลทหารใหม่  การทุจริตฉ้อฉล เงินทอนโครงการจัดซื้อจัดจ้าง


และสิ่งที่เป็นมานานนมนี้ ก็ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย มาจนถึงยุคของ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่  หรือบางเรื่องเลวร้ายลงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ


และนี่คือข้อสรุปที่ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  ได้รวบรวมและนำเสนอไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ผู้เป็นหัวเรือและพี่ใหญ่ของกองทัพทั้ง 3 เหล่าในประเทศนี้






เหตุกราดยิงโคราช: บทเรียนที่ไม่เคยเรียน  เมื่อพี่ใหญ่ยังคงกดหัวน้องเล็กในกองทัพเป็นเรื่องปกติ


ปฏิเสธไม่ได้เลย  ว่าหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่กรณีการกราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนายทหารชั้นประทวนที่ทุกคนเรียกกันว่า “จ่าคลั่ง”  ก็คือความคับแค้นจากการถูกข่มเหงกดขี่รังแก  โดยนายทหารใหญ่ผู้บังคับบัญชาของตนเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  จนวันดีคืนดีเกิดคุมตัวเองไม่อยู่ สติหลุด “คลั่ง” ขึ้นมา


แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีความอดทนและวิจารณญาณ  สติปัญญาในการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป  คำถามก็คือจะแน่ใจได้อย่างไรว่าในกองทัพของเรา  ที่มีกำลังพลหลายแสนคน จะไม่มีคนแบบจ่าคลั่งเกิดขึ้นมาอีก?


ทางเดียวก็คือการดับไฟที่ต้นตอของปัญหา นั่นก็คือการทุจริต  กลั่นแกล้งรังแกกัน ที่ทหารพี่ใหญ่ทำกับทหารน้องเล็ก  ต้องขจัดให้หมดไปให้ได้  และนั่นคือสิ่งที่ผู้นำกองทัพสัญญาว่าจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด  ตกปากรับคำอย่างดีกับประชาชนว่าจะมีการ “ปฏิรูป” ในด้านนี้


แต่ทว่าในข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ “จ่าคลั่ง”  เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา  เพราะหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงโคราชได้ไม่นานนัก  ก็มีข่าวรายงานออกมา  ว่ายังคงมีการโกงเงินนายทหารชั้นผู้น้อยในลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ต่ำกว่า  1,000 กรณี เฉพาะในจังหวัดโคราชจังหวัดเดียว  มีทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกโกงเงินไม่ต่ำกว่า 400 นาย



และแม้ว่าต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในสมัยนั้น  จะได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ขึ้นมา อ้างว่าเรื่องจะถูกส่งตรงไปถึงตัว  พล.อ.อภิรัชต์เอง  เพื่อเป็นการปกป้องผู้ร้องไม่ให้ต้องเดือดร้อนถูกกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชา


แต่กรณีของ ส.อ. ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม”  ที่ออกมาร้องเรียนผ่านศูนย์ดังกล่าวว่ามีการทุจริตในหน่วยงานศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก  ก็เป็นหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ได้ดี  ว่าศูนย์ร้องทุกข์ของกองทัพเป็นเพียงการโฆษณาแก้ผ้าเอาหน้ารอด  ไม่ได้ทำจริงอย่างที่อ้าง


เพราะเรื่องร้องเรียนมาได้ถูกส่งตรงไปยัง ผบ.ทบ.  แต่กลับถูกส่งกลับมายังหน่วยงานต้นสังกัด  ทำให้หมู่อาร์มต้องถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคามจากผู้บังคับบัญชา  พยายามปิดปาก จนสุดท้ายหมู่อาร์มตัดสินใจ หนีทหาร  และนำมาซึ่งการร้องเรียนต่อ กมธ.  กฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด


ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ตั้งโดยกองทัพบก  ก็ได้มีรายงานออกมาว่าศูนย์ซ่อมสร้างฯ  ทำผิดทั้งทางอาญาและวินัยจริงตามที่หมู่อาร์มร้องเรียน  ว่ามีการทุจริตเบี้ยเลี้ยง หรือที่สื่อเรียกกันสั้นๆ ว่า “เบี้ยเลี้ยงผี” เกิดขึ้น


เหตุการณ์มีอยู่ว่าวันหนึ่ง  หมู่อาร์มและเพื่อนได้รับคำสั่งว่าจะต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจบางอย่าง  โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางด้วย  มีการนำเอกสารมาให้เซ็นรับเบี้ยเลี้ยงถึง 4 ครั้งด้วยกัน  แต่สุดท้ายกลับไม่มีการเดินทางจริงและคนเซ็นรับเงินก็ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงจริงๆ คำถามคือ แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนได้ไป  ถ้าไม่ใช่คนที่เอาเอกสารมาให้เซ็น หรือผู้บังคับบัญชาของหมู่อาร์มเอง


นอกจากนี้ ยังมีกรณีของโครงการอบรมเยาวชนป้องกันยาเสพติด  และโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันยาเสพติด  ที่หมู่อาร์มถูกเรียกให้ไปเซ็นชื่อเข้าร่วม มีการเบิกจ่ายงบประมาณ  มีลายเซ็นผู้เข้าร่วมครบถ้วนทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือ  ไม่มีการจัดงานเกิดขึ้นจริงๆ!


นั่นหมายความว่าทุกอย่างที่เซ็นไปล้วนแต่ปลอมหมด  ปลอมแม้กระทั่งลายเซ็นวิทยากรระดับพันเอกนายแพทย์  ที่เจ้าตัวไม่รู้เลยว่าได้ไปให้การอบรมกับโครงการนี้ตอนไหน  แต่ก็ไปมีลายเซ็นปรากฏอยู่ในเอกสารเรียบร้อย ที่น่าจะจริงอยู่อย่างเดียว  ก็คือเงินงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายไป มีการเบิกจริง จ่ายจริง  และไปเข้ากระเป๋าเงินของคนบางคนจริงๆ


ในกรณีทั้งหมดที่กล่าวมานี้  คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่าหน่วยงานต้นสังกัดของหมู่อาร์มผิดจริงทั้งอาญาและวินัยเตรียมนำเรื่องส่ง ป.ป.ช. และแน่นอน  ว่ากรณีนี้ ก็เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา  จากหลายกรณีในหลายหน่วยงานของกองทัพ  ที่เพียงแต่ยังไมได้ถูกเปิดเผยออกมาแค่นั้นเอง


