free geoip

สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวไกล คือการตั้งเป้าหมายไประดับโลก โดยตั้งต้นจากท้องถิ่น


‘พิธา’ โชว์วิสัยทัศน์สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ไทยโตเยอะแต่ยังห่างชั้นหลายประเทศในอาเซียน เหตุการจัดสรรงบประมาณไม่สมเหตุสมผล-ขาดปัจจัยเอกชนลงทุน แง้มหลักคิดแบบ “ก้าวไกล” ต้องตั้งเป้าหมายระดับโลก การปฏิบัติที่ท้องถิ่น เปลี่ยนปัญหาของประชาชนให้เป็นโอกาส

เมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม 2565) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงวิสัยทัศน์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในหัวข้อ ‘เทรนด์ใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัลและยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน’ ร่วมกับแกนนำจาก 5 พรรคการเมือง ในงานเสวนา ‘Next Step Thailand 2023 ทิศทางแห่งอนาคต’


พิธากล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท คาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ 15% ต่อปี โดยมีการลงทุนจากภาคเอกชนอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดีเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระบบ ที่จีดีพีคาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% กระนั้นหากเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนด้วยกัน จะพบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 6 ของอาเซียน

หรือเมื่อดูด้านงบประมาณที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล จะพบว่ารัฐบาลได้ให้งบประมาณด้านแผนงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลเพียง 980 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.03% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบประมาณด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.36 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองของกระทรวงมหาดไทย ถึง 7.16 พันล้านบาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์การสร้างยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรง


ดังนั้น การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย จะเกิดขึ้นจากการอาศัยบทบาทของภาครัฐ ที่เข้าไปปรับยุทธศาสตร์ กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ยังล้าหลัง ขัดขวางการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล

(1) ผลักดันด้านอุปทาน ได้แก่ การเพิ่มงบประมาณให้ได้สัดส่วนกับความสำคัญ การลดขั้นตอนในระบบราชการ การสนับสนุนด้านงบประมาณ และการสนับสนุนบ่มเพาะเอกชนที่มีศักยภาพ
(2) ผลักดันด้านอุปสงค์ คือการที่รัฐเข้าไปเล่นบทบาทลูกค้ารายแรกๆ ให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน

และที่สำคัญ คือการเปลี่ยนปัญหาของประเทศให้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลให้หลักคิดด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของพรรคก้าวไกล มองว่าการกำหนดเป้าหมายแม้จะต้องไปให้ถึงระดับโลกหรือระดับภูมิภาคอาเซียน แต่การปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นต้องมาจากรากฐานที่สำคัญที่สุด นั่นคือในระดับท้องถิ่นของประเทศ ที่ปัจจุบันยังเต็มไปด้วยวิกฤติคุณภาพชีวิตและปัญหาของประชาชน


โดยพิธา ยกตัวอย่างการทำน้ำประปาดื่มได้ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยคณะก้าวหน้า ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพของน้ำประปา และกำลังจะมีการติดตั้งเทคโนโลยี IoT (internet of things) ที่จะทำให้กระบวนการผลิตน้ำไปจนถึงการจ่ายค่าน้ำของประชาชนเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด เป็นตัวอย่างของการทำให้ปัญหาของประชาชนกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการตอบสนองทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน

“อาจสามารถ คือรูปธรรมของการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาของประเทศและของประชาชน จากการแก้ปัญหาของอาจสามารถ ไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนในภาคอีสาน นำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนภาคอื่นๆ และของประชาชนทั้งประเทศและของอาเซียนต่อไป นี่คือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแบบพรรคก้าวไกล คือตั้งเป้าหมายให้ไปไกลถึงระดับโลก แต่เริ่มต้นการปฏิบัติจากระดับท้องถิ่น เปลี่ยนวิกฤติของเราให้เป็นโอกาสใหม่ๆ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการกระจายอำนาจ การมีงบประมาณที่เพียงพอในระดับท้องถิ่น และกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย”

พิธากล่าว



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 5,000 บาท ผลิตวันที่ 22 ธันวาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า