🎯 สุพิศาล เล่าประสบการณ์เห็นการทุจริตสอบตำรวจ ชี้เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและทำกันเป็นขบวนการจนกลายเป็นเรื่องปกติในวงการตำรวจไปแล้ว เหตุมาจากกระบวนการสอบและคัดเลือกตำรวจทำแบบรู้กันเองภายใน ต้องนำเอาตำรวจมายึดโยงและอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชนอย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาทุจริตเช่นนี้ได้
พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ให้ความเห็นต่อกรณีการทุจริตการสอบนายสิบของตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีการเรียกรับเงินเพื่อให้ช่วยสอบเข้าตำรวจ จำนำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนและให้นักเรียนนายสิบที่ทุจริตพ้นสภาพหลายร้อยคน
โดยสุพิศาลระบุว่า
1.- กระบวนการทุจริตในการสอบของตำรวจมีมานานแล้ว และทำกันจนเป็นเรื่องปกติทั่วไป อย่างเช่นในอดีตที่ตัวเองเคยอยู่ในวงการตำรวจ ก็เคยได้รับทราบถึงวิธีการทุจริตที่มีมากมาย
เช่น การให้เข้าสอบแทนกัน โดยมีบุคคลที่เป็นหัวกะทิ ทำหน้าที่เป็น “มือสอบ” ใช้วิธีการหลายรูปแบบ ตั้งแต่เข้าห้องสอบเพื่อจำข้อสอบแล้วออกกดรหัสมอร์สส่งเข้าไปให้ผู้เข้าสอบผ่านนาฬิกาหรือโทรศัพท์ หรืออาจจะนั่งสอบอยู่ด้วยกันแล้วใช้รหัสมือในการส่งสัญญาณมาทีละคำตอบ หรือการรับจ้างเข้าไปสอบโดยทั้งผู้จ้างวานและผู้รับจ้างจะเขียนชื่อและรหัสผู้สอบลงบนข้อสอบสลับกัน เป็นต้น
2.- ยังมีการทุจริตที่เป็นแพ็คเกจใหญ่ ที่มีการนัดแนะลูกค้าอย่างเป็นระบบ ทั้งขั้นตอนการส่งรหัสสัญญาณ การใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงการขโมยข้อสอบออกมาผ่านการซื้อตัวผู้ออกข้อสอบ ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกนำตัวไปกักบริเวณแล้วให้ออกข้อสอบแยกกัน
3.- แม้ปัจจุบันจะมีการตรวจสอบป้องกันการทุจริตการสอบที่เข้มงวดรัดกุมขึ้นแล้ว เช่น การให้ใส่แต่กางเกงวอร์มที่ไม่มีกระเป๋าเข้าห้องสอบ การมีอุปกรณ์ตรวจจับเครื่องมือทุจริต หรือการยึดเอาโทรศัพท์และนาฬิกาไว้ แต่การทุจริตก็ยังเกิดขึ้นได้เสมอจากวิธีการใหม่ๆ ของขบวนการทุจริตและโดยเฉพาะเมื่อผู้คุมสอบเป็นพวกเดียวกัน ก็จะเกิดการปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น
4.- สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้นำเสนอนโยบายการปฏิรูปตำรวจและการป้องกันการทุจริต ที่มีหลักการสำคัญว่าตำรวจต้องยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้โดยประชาชน และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จะสามรถทำไปสู่การบรรเทาปัญหาการทุจริตเช่นนี้ลงได้
5.- สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอเพื่อทำให้สถาบันตำรวจโปร่งใสคือ
- การปรับเปลี่ยนให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) มีสัดส่วนเพิ่มเติมมาจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในสภา
- การมีคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด ที่จะมีสัดส่วนจากภาคประชาชนและท้องถิ่นชุมชนในร่วมกระบวนการคัดสรรนายตำรวจที่จะมาประจำการในแต่ละพื้นที่
- การเปลี่ยนให้เกิดกระบวนการคัดเลือกแข่งขันอย่างเป็นธรรม เช่น การให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบการศึกษาปริญญาตรี ได้สิทธิเลื่อนยศเป็นชั้นสัญญาบัตรก่อนกลุ่มอื่นๆ
- การเปิดรับคนทุกเพศเข้าเรียนนายร้อยตำรวจ และกระบวนการคัดเลือกตำรวจโดยไม่แบ่งแยกปฏิบัติทางเพศ
- การเป็นรัฐเปิดเผย (open government) โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอบที่สามารถเปิดเผยได้
“ที่ผ่านมาการสอบต่างๆ ของตำรวจทำกันแบบกระมิดกระเมี้ยน แอบสอบ หรือปิดห้องสอบเฉพาะสำหรับบางสายทักษะ ทำให้ได้แต่คนที่กินสินบาตรคาดสินบนมาอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคมตำรวจถึงเน่าเฟะแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เราจึงต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเปิดเผยและให้มีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราได้นายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ทุจริต ไม่อยู่ในอาณัติของใครมาทำหน้าที่”
สุพิศาลกล่าว