“กรณีที่เกิดขึ้นกับหมู่อาร์มนี้ ในแง่มุมของการไม่ได้รับความเป็นธรรม  ก็ไม่ต่างอะไรกับกรณีจ่าจักรพันธ์ในเหตุการณ์กราดยิงโคราช  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้  คือชะตากรรมร่วมที่ทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพไทยเผชิญร่วมกัน วันนี้  พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตอบคำถามผม  ว่าท่านจะสร้างความมั่นใจให้กับชาวไทยได้อย่างไร  ว่าโศกนาฏกรรมแบบที่เกิดที่โคราชจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก  ท่านจะมีกระบวนการอำนวยความเป็นธรรมให้กับนายทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกผู้บังคับบัญชาเอารัดเอาเปรียบ บังคับกดขี่ข่มเหงอย่างไร  ท่านจะแก้ปัญหาระบบศักดินาอำนาจนิยมในกองทัพ  ที่มองคนไม่เท่ากันระหว่างนายทหารสัญญาบัตร  และนายทหารชั้นประทวนอย่างไร ผมย้ำนะครับ  ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนนี้  ต้องหยุดยกตัวเหนือปัญหาได้แล้ว ถ้ายังไม่สามารถให้นโยบาย  สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหานี้ ก็ลาออกไปเถอะครับ  ให้คนอื่นเค้ามาทำ”






เพิ่มจำนวนทหารสมัครใจ: ความฝันที่ยังมองไม่เห็นฝั่ง  ตราบที่ค่ายทหารยังกินคน



เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์  ได้มีคำสั่งให้กองทัพบกเปิดรับสมัครทหารกองประจำการแบบสมัครใจผ่านระบบออนไลน์ โดยรับชายไทย ที่มีอายุ 18-20 ปี และที่มีอายุ 22-29  ปีที่ผ่านการจับได้ใบดำมาแล้ว  โดยให้สิทธิ์เลือกหน่วยทหารที่ตนเองสังกัดโดยไม่จำกัดภูมิลำเนาทหาร  และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามารถสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น


แน่นอนว่านี่คือการสร้างแรงจูงใจ  ให้มีคนมาสมัครเป็นทหารกองประจำการเพิ่มขึ้น ให้มีการลดจำนวนการจับใบดำใบแดงลงให้น้อยที่สุด เป็นไปได้ว่า  พล.อ.ประยุทธ์  ในด้านหนึ่งขึงขังทำเป็นต่อต้านกระแสการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้ว่าจะถูลู่ถูกังไปอย่างนี้ต่อ  กองทัพก็จะมีแต่ถูกต่อต้าน  จึงกลายเป็นนโยบายออกมาในลักษณะครึ่งผีครึ่งคนแบบนี้  จะยกเลิกก็ไม่ได้ เสียฟอร์ม จะไม่ยกเลิกก็มีแต่คนตามสาปแช่ง  ก็เอาเป็นว่าเปิดรับสมัครให้เยอะขึ้นก็แล้วกัน


อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพของกองทัพไทยตอนนี้  คงไม่ค่อยจะมีใครเต็มใจอยากให้บุตรหลานมาสมัครเป็นทหารเกณฑ์  สักเท่าไหร่ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขเรื่องอื้อฉาวป่าเถื่อน  อย่างการเสียชีวิตของพลทหารในค่ายจากการถูก “ซ่อม” (และซ้อม)  ก่อนถูก “จำหน่าย” เหมือนไม่ใช่คน อย่างที่เกิดขึ้นทุกปี  ยังไม่นับรวมไปถึงการที่ทหารเกณฑ์ต้องไปเป็นทหารรับใช้ในบ้านนายพล  ซักกางเกงในให้คุณนาย รบกับหญ้าฆ่ากับมด  สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ยไม่พอจะกิน  รวมไปถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทหารใหม่  ที่ไม่ต่างอะไรไปจาก “ไพร่” ในยุคโบราณเท่าไรนัก


เฉพาะแค่ในปี 2563 ปีที่แล้วปีเดียว มีพลทหารเสียชีวิตในค่ายทหารถึง  6 คน ที่ปรากฏเป็นข่าว ได้แก่:


1) วันที่ 11 มกราคม พลทหารชัยชนะ ทาศรี สังกัด กรมทหารราบที่ 29  จ.กาญจนบุรี

2) วันที่ 28 เมษายน พลทหารเจษฎากร เนตรแสงสี  สังกัดกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 2 กรมสารวัตรทหารเรือ

3) วันที่ 14 กันยายน พลทหารเสรี บุตรวงศ์ สังกัดกรมการสื่อสารทหาร

4) วันที่ 1 พฤศจิกายน พลทหารรชฏ เสนาสนิท สังกัดมณฑลทหารบกที่  23 จ.ขอนแก่น

5) วันที่ 6 พฤศจิกายน พลทหารสถาพร เผียดผัด  สังกัดมณฑลทหารบกที่ 36 จ.เพชรบูรณ์

6) วันที่ 6 พฤศจิกายน วันเดียวกัน พลทหารพิชวัฒน์ เวียงนนท์  สังกัดมณฑลทหารบกที่ 27 จ.ร้อยเอ็ด



ทั้งหมดเสียชีวิตอย่างผิดปกติภายในค่ายทหาร


สิ่งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนในค่ายทหาร  มีการสอบสวนนำไปสู่การลงโทษเฉพาะบุคคล  แต่ไม่เคยมีนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบกับชีวิตที่สูญเสียไป มีแต่กองทัพไปเคลียร์กับญาติไม่ให้ติดใจเอาความ  แล้วสุดท้ายคนที่ถูกลงโทษก็ได้กลับมาในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่อย่างเงียบๆ เนียนๆ และสุดท้าย  ไม่เคยมีแนวทางการแก้ไขออกมาจากปากของคนที่เป็นหัวเรือใหญ่  อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่คำเดียวราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ความตายที่ปรากฏทุกปี ไม่ใช่ปัญหา  เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีคนถูก “จำหน่าย” ออกไปทุกปีในลักษณะนี้


จริงๆ แล้ว อดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล  ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหารฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  เข้าไปที่สภามานานแล้ว  เพื่อผลักดันเรื่องการลดกำลังพลให้เหมาะสมกับภารกิจ,  ยกเลิกระบบทหารรับใช้,  เพิ่มเส้นทางโอกาสความก้าวหน้าของพลทหารในการมีสิทธิ์สอบชั้นสัญญาบัตร รวมถึงเพิ่มสวัสดิการระหว่างที่เป็นทหารกองประจำการ ซึ่ง  พล.อ.ประยุทธ์เองก็เป็นคนที่ปัดตกร่าง พ.ร.บ.  ฉบับนี้ด้วยอำนาจในมือของตัวเอง เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง  ราวกับว่าอย่างไรเสียตัวเองนอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว  ยังยินดีปรีดาที่จะให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปตราบชั่วกัลปาวสาน



แม้เราจะรู้ว่าอันที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา  และพยายามที่จะ “แก้เกี้ยว” โดยออกนโยบายครึ่งๆ กลางๆ  แบบไม่เต็มบาทออกมา  กลายมาเป็นนโยบายรับสมัครทหารและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ทหารที่สมัครเข้ามา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตออยู่ดี


“ไม่ว่าข้อเสนอของพรรคก้าวไกลจะถูกหรือผิดก็แล้วแต่  แต่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการนำข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ  เข้าสู่การพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลในสภาแห่งนี้  ไม่ใช่ทำให้ข้อเสนอต่างๆ เป็นหมันไปตั้งแต่เริ่มต้น พูดก็พูด  นะครับท่านประธาน พ.ร.บ. อะไรที่มาจากพรรคก้าวไกล  แม้ท่านนายกจะเห็นด้วยก็คงไม่ถูกนำเข้าสู่สภา เอาเป็นว่าผมเสนอ  พล.อ.ประยุทธ์ เลยแล้วกัน เอาไอเดียของพวกผมไปร่างเป็น พ.ร.บ.  ใหม่เป็นฉบับของ ครม. แล้วค่อยนำเสนอเข้าสู่สภาแห่งนี้ก็ได้ครับ  พวกผมไม่หวงห้าม ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ครับ”






