free geoip

ปัญหาสิทธิเหนือที่ดินของชาวอูรักลาโวยจที่ ‘หลีเป๊ะ’ คือความเจ็บปวดร่วมกันของเรา


ปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง หลังปรากฏภาพเด็กนักเรียนในพื้นที่ ส่วนมากเป็นคนพื้นเมือง “อูรักลาโวยจ” (Urak Lawoi) ต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน เนื่องจากถูกเอกชนที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ ปิดกั้นเส้นทางที่นักเรียนใช้เดินทางไปโรงเรียนเป็นประจำ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปมปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ข้อพิพาททางกฎหมาย แต่เป็นความขัดแย้งที่คนที่เข้าถึงอำนาจรัฐ ใช้อำนาจยึดครอง ที่ดิน ที่ชาวอูรักลาโวยจ อาศัยอยู่มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ด้วยความเจ็บปวดร่วมกันนี้ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตัวแทนสัดส่วนภาคใต้ ได้ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ มอบหมายให้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบแทน สำหรับที่มาที่ไปของเรื่อง และคำถาม-คำตอบ เราได้ดังนี้

1 – กรณีข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะนั้น เริ่มต้นจากพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่ให้ประชาชนจดแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) บนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในช่วงปี 2511-2517

2 – แต่ด้วยวิถีชีวิตชาวเลของกลุ่ม “อูรักลาโวยจ” ที่อาศัยในพื้นที่ พวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้จักระบบกรรมสิทธิ์ ทำให้ในช่วงปี 2497-2498 ที่มีการออกแบบแจ้ง ชาวเลจำนวนมากไม่ทราบและไม่ได้แจ้ง จึงไม่มีเอกสารสิทธิ

3 – สำหรับที่ดินที่เป็นปัญหาตามข่าวนั้น เดิมประชาชนในพื้นที่สามารถใช้สัญจร เด็กนักเรียนก็ใช้เส้นทางนี้เดินทางไปโรงเรียน กระทั่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 มีเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน ให้คนงานสร้างประตูปิดกั้นเส้นทาง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องออกมาเรียกร้องให้เอกชนเปิดทางและคืนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์

4 – สำหรับพื้นที่ในแถบนั้น เดิมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาคาดว่ามีการแบ่งขาย ในเอกสารสิทธิจึงมีชื่อคนอื่นเป็นผู้ร่วมครอบครอง ทำให้พื้นที่บางส่วนเกิดปัญหา เกิดการฟ้องขับไล่ กระบวนการอยู่ในชั้นศาล และต้องให้กรมที่ดินทำการรังวัด แต่หลังจากเกิดการต่อต้านของประชาชน ฝ่ายรัฐได้เจรจากับผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของที่ จนยินยอมเปิดเส้นทางให้นักเรียนใช้งาน ขณะที่กระบวนการคดีฟ้องพิสูจน์สิทธิ ก็ให้ดำเนินการต่อไป

5 – สำหรับการตั้งกระทู้ถาม ส.ส.สมชาย ชี้ให้เห็นว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์ “อูรักลาโวยจ” อาศัยอยู่ริมชายหาดบนเกาะหลีเป๊ะ โดยก่อนปี 2540 สภาพบนเกาะหลีเป๊ะยังเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีการทำประโยชน์ ดังนั้น การที่เอกชนจะได้เอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น ส.ค.1 หรือ น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดิน จะต้องมีหลักฐานปรากฏว่าได้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่จริงๆ ประกอบกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยฟ้องร้องเรื่องเอกสารสิทธิบนเกาะหลีเป๊ะ พบว่ากว่า 40 คดีที่ศาลพิพากษาแล้ว เกือบทั้งหมดเป็น ส.ค.1 ปลอม หรือที่คนในวงการที่ดินเรียกว่า “ส.ค.1 บิน” คือไม่ทราบว่าบินมาจากไหน และศาลพิพากษาให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิไปแล้วหลายราย

