
‘ณัฐพงษ์’ แถลงโต้ ‘สมชาย แสวงการ’ อ้างบิดเบือน ถ่วงญัตติเสนอ ครม. ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ยันชี้แจงทุกข้อกังวลครบถ้วน ไม่ควรเป็นเหตุผลยื้อเวลาศึกษาอีก 45 วัน ย้ำความสำคัญ รัฐธรรมนูญใหม่คือทางออกประเทศ
ญัตติที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน เสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติ ให้จัดประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ถูกที่ประชุมวุฒิสภายื้อเวลาขอพิจารณาศึกษาอีก 45 วัน หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง ขอเวลาศึกษา 30 วัน ครบกำหนดเมื่อ 20 ธันวาคม 2565
แต่แล้วพอถึงวันที่ต้องลงมติ สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. ก็ยังอ้างสารพัดเหตุผลในที่ประชุม ส.ว. อาทิ ญัตติดังกล่าวกระทบหลายภาคส่วน เพราะต้องทำประชามติถามประชาชน และเป็นญัตติที่เสนอด้วย ‘กระดาษสองแผ่น ไม่มีหลักการเหตุผลสาระที่มีรายละเอียดมากเพียงพอต่อประชาชน’ ที่จะทำให้วุฒิสภาตัดสินใจได้ ว่าจะส่งเรื่องไปให้ ครม. หรือไม่
ในที่สุด 21 ธันวาคม 2565 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอญัตติ ต้องแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ว่าสมชายได้กล่าวบิดเบือนในที่ประชุมวุฒิสภา โดยเอ่ยชื่อตน และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ว่าเป็น ส.ส.ผู้เสนอญัตติ แต่กลับไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นเหตุผลให้คณะกรรมาธิการต้องขยายเวลาพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าวออกไปอีก 45 วัน
“เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปชี้แจงญัตติแก่กรรมาธิการชุดนี้ ในที่ประชุมวุฒิสภาก็มีข้อห่วงใย 3 ประการ ผมได้ตอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจนสิ้นข้อสงสัย เชื่อว่าน่าจะประกอบเพียงพอสำหรับการลงมติในที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ใช่การมาขอขยายออกไป 45 วันเช่นนี้” ณัฐพงษ์กล่าว
สำหรับ 3 ประเด็นที่กรรมาธิการชุดนี้ตั้งข้อสงสัย ซึ่งณัฐพงษ์ได้ชี้แจงไปหมดแล้วนั้น ประกอบด้วย
(1) ประเด็นที่มาของญัตติ : ญัตตินี้สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อน ญัตตินี้จึงเดินไปตามนั้น เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ฉบับที่สาม ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เป็นเหตุผลว่าทำไมเสนอญัตตินี้ในสมัยประชุมที่แล้ว
(2) ประเด็นกรอบเนื้อหาที่แก้ไข : กมธ.ชุดนี้ตั้งข้อสงสัยด้วยความหวาดระแวง ว่าพรรคก้าวไกลต้องการเสนอญัตตินี้เพื่อแตะเนื้อหาหมวดใดหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งณัฐพงษ์ได้ชี้แจงแล้วว่า ที่มาที่ไปของญัตตินี้เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรอบเนื้อหาการแก้ไข เพราะกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง
กล่าวคือ เมื่อมีการจัดทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 เสียก่อน ดังนั้น กรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะแตะเนื้อหาส่วนใดไม่ได้ ที่มาที่ไปหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ไม่ได้อยู่ในชั้นพิจารณานี้ แต่อยู่ในการพิจารณาชั้นต่อไปหลังทำประชามติ
(3) ประเด็นการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้ง : กมธ. ตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ อาจขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประชามติหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ. ประชามติปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งณัฐพงษ์ชี้แจงแก่ กมธ. ว่าจะมีการจัดทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนที่บอกว่าให้จัดพร้อมกับวันเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงข้อเสนอและข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร
“ในฐานะผู้เสนอญัตติ ทราบข้อห่วงใยนี้มาตั้งแต่ต้น และได้พิจารณาศึกษามาอย่างรอบคอบ ได้มีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนฯ เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 เพื่อแก้ไขให้สามารถทำประชามติพร้อมเลือกตั้งได้ เช่น ใช้คูหาเลือกตั้งเดียวกันได้ บุคลากรเดียวกันได้ และยังปลดล็อกเงื่อนเวลาว่า ครม. มีอำนาจในการเลือกวัน หากเห็นว่าวันเลือกตั้งไม่เหมาะสม ก็จัดวันอื่