สวัสดิการกองทัพ: เมื่อคนไม่เท่ากัน  นายพลจึงได้สนามกอล์ฟส่วนพลทหารต้องรับจ๊อบเป็นยาม



หลังโศกนาฎกรรมกราดยิงโคราช หนึ่งในคำสัญญาปฏิรูปกองทัพคือ  การจัดการกับกองทัพพาณิชย์  ที่เกี่ยวพันกับสวัสดิการกองทัพและการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ  ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ สถานพักตากอากาศ  ที่ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุทั้งสิ้น


ที่ราชพัสดุนั้นมีอยู่ ประมาณ 12.5 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 3.9%  ของที่ดินทั้งประเทศ เฉพาะที่กระทรวงกลาโหมถือครองอยู่  คิดเป็นจำนวน 6.25 ล้านไร่ หรือครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งหมดที่มี  เฉพาะของกองทัพบก ถือครองที่ราชพัสดุอยู่ 4.7 ล้านไร่


กรมธนารักษ์พยายามบริหารจัดการที่ราชพัสดุ  ที่เป็นทรัพย์สินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ที่ผ่านมากรมธนารักษ์พยายามสื่อสารให้หน่วยงานรัฐต่างๆ  ได้รับรู้ถึงต้นทุนในการครอบครองที่ราชพัสดุ  เพื่อให้การใช้ที่ราชพัสดุคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะกองทัพ  ที่ครองที่ราชพัสดุเป็นจำนวนมากกว่าใครเพื่อน



กองทัพเข้าใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ  โดยอ้างว่าเพื่อให้มีเงินมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพล  โดยจะแบ่งออกเป็น “สวัสดิการเชิงธุรกิจ” เช่น สนามม้า มวย กอล์ฟ  ที่ต้องทำสัญญาเช่า และจ่ายค่าเช่าและผลประโยชน์ให้กรมธนารักษ์ กับ  “สวัสดิการภายใน” เช่น บ้านพัก ร้านค้าสวัสดิการ  ที่ไม่ต้องทำสัญญาเช่า


นำเรามาสู่คำถามสำคัญ ว่าที่ราชพัสดุทั้งประเทศ 6.25 ล้านไร่  ที่หน่วยงานกองทัพในสังกัดกระทรวงกลาโหมครอบครองอยู่  กำลังถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อประเทศชาติหรือไม่?


เพราะถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ  ก็ไม่เห็นมีอะไรจะต้องปิดบังให้เป็นแดนสนธยาแบบทุกวันนี้  ใครไปทักหาขอดูข้อมูลการดำเนินกินการต่างๆ ก็โดนดองเรื่อง  ขนาดเจ้าของที่ตัวจริงอย่างกรมธนารักษ์มาทักท้วง  กองทัพบกก็ไม่ได้สนใจที่จะมีการจัดการที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามที่กฎหมายใหม่กำหนด  จนกระทั่งหลังเหตุการณ์กราดยิงโคราช  กองทัพบกถึงค่อยมาลงมือจัดการเรื่องธุรกิจกองทัพบนที่ราชพัสดุ


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 สำนักข่าวออนไลน์ The Matter  ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่าได้ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพียรพยายามขอข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังของธุรกิจกองทัพเหล่านี้โดยใช้เวลานานกว่า 10 เดือน  แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้รับมาเป็นเพียงรายได้เฉลี่ยของกิจการต่างๆ ได้แก่  สถานพักตากอากาศ 5 แห่ง สนามกอล์ฟ 36 แห่ง สนามมวย 1 แห่ง  และสนามม้า 1 แห่ง แถมยังไม่มีการให้ข้อมูลของสนามมวยอีก 3 แห่ง  และสนามม้าอีก 1 แห่ง ที่กองทัพอ้างว่า “ปิดตัวไปแล้ว”



สุดท้าย สังคมจึงได้ข้อมูลกลับมาเพียงแค่รายได้เฉลี่ย 5 ปี จำนวน 724  ล้านบาท – รายจ่ายเฉลี่ย 5 ปี 649 ล้านบาท สิ่งที่น่าตกใจ  คือนี่เป็นการใช้ที่ดินราชพัสดุเกือบถึง 1 ล้านไร่ แต่มีกำไรกลับมาแค่  75 ล้านบาท ตกไร่ละ 75 บาท เท่านั้นเอง!


นอกจากนั้น บรรดาสนามกอล์ฟ สถานตากอากาศ สนามมวย สนามม้า  ฯลฯ เหล่านี้ กองทัพอ้างว่าเป็นการใช้ที่ราชพัสดุ เพื่อ  “สวัสดิการภายใน”  นั่นหมายความว่าไม่ต้องทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์


เอาเฉพาะสนามกอล์ฟอย่างเดียว ดำเนินการในลักษณะของ  “สวัสดิการภายใน” มากถึง 33 แห่ง จาก 36 แห่ง  เป็นสนามที่กองทัพใช้ได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายอะไรคืนให้กรมธนารักษ์เลย


“ผมรับไม่ได้จริงๆ ครับท่านประธาน  และผมก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้านก็รับไม่ได้เช่นกัน  ตกลงแล้วนายพลของกองทัพไทย มีอาชีพเป็นนักรบหรือเป็นนักกอล์ฟ  ถึงต้องมีสนามกอล์ฟมากถึง 33 สนาม  อย่าอ้างว่าเป็นสวัสดิการภายในกองทัพดีกว่า  เพราะนี่เป็นสวัสดิการให้กับนายพล หรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปตีกอล์ฟ  พล.อ.ประยุทธ์  เคยตระหนักถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูญไปกับที่ดินเหล่านี้บ้างหรือไม่  การกระจายตัวของสวัสดิการเป็นไปอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมหรือไม่”


“พล.อ.ประยุทธ์ เคยลงไปดูหรือไม่  ว่านายทหารชั้นประทวนเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร  เขามีความอัตคัดอย่างไร  เงินแต่ละเดือนที่ออกมาหลังหักหนี้สวัสดิการแล้วเหลือใช้เท่าไหร่  ท่านประธานเคยได้ยินไหมครับ “เงินหมด ยศยังอยู่กับที่”  นายทหารเหล่านี้ต้องมีอาชีพเสริม ขับแท็กซี่บ้าง ขับวินบ้าง  เป็นการ์ดตามผับตามบาร์ ฮิตสุดก็ขายข้าวหน้าแฟลตครับ  ชีวิตต้องดิ้นรนขนาดนี้ แล้วยังถูกบังคับ ขู่เข็ญ  ให้สมรู้ร่วมคิดทำผิดกฎหมาย ให้มาเซ็นชื่อรับเบี้ยเลี้ยง  แต่เงินเข้ากระเป๋านาย สวัสดิภาพของนายทหารชั้นประทวนเหล่านี้ อดีต  ผบ.ทบ.ที่อยู่ในตำแหน่งถึง 4 ปี วันนี้มาเป็น รมว.กลาโหมแล้วเนี่ย  เคยคิดจะแก้ไขบ้างหรือไม่?”