6 – จึงต้องถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าได้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิที่เอกชนอ้างเหนือพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะ ตามที่กรมอุทยานฯ เคยดำเนินการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจ้งการครอบครองแปลงละ 50-80 ไร่ ในช่วงปี 2497-2498 ก่อนที่ในปี 2520 จะออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ (น.ส.3 ก.) ไม่ได้มาจากการเดินสำรวจพื้นที่จริง

7 – พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ต้องแยกระหว่าง ‘ความชอบธรรม’ กับ ‘ความเป็นธรรม’ กล่าวคือ คนที่อาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น แต่ต่อมามีแบบแจ้ง ส.ค.1 และ น.ส.3ก เขาทำตามกฎหมาย ถือว่าชอบธรรม แม้จะไม่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ “ถ้าท่านอยากแก้ตรงนี้ ก็ไปแก้กฎหมายอุทยานฯ ท่านพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาอยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จะใช้ช่องทางศาลหรือกฎหมาย ทำได้เลย แต่อย่ามาบอกให้ผมไปดูความถูกต้องในสิ่งที่กรมอุทยานฯ ทำ ที่จะให้กรมอุทยานฯ เพิกถอน นายกฯ ก็ทำไม่ได้ ใครอยากเพิกถอนก็ไปแก้กฎหมาย ให้ชาวเลได้รับความเป็นธรรม”

8 – สมชายชี้ประเด็นต่อไปว่า นอกจากปัญหาที่ดิน บนเกาะหลีเป๊ะรวมถึงจังหวัดอื่นในฝั่งทะเลอันดามัน ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอูรักลาโวยจ ชาวมานิ หรือชาวมอแกน ที่กำลังถูกทำให้กลายเป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ของรัฐไทย ทุกวันนี้ อูรักลาโวยจในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ 1,000 กว่าคน ไม่มีแม้แต่ที่จอดเรือ ไม่มีที่เดินเข้าหมู่บ้าน หรือทางเดินไปยังโรงเรียน นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าการแก้ปัญหาของรัฐไม่สามารถตอบปัญหาของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในสังคมได้ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องตำหนิกรมอุทยานฯ ที่ประกาศเขตอุทยานฯ โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

9 – “ภายใต้รัฐบาลของท่าน ไม่มีนโยบายเรื่องนี้ ถ้าเปรียบว่าวันนี้อยู่ริมเหว พี่น้องชาติพันธุ์ก็เหมือนกลุ่มที่พร้อมจะถูกถีบตกเหว เราอยากให้ฝ่ายนโยบายมองคนเหล่านี้เป็นคนเหมือนกับเรา ถ้าพวกผมเป็นรัฐบาลเมื่อไร จะแก้ปัญหาให้ได้” พร้อมกันนี้ สมชายได้ตั้งคำถามว่า ปัญหาพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่บนหมู่เกาะฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ระนองจนถึงสตูล รัฐบาลจะมีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างไร

10 – ฟาก พล.อ.อนุพงษ์ ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลและให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นใช้กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แก้ปัญหากรณีพิพาทที่ดิน โดยรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปถึงนายกฯ ในฐานะประธาน คทช.

พรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังต่อคำตอบของ พล.อ.อนุพงษ์อย่างยิ่ง เพราะเราเชื่อว่าหน้าที่ของรัฐบาล ต้องไม่ใช่แค่ยืนมองแล้วปล่อยให้คนที่ไร้อำนาจกระเสือกกระสนหาวิธีต่อสู้เท่าที่ทำได้ แต่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมตามกฏหมาย

ท้ายสุด ปัญหาสิทธิเหนือที่ดิน ไม่ได้เป็นเรื่องของคนหลีเป๊ะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนไทยอีกนับล้านคนที่ไม่มีที่ดินของตัวเอง และไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องเอกสารสิทธิ แต่เกี่ยวกับการตระหนักถึงสิทธิของคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากรัฐบาลไทยไม่มีแนวคิดนี้ ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยเรื่องราวแบบเดิม ผู้ชนะและผู้แพ้กลุ่มเดิม และประเทศไทยที่เหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 16 ธันวาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า