
ฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สงขลา ปัตตานี พัทลุง ยังดำเนินต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้แจ้งประกาศ “ธงเหลือง” เพื่อให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายพาหนะไปยังที่ปลอดภัย พร้อมขอให้ติตตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เทศบาลนครหาดใหญ่ได้เปิดศูนย์อพยพ 3 แห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชน และบริการแจกจ่ายกระสอบทราย
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งลงพื้นที่ภาคใต้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และตั้งข้อสังเกตว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) และน้ำป่าไหลหลาก จนถนนหลายสายไม่สามารถเดินทางผ่านได้ สะท้อนถึงการรับมือภัยพิบัติที่ยังมีความบกพร่อง เช่น ระบบแจ้งเตือนน้ำท่วมที่อาจทำงานได้ไม่ดีพอ ส่งผลต่อความพร้อมของประชาชนในการขนย้ายสิ่งของ รวมถึงอันตรายจากไฟดูด หรือสัตว์ร้ายต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม
ด้านคนในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ อย่าง ‘วชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์’ หรือ ‘ครูไพลิน’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 2 พรรคก้าวไกล ระบุว่าน้ำท่วมครั้งนี้ อาจหนักที่สุดในรอบ 12 ปี จากปัญหาสำคัญ 2 เรื่องคือ
(1) การแจ้งเตือนล่าช้า ไม่มีช่องทางเตือนภัยที่เป็นทางการ ประชาชนต้องช่วยเตือนกันเอง เช่น สถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ เป็นการท่วมครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ หลังจากก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในวันจันทร์ (19 ธ.ค. 65) แต่ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ ทำให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของไม่ทัน เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน
(2) คนส่วนใหญ่มักเป็นห่วงเทศบาลนครหาดใหญ่ แต่พื้นที่รับน้ำนอกเทศบาลนครหาดใหญ่ น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน
โดยทั่วไป น้ำท่วมฉับพลันจะมีลักษณะ ‘ท่วมเร็ว-ลดเร็ว’ ประกอบกับตัวเมืองหาดใหญ่มีคลองระบายน้ำจำนวนมาก (เช่น คลองอู่ตะเภา ความยาว 19 กม. สามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองระบายน้ำ ร.1 ความยาวประมาณ 21.3 กม. สามารถระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จึงช่วยให้ระดับน้ำลดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ ที่อาจไม่ได้นึกถึงการรับมือภัยธรรมชาติในอนาคต ทำให้เกิดการสร้างถนนขวางทางน้ำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของคลองระบายน้ำได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ช่วยให้ระดับน้ำในตัวเมืองหาดใหญ่ลดลงเร็วขึ้น คือการมีพื้นที่รับน้ำที่อยู่อำเภอรอบนอก (เช่น อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอเมือง อำเภอสทิงพระ) ซึ่งในทางหนึ่ง แม้ช่วยบรรเทาผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อหาดใหญ่ แต่ก็ทำให้หลายพื้นที่รอบนอกต้องใช้เวลานานขึ้นในการระบายน้ำ ยังไม่นับว่ามีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำผันลงทะเลไม่ได้ และในพื้นที่เหล่านั้นมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติน้อยกว่าด้วย เช่น จำนวนและความพร้อมของศูนย์ประสบภัยฯ รวมถึงการมีผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
พรรคก้าวไกลขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งแรงใจให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เรายืนยันว่า นอกจากมาตรการระยะสั้น อย่างการรับมือสถานการณ์น้ำและเยียวยาผลกระทบแก่ประชาชนซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระยะยาวในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องอาศัยการกระจายอำนาจ เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น มีขีดความสามารถในการดำเนินการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- การจัดตั้งสถานีเตือนภัยและระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับแต่ละท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานกลางในรูปแบบดิจิทัล และมีระบบ Big data ในการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล
- การจัดทำแผนฟื้นฟูและการลดผลกระทบน้ำท่วมระยะยาว สำหรับพื้นที่รับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ เช่น การปรับรูปแบบอาคารที่พักอาศัยในชุมชน