สัมปทานเหมืองหินและโรงโม่หิน: กองทัพเรือกับการเสกหินให้เป็นเค้กแบ่งกันกิน


ความไม่โปร่งใสในการใช้ที่ดินราชพัสดุไม่ได้มีเพียงกองทัพบกเท่านั้น แต่กองทัพเรือเองก็มีประเด็นเช่นกัน ซึ่งในกรณีของกองทัพเรือนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในเชิงธุรกิจ ที่พิจารณ์เรียกว่า “สวัสดิการเชิงธุรกิจแบบสัมปทาน” ในโครงการทำเหมืองหินและโรงโม่หิน


ที่ตั้งของโครงการดังกล่าว อยู่ที่เขาวังปลา อ.สัตหีบ บนเนื้อที่ 208 ไร่เศษ ตั้งแต่ปี 2556 กองทัพเรือได้ขอประทานบัตรเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ โดยมีอายุสัมปทานทั้งสิ้น 10 ปี ซึ่งจะไปสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคมปี 2566 โดยกรมสวัสดิการกองทัพเรือได้ทำสัญญาแบบปีต่อปีกับเอกชนรายหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2557-2561


จนมาในปี 2562 ทางกรมสวัสดิการกองทัพเรือ ที่มี อดีต ผบ.ทร. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นประธาน ก็มีการอนุมัติ ให้เอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน โดยเหตุที่เลือกรายใหม่นี้ ก็เพราะว่ามีการเสนอผลประโยชน์ให้กับทางกองทัพเรือได้ดีกว่ารายเดิมมาก


เช่น จะเพิ่มกำลังการผลิตหินให้มากกว่าเจ้าเดิม จากที่เอกชนรายเดิมทำได้ 1.2 ล้านตัน เป็น 2.4 ล้านตันต่อปีในปีแรก แล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.0 ล้านตันต่อปีในปีที่สอง, จะให้ผลตอบแทนจากการผลิตหินที่มากกว่า จากที่เอกชนรายเดิมให้ 15.50 บาท รายใหม่นี้จะให้เป็น 38 บาท ต่อตัน, รวมทั้งข้อเสนอในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อม การดูแลผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ, อีกทั้งยังเสนอที่จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและดำเนินการด้วยตัวเอง ในการขอเพิ่มกำลังการผลิตจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่


แต่ปรากฏว่า หลังดำเนินการไปได้ 1 ปี เอกชนรายนี้กลับไม่สามารถทำได้ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ เมื่อถึงตรงนี้ หากเราเป็นกรมสวัสดิการกองทัพเรือ ก็ต้องปรับเงินเอกชนรายนี้ 40 ล้านบาท พร้อมยกเลิกสัญญา และหาเอกชนรายใหม่ที่มีศักยภาพที่ดีกว่า มาดำเนินการแทน


แต่กรมสวัสดิการกองทัพเรือกลับให้เอกชนรายนี้ต่อสัญญาเป็นปีที่สอง ส่วนหนี้ 40 ล้านบาทก็ให้ผ่อนชำระ 38 งวด โดยจ่ายงวดที่หนึ่ง 5 ล้านบาท แถมยังไม่มีการคิดดอกเบี้ย และไม่มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน



โดยกองทัพเรืออ้างว่าหากมีการดำเนินคดีแล้วต่อให้กองทัพเรือชนะ เอกชนรายนี้ก็อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ให้บังคับคดีได้


แต่กองทัพเรือไม่ได้คิดในทางกลับกัน ว่าในเมื่อปีแรกยังทำตามสัญญาไม่ได้ แล้วปีที่สองจะเอาปัญญามาทำตามสัญญาได้อย่างไร?


“จากที่ผมได้ลำดับเหตุการณ์มา มันชัดเจนครับ ว่าสวัสดิการกองทัพเรือเสียผลประโยชน์ และนี่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบนที่ราชพัสดุ แต่น่าจะเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับพลเรือเอกบางคน ซึ่งต้องดำน้ำเก่งแน่นอนครับท่านประธาน เพราะเวลากินหินแล้วตัวจะหนัก ดำน้ำได้นานเป็นพิเศษครับ ก็เพราะแบบนี้แหละครับ พี่น้องประชาชนเค้าถึงได้สงสัยว่า ทำไมเป็นนายพลในบ้านนี้ เมืองนี้ ถึงได้มีทรัพย์สินมากมาย หลังเกษียณราชการแล้ว ร่ำรวยเกินกว่าเงินเดือน รายได้ ตลอดอายุรับราชการทหารรวมกันเสียอีก”






การคลังแบบประยุทธ์: ต่อให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่งบอาวุธยังต้องมา


หลังวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. อาจจะพอเคลมผลงานความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้บ้าง


จนหลายคนอาจจะลืมคิดย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์เวลานั้น มีสภาพเป็นอย่างไร


แน่นอนว่าตลอดช่วงปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีโควิดแล้วเศรษฐกิจไทยจะดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ก่อนและหลังโควิด ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หนำซ้ำพอมีโควิด ก็ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากจนเกินไป บนความเสียสละของประชาชนคนไทยอย่างมหาศาล


มิหนำซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์ที่เพียรบอกให้ประชาชนอย่าการ์ดตก กลับปล่อยปะละเลยในการดูแลแนวชายแดนเสียเอง จนเป็นเหตุให้มีการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ นำมาสู่การแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ที่มาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา การจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 4 แสนล้านบาท หรือเกือบ 20% ซึ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้่าครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งโดยรัฐบาล


ปี 2564 นี้ก็น่าจะไม่ต่างไปจากปี 2563 มากนัก ยิ่งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2565 ที่ปรากฎในมติคณะรัฐมนตรี ประกาศเหลือเพียง 2.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น นี่เป็นเหตุผลโดยตรงที่ทำให้งบประมาณแผ่นดินในปี 2565 จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท


การคาดการณ์จัดเก็บรายได้ที่จะเหลือเพียง 2.4 ล้านล้านบาทนี้ ยังเป็นการคาดการณ์บนสมมุติฐาน ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP) จะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งยังไม่ได้เป็นการคาดการณ์ที่รวมเอาผลของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ไปพิจารณาเสียด้วยซ้ำ พอจัดเก็บได้ไม่ถึง 2.4 ล้านล้านบาท ก็ต้องกู้จนทะลุเพดาน 60% ของ GDP เพื่อเอามาโปะส่วนที่ยังขาดอยู่


แน่นอน เราต้องยืนยันว่าการกู้ไม่ใช่ปัญหา ตราบใดรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระคืน แต่ปัญหามมีอยู่ว่ากู้มาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะจัดสรรการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร?


ถ้าเป็นรัฐบาลที่ดี ก็จะต้องกำหนดนโยบายและวิธีการให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตาม ว่างบประมาณในปี 2565 จะต้องใช้อย่างคุ้มค่า ต้องนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ในท้ายที่สุดจะมีรายได้กลับมาสู่รัฐบาลในรูปแบบของภาษี เพียงพอที่จะใช้ชำระหนี้ได้


“ถึงวันนี้ประชาชนเฝ้าติดตามคำตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเอายังไงกับงบประมาณกระทรวงกลาโหม พูดให้ชัด เอาเฉพาะกลาโหมที่ท่านดูแล ท่านจะใช้จ่ายอย่างไร ในขณะที่ประเทศกำลังประสบ ความยากลำบากทางการเงิน การคลัง ในขณะที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบความเดือดร้อนทางการเงิน ในขณะที่หน่วยงานรัฐ ไปไล่บี้ขอคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ในขณะที่สังคมเขาตั้งคำถาม ว่า ตกลงแล้วเนี่ย อาวุธ-ยุทโธปกรณ์ กับ กระดาษทิชชู่ มันไปมีความจำเป็นเหมือนกันได้ยังไง แล้วถ้าทิชชู่หมด เอาน้ำล้างแทนได้มั้ย”






417 ล้าน: ตัวเลขศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเกินและเงินทอนจากการจัดซื้อจัดจ้าง


มหกรรมกิน “กางเกงใน” ประจำปี 2564


หากทุกคนยังจำกันได้ ในการอภิปรายก่อนหน้านี้ ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้เคยยกเคสอื้อฉาวเคสหนึ่งขึ้นมา นั่นคือปรากฏการณ์ “กินกางเกงใน” ภายใต้โครงการจัดซื้อชุดลำลองของทหารเกณฑ์ ซึ่งมีราคาสูงเกินกว่าราคาในท้องตลาด แถมยังเปรียบเทียบให้เห็นแบบชัดๆ เลย ว่าราคาที่กองทัพตั้งงบประมาณไว้นั้น สูงกว่าที่ขายปลีกกันใน Shopee เป็นเงินกว่า 90 ล้านบาท



เรื่องแดงขึ้นมาขนาดนี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์คำนึงถึงผลประยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ในกระเป๋าเงินของใครบางคน จะต้องรีบกุลีกุจอสั่งรื้อโครงการจัดซื้อใหม่แล้ว


ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นมา โครงการจัดซื้อชุดลำลองทหารเกณฑ์รอบใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน สิ่งที่เราคาดหวังจะได้เห็น ก็คือการจัดซื้อรอบใหม่ที่โปร่งใสมากขึ้น ด้วยสำนึกที่มีความละอายแก่ใจ มาโดนแฉกลางสภายับเยินขนาดนั้น แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะแม้ว่าโครงการจัดซื้อชุดลำลองทหารเกณฑ์รอบใหม่นี้ จะมีการประกาศการประกวดราคาเกิดขึ้น และมีการแก้ไขราคากลางให้ถูกลงบางรายการไปแล้ว แต่ราคาของทุกชิ้นที่ซื้อรอบใหม่นี้ ก็ยังแพงกว่าราคาขายปลีกอยู่ดี


ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ เสื้อคอวี ปรับราคากลางลดลงจาก 161.75 บาทรอบที่แล้ว มาเป็น 130 บาท แต่ก็ยังคงสูงกว่าราคาใน Shopee ที่ขายอยู่ 80บาท เฉพาะรายการนี้ รัฐจ่ายแพงไป เกือบ 39 ล้านบาท



กางเกงขาสั้นลำลอง มีการประกาศผู้ชนะการประกวดราคาแล้ว โดยกองทัพซื้อมาในจำนวนว่า 313,000 ตัว ในราคา 365 บาทต่อตัว ถูกกว่าราคากลาง 1 บาท แต่แพงกว่า ที่ขายใน Shopee ที่ขายอยู่ที่ตัวละ 120 บาท ถ้าเอาไปรวมกับล็อตที่กำลังจะซื้ออีก 31,700 ตัว จะทำให้รัฐต้องจ่ายแพงกว่าที่ควรเป็นไปเกือบ 85 ล้านบาท



รองเท้า Jungle Boot กำลังดำเนินการจัดซื้อ 218,000 กว่าคู่ ในราคาคู่ละ 1,732 บาท ในขณะที่ Shopee ขาย 600 บาท สรุปว่ารัฐบาลจ่ายแพงไปเกือบ 250 ล้านบาท



ส่วนรายการที่เหลือ ทั้งผ้้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ถุงเท้าต้านแบคทีเรีย มีการปรับลดราคากลางลง แต่ก็ยังแพงกว่าที่ Shopee ขายทั้งสิ้น


สรุปรวมความ ชุดลำลอง ทั้ง 7 รายการ ทั้งที่ซื้อแล้วและกำลังดำเนินการ หากเป็นไปตามนี้ รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินไปกว่า 702.4 ล้านบาท ทั้งๆที่ถ้าซื้อตามราคา shopee จะจ่ายเพียงแค่ 285 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่ารัฐต้องเสียเงินส่วนเกินโดยไม่จำเป็นถึง 417 ล้านบาท



หลายคนอาจจะยกประเด็นขึ้นมาว่า ก็สิ่งที่ขายใน Shopee มันเป็นสินค้าที่ผลิตเกินจากคำสั่งซื้อของกองทัพมา หรือเป็นสินค้าคนละเสป็คกัน ราคาก็ต้องถูกกว่า


เรื่องนี้ พิจารณ์ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองมาหมดแล้ว ว่าเป็นของคุณภาพแบบเดียวกันเป๊ะ


ถามว่ารู้ได้อย่างไร? ก็พิจารณ์ไปลงทุนซื้อของใน Shopee กับของที่กองทัพบกจัดซื้อ เอามาลองใส่ดูหมดทุกอย่างแล้ว เทียบกันจะๆไปเลย ก็พบว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ขนาด Jungle Boot ใส่เทียบกันดูแล้ว พิจารณ์ก็ยังไม่สาแก่ใจ เอาไปผ่าครึ่งพิสูจน์ด้วยตาและสัมผัสจนเป็นที่รู้แจ้งแล้ว ว่าไม่ต่างกันเลย


นอกจากนี้ พิจารณ์ไม่ได้สำรวจราคาแค่ใน Shopee เท่านั้น แต่ได้ไปตรวจสอบขอใบเสนอราคาจากผู้ผลิตในบางรายการมาแล้ว พบว่ายิ่งถูกกว่า Shopee เสียด้วยซ้ำ


เสื้อคอวี ผ้า TC45 น้ำหนักเสื้อประมาณ 200 กรัม สั่ง 5,000 ตัว ราคา 60 บาท ถูกกว่า Shopee ขายปลีก 20 บาท


กางเกงขาสั้นลำลอง ผ้า TR สั่ง 5,000 ตัว ราคา 110 บาท ถูกกว่า Shopee ขายปลีก 10 บาท


รองเท้า Jungle Boot สั่ง 5,000 คู่ หนังแท้ ราคา 500 บาท ถูกกว่า Shopee ขายปลีก 100 บาท



“เพราะฉะนั้นต่อประเด็นชุดลำลองนี้ เป็นคำถามที่นายกต้องตอบว่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร ประชาชนสงสัยครับว่าส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นไปอยู่ที่ใคร วันนั้นคุณวิโรจน์ได้ตั้งคำถาม กางเกงในมีไว้ใส่หรือไว้กิน ท่านประธานครับ ผมเข้าใจแล้วครับว่าสำหรับคนทั่วไปกางเกงในมีไว้ใส่ แต่สำหรับกองทัพไทยกางเกงในมีไว้กินจริงๆ”


ในกรณีของครุภัณฑ์เครื่องมือช่างก็เช่นกัน จากที่มีการไปสำรวจมา พิจารณ์พบว่ามีการจัดซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 47%!!!


ในโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือช่างที่มีราคาต่ำกว่าล้านของกองทัพเรือ ได้แก่กล้องสำรวจวัดระยะและมุม TOPCON ที่ขายกัน 320,000 บาท แต่กองทัพซื้อ 431,500 บาท, รถยกไฮดรอลิก รุ่นเดียวกันนี้ ขายกัน 38,900 บาท แต่กองทัพซื้อ 91,100 บาท, เครื่องวัดความเร็วรอบ Fluke ที่ขายกัน 18,000 บาท แต่กองทัพซื้อ 24,110 บาท รวมสามรายการ จ่ายแพงกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาดถึง 47%



“พูดให้ชัดว่าทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าเอกชนไม่ได้ขายแพงเอง แต่เอกชนต้องขายแพงตามราคาที่มีใครบางคนต้องการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผมต้องพูดซ้ำอีกครั้ง ในฐานะที่เป็น ผบ.ทบ.มา 4 ปี พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยปะละเลยแบบนี้ได้อย่างไร นี่คือความจงใจที่จะไม่ใส่ใจ งบประมาณจะชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้วยังใช้จ่ายแบบนี้ หากเป็นบริษัทเอกชน นอกจากต้องปลดผู้บริหารคนนี้ออกจากตำแหน่ง ยังต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยซ้ำไป”






Night vision: มองเห็นกลางคืน แต่มองไม่เห็นส่วนเกิน 78 ล้าน


มาดูต่อในกรณีการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ กล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียว (Night Vision Scope) โดยกรมการทหารช่าง โครงการนี้เป็นการจัดซื้อมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2563 โดยมีผู้ชนะรายเดียวมาตลอด เป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลง เพราะเป็นการชนะการประมูลที่ราคากลางพอดีที่ 495,000 บาทต่อชิ้น ตลอด 3 ปีงบประมาณ



ระหว่างปี 2561-2563 ทุกคนน่าจะจำกันได้ว่าเงินบาทต่อเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไป 3% ซึ่งควรจะทำให้ต้นทุนถูกลง 3% เป็นเงาตามตัว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้ราคา night vision ที่ชนะการประมูลกับกรมการทหารช่างเปลี่ยนแปลงไป แต่กลับยังคงใช้ราคากลางเดิมมาตลอด 3 ปี


ที่น่าสนใจ คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นมา จนถึงการจัดซื้อครั้งแรกของปีงบประมาณ 2563 การซื้อกล้อง night vision ล้วนแต่ใช้วิธีการแบบ e-bidding หรือการประกวดราคาทั้งสิ้น แต่อีกสามครั้งหลังในปี 2563 กลับเป็นการจัดซื้อเฉพาะเจาะจง


ย้อนกลับไปก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้าง กล้อง night vision 64 ชุด แบบ e-bidding และปรากฎว่ามีเอกชนรายใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาเสนอราคาเลยตั้งแต่ปี 2561 มาเข้ามาร่วมการประกวดราคา และได้ส่งหนังสือวิจารณ์ TOR ต่อกรมการช่างทหาร วิจารณ์ว่าใน TOR มีการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมเสนอราคา ต้องแสดงตัวอย่างสินค้าภายใน 5 วันหลังการยื่นเสนอราคา ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้ทันแน่ๆ เพราะการนำเข้าตัวอย่างต้องขอใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ ซึ่งต้องกินเวลาถึง 45 วัน คนที่จะมีตัวอย่างได้ ก็ย่อมจะมีแต่เอกชนรายเดิมที่ชนะการประกวดราคามาตลอด 3 ปีติดกันเท่านั้น หากกำหนด TOR เช่นนี้ อาจเข้าข่ายปิดกั้นการแข่งขัน และผิดตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างได้



เมื่อกรมการทหารช่างได้รับการวิจารณ์แบบนี้ จึงหยุดโครงการค้างเอาไว้จนจบปีงบประมาณ 2563 แต่แล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 กรมการทหารช่างก็ได้กลับมาประกาศแผนจัดซื้อใหม่ ด้วยจำนวน 64 ชุดเหมือนเดิม แต่คราวนี้เปลี่ยนฉับพลันเป็นการจัดซื้แบบเฉพาะเจาะจง โดยอ้างว่ามีความต้องการมาจากหน่วยบัญชาการรบพิเศษ ว่าต้องการใช้ยี่ห้อเดิม


จนเป็นที่น่าสังเกต ว่าความต้องการนี้ช่างมาถูกที่ถูกเวลาเหลือเกิน บังเอิญมาในเวลาที่กำลังจะมีเอกชนรายใหม่เข้ามาแข่งขันพอดี


ต่อกรณีของ night vision นี้ พิจารณ์ได้ไปทำการสืบราคามาแล้ว โดยเลือกเอายี่ห้อ NEWCON รุ่นที่ผู้ขายโฆษณาว่าเป็นมาตราฐานกองทัพสหรัฐ และมีสเป็กตรงตามที่กองทัพไทยต้องการ ทั้งราคากล้อง อุปกรณ์ติดตั้งบนหมวก และกระเป๋าเก็บ รวมกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ระบุในเอกสารสเป็กของกองทัพรวมค่าขนส่ง ประกันภัย และภาษีแล้ว ราคาอยู่ที่ 8,700 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 261,000 บาท (แต่กองทัพไทยซื้อ 495,000 บาท) แปลว่ากองทัพซื้อแพงกว่าราคาปลีกถึง 47% สำหรับกล้อง Night Vision



สเป็กเพียงข้อเดียวที่ตกไป คือการกำหนด ค่าความละเอียด Resolution ของเลนส์ที่ใช้ในกล้อง ซึ่งของกองทัพสหรัฐ ใช้กันที่ 64 line pair/mm แต่ของไทยกำหนดไว้ที่ 70 line pair/mm


คำถามคือเพียงเลนส์ชิ้นเดียว จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ถึง 47% เชียวหรือ?


และหากกองทัพจะแก้ตัวว่าเป็นเช่นนั้นจริง พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องชี้แจง ว่าทำไมกองทัพไทยต้องใช้เลนส์ที่มีความละเอียดสูงกว่า ทั้งที่ในแวดวงยุทธภัณฑ์ มีการยอมรับแล้วด้วยซ้ำ ว่าไม่ว่าจะเป็น 64 หรือ 72 line pair/mm เป็นคุณภาพระดับเดียวกัน


สรุปแล้ว นี่คือการตั้งสเป็คกีดกันด้วยการ:


1) ให้ผู้ร่วมประมูลต้องเสนอตัวอย่างภายใน 5 วันหลังเสนอราคา

2) เปลี่ยน Lens Resolution จาก 64 เป็น 70 line pair/mm โดยไม่จำเป็น และ

3) จัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding มา 3 ปี อยู่ๆก็เปลี่ยนเป็นแบบเฉพาะเจาะจง


จนนำไปสู่การกินส่วนต่างราคาถึง 47% โดยจัดซื้อถึง 332 ชุด คิดเป็นเงิน 78 ล้านบาท


“ไม่ได้เป็นการโฆษณานะครับ แต่พลเอกประยุทธ์ จะรับยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน ลดอาการจุกเสียด แน่นท้องหน่อยมั้ยครับ กินตะกละตะกลามขนาดนี้ กางเกงใน รองเท้าบูท เครื่องมือช่าง ยังมีกล้อง night vision อีก ผมเป็นห่วงระบบการย่อยของท่านจริงๆ”







รถบัสหรรษา เงินทอนสะพัด


กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ว่าต่อให้มีการประกวดราคา กองทัพก็หาลู่ทางในการเสก “เงินทอน” ขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย นั่นคือกรณีของโครงการจัดซื้อรถโดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศ โดยกรมการขนส่งทหารบก


ตั้งแต่ปี 2558-2563 กรมการขนส่งทหารบกได้มีการจัดซื้อจัดจ้างรถบัสขนาดใหญ่ทั้งหมดจำนวน 7 สัญญา จำนวน 429 คัน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,200 ล้านบาท โดยในปี 2563 ล่าสุด เป็นการจัดซื้อรถบัสแบบที่ 7 แบ่งเป็น 2 โครงการ จำนวน 100 คัน 448  ล้านบาท และจำนวน 12 คัน วงเงิน 59 ล้านบาท




โดยที่ทั้ง 7 โครงการ มีผู้ชนะการประมูลรวดบริษัทเดียว คือ บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด


แม้ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding หรือการประกวดราคา แต่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 7 โครงการนี้ ล้วนแล้วแต่มีข้อน่าสงสัย ตั้งแต่กระบวนการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ หรือ กำหนดสเป็ก, กระบวนการสืบราคากลาง, และการกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR)



ยกตัวอย่างแค่ในปี 2563 ก็เห็นชัด ในการจัดซื้อรถบัสแบบที่ 7 จำนวน 112 คัน เมื่อมองทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะรู้สึกสงสัยว่ากองทัพมีความพยายามที่จะให้ บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต ชนะการประมูลอย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่?


เริ่มจากกระบวนการกำหนดสเป็ก ซึ่งตามปกติแล้วหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องเชิญตัวแทนจากเอกชนมาให้ข้อมูล ในกรณีนี้ ได้มีการเชิญเอกชน 3 บริษัท มากำหนดสเป็คของรถบัส 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ฮีโน่, แดวู, และจงตง โดยมีบริษัท อิทธิพร ที่ภายหลังเป็นผู้ชนะประมูล เข้ามากำหนดสเป็ครถบัสยี่ห้อฮีโน่ บริษัท Power Plus มากำหนดสเป็กยี่ห้อแดวู และบริษัท SA Auto Body เป็นผู้กำหนดสเป็กของยี่ห้อจงตง



ซึ่งถ้าเราลงไปดูในรายละเอียด จะพบว่า ทั้งบริษัท Power Plus ที่มากำหนดสเป็กรถยี่ห้อแดวู และบริษัท SA Auto Body ที่เป็นผู้กำหนดสเป็กของยี่ห้อจงตง ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้เป็นทั้งตัวแทนจำหน่าย และไม่ได้ถูกแต่งตั้งโดยตัวแทนจำหน่ายของทั้งแดวูและจงตง


ส่วนบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของแดวู รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายของจงตง คือ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ กลับไม่ถูกเชิญให้มาร่วมในการกำหนดสเป็กแต่อย่างใด


นอกจากนั้น ยังพบว่าบริษัท Power Plus ไม่เคยซื้อ chasis ของแดวูมาก่อน ไม่เคยมีประสบการณ์ในยี่ห้อที่ตนเองมากำหนดสเป็ก แล้วยังมีรายได้เพียง 1,600 บาท ตั้งแต่ปี 2560-2562 พูดง่ายๆ คือกองทัพตั้งใจไปเชิญบริษัทที่ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในเรื่องของรถบัส และกำลังจะปิดตัว มาร่วมกำหนดสเป็ค และถึงวันนี้บริษัทนี้ก็ได้ปิดตัวไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา



ส่วนบริษัท SA Auto Body ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการประกอบ chasis รถบัสจงตงมาก่อนเหมือนกัน แต่กองทัพก็ยังจะไปเชิญมากำหนดสเป็ก


และปรากฎว่า ทั้งสองบริษัทนี้ก็ไม่ได้ซื้อซองประมูลเสียด้วยซ้ำ!ที่น่าสงสัยขึ้นไปอีก คือแม้การอนุมัติกำหนดสเป็กจะเสร็จสิ้นแล้ว โดยการอนุมัติจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตแก้วแท้ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในขณะนั้นไปแล้ว แต่พอสำนักข่าวอิศราได้ออกมาตีแผ่กระบวนการกำหนดสเป็กที่น่าเคลือบแคลงครั้งนี้ กรมการขนส่งทหารบกจึงได้มีจดหมายถึง บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อขอข้อมูลทางเทคนิค เหมือนเป็นการแก้เกี้ยวไปเฉยๆ




ต่อมาในขั้นตอนการสืบราคากลาง มีสามบริษัทที่เข้าร่วมได้แก่ บริษัท อิทธิพร, หจก. ทีไอพี ออโต้พาร์ท, และ ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าสองบริษัทแรกที่อยู่ในกระบวนการกำหนดสเป็กไม่ได้เข้ามาร่วมกระบวนการสืบราคาด้วย ที่สำคัญ ทั้งสามบริษัทที่เข้าร่วมการสืบราคากลางนี้ มีผู้รับมอบอำนาจในการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบุคคลคนเดียวกัน!!!


และอีกเช่นเคย ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียวของแดวูและจงตง อย่าง บริษัท ธนบุรี ประกอบรถยนต์ ไม่ได้ถูกเชิญมาร่วมสืบราคากลางด้วย คำถามคือ เพราะกลัวว่าจะได้ราคากลางที่ถูกกว่าที่ต้องการหรือไม่?


เมื่อเข้าสู่การประกาศประกวดราคา พบว่ามีผู้เข้ามาซื้อซองประมูลในรอบ 100 คัน 9 ราย รอบ 12 คัน 13 ราย แต่สุดท้ายปรากฎว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงสองรายเท่านั้น นั่นก็คือ บริษัท อิทธิพร และ หจก. ทีไอพี


โดยทั้งสองรายนี้ สำนักข่าวอิศราได้นำหลักฐานออกมาเปิดเผย ว่ามีความเชื่อมโยงที่น่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการมีผู้ถือหุ้นที่นามสกุลเดียวกัน ที่อยู่ของผู้ถือหุ้นที่แจ้งในหนังสือรับรองก็เป็นที่ตั้งเดียวกัน ที่ตั้งของสาขาที่สองของทั้งสองรายนี้ ก็เป็นที่ตั้งเดียวกัน



ส่วนสาเหตุที่ผู้ซื้อซองรายอื่นๆ ซึ่งก็มี ธนบุรีประกอบรถยนต์ รวมอยู่ด้วยต้องถอยรูด ก็เพราะใน TOR กำหนดว่า ยี่ห้อที่เสนอ ต้องมีศูนย์บริการที่ติดป้าย และให้บริการในยี่ห้อของตนเองเท่านั้น ห้ามไปใช้ร่วมกับยี่ห้ออื่น แล้วก็ต้องมี 10 ศูนย์บริการต่อกองทัพภาค



สรุปคือ กระบวนการกำหนดสเปคและสืบราคาของทั้งสามยี่ห้อนั้น จบลงเหลือเพียงยี่ห้อเดียวด้วยร่าง TOR ข้อนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ความต้องการในการรับบริการหลังการขาย สามารถทำได้ด้วยการกำหนดข้อตกลงบริการหลังการขาย (After-sale Service Agreement) ซึ่งค่ายรถสามารถไปทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้บริการหลังการขายกับลูกค้าได้


“ลองคิดดูง่ายๆนะครับ กำหนดสเป็กสืบราคา มีสามยี่ห้อ แต่กำหนด TOR ปิดให้เหลือยี่ห้อเดียว เราเอา ญี่ปุ่น เทียบ เกาหลีใต้ เทียบ จีน สู้กันด้วยราคา ผมว่าญี่ปุ่นน่าจะเหนื่อยอยู่นะครับ แต่หากไม่กำหนดแบบนี้ เพื่อปิดกั้นยี่ห้อแดวูและจงตงจะเกิดอะไรขึ้นครับ? อิทธิพรก็อาจจะไม่ชนะการประมูล และกองทัพก็อาจจะไม่ได้เงินทอนตามที่ต้องการใช่หรือไม่? ผมเชื่อว่า เปิดให้มีการแข่งขันทั้งสามยี่ห้อ กองทัพซื้อถูกกว่านี้อย่างแน่นอนครับ”


นำมาสู่ข้อน่าคิด ที่ว่าขนาดกางเกงใน เครื่องมือช่าง ฯลฯ กองทัพยังสามารถสรรหากลเม็ดมากำหนดราคาให้ซื้อแพงกว่าปกติได้ถึง 47% แล้วระดับรถบัส มีหรือที่จะน้อยกว่า 20-30% ไปได้?


การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความผิดปกตินี้ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 2,200 ล้านบาท มีผู้ชนะทั้ง 7 โครงการเพียงรายเดียว แม้ว่าจะเป็นอำนาจการจัดซื้อของ ผบ.ทบ. หรือปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ ปี 2557-2563 และแม้จะเปลี่ยน ผบ.ทบ. ไปแล้วถึง 6 คน เปลี่ยนปลัดกระทรวงกลาโหมไปแล้ว 6 คน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีเพียงสองคนเท่านั้น คือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา






เรือดำน้ำจีน กับความโปร่งใสที่หายไป


และในที่สุด เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงกรณีที่ทั้งสังคมจับจ้องมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นคือการจัดซื้ออาวุธยุทธโทธปกรณ์ โดยเฉพะอย่างยิ่ง ในกรณีของ “เรือดำน้ำ” พอมาถึงกรณีของอาวุธยุทธโทปกรณ์ แน่นอนว่าการตรวจสอบราคาเป็นไปได้ยาก เพราะแน่นอนว่าไม่มีขายอยู่ใน Shopee แล้วยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะในกรณีของเรือดำน้ำที่อ้างว่าเป็น G2G



ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ในข่าวสด ออนไลน์ ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 มีการเผยแพร่เอกสาร จดหมายฉบับหนึ่ง ที่ลงนามโดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ที่จ่าหน้าส่งถึงผู้แทนของทางการจีน Mr. Xu Zhanbi จาก State Administration for Science Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ลงวันที่ 24 กันยายน 2563 หรือ 6 วันก่อนที่อดีต ผบ.ทร.จะเกษียณอายุราชการ


เนื้อหาที่ปรากฎในจดหมาย คืออดีต ผบ.ทร. เร่งรัดอ้อนวอนให้ทางการจีนมาเซ็นข้อตกลง ก่อนที่ตัวเองจะเกษียณอายุราชการ เนื้อหาในจดหมายบางช่วงบางตอน แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะให้การซื้อขายมีผลผูกมัดกับงบประมาณปี 2565



แสดงถึงความอยากได้จนไม่ลืมรู้ลืมตา เป็นผู้ซื้อแท้ๆ กลับไปอ้อนวอนผู้ขาย ไม่ได้ใช้ความคิดสักนิดเลย ว่าเศรษฐกิจไม่ดีขนาดนี้ มีโควิด ทุกประเทศมีการตัดงบประมาณซื้ออาวุธหมด ความจริงควรเป็นโอกาสที่ผู้ซื้อจะมีอำนาจต่อรอง แต่ทำไมจึงไม่คิดจะต่อรองราคากับเขาบ้าง



นอกจากนั้น เนื้อหาในจดหมายยังระบุถึงขั้นแนะนำให้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้เป็นผู้แทนในการลงนามข้อตกลง เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าจากมาตรการกักตัว และเพื่อให้สามารถลงนามได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน อีกด้วย


พิจารณ์ชี้ว่าเป็นไปไม่ได้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รู้ไม่เห็นเรื่องนี้ และยังเชื่อด้วย ว่าที่ พล.ร.อ.ลือชัย ทำไป เป็นไปตามความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เหมือนเมื่อครั้งที่มีการซื้อเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง



หากยังจำกันได้ ครั้งนั้นกองทัพบกที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรเลยกับเรือดำน้ำ เป็นคนออกมาให้ข่าว โดยที่กองทัพเรือยังงงๆ ไม่ทราบเรื่องว่าตัวเองจะของบประมาณซื้อเรือดำน้ำเลย ต้องรอหลังเป็นข่าวอีกหนึ่งสัปดาห์ พล.ร.อ.ลือชัย จึงค่อยออกมาแถลงข่าวและบินไปดูงานที่ประเทศจีน


เพราะนั่นเป็นความต้องการซื้อของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น และหากจดหมายนี้มันเป็นเรื่องจริง พล.อ.ประยุทธ์ คงจะห้ามประชาชนไม่ให้คิดกันไม่ได้ ว่าโครงการเรือดำน้ำนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนในเงินทอนแน่ๆ



“จากที่กล่าวทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ในภาวะที่ประเทศชาติกำลังยากลำบากทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลควรรัดเข็มขัดในรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่เรายังเห็น พล.อ.ประยุทธ์ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ซื้อของแพงเกินราคา ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่านจะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้”


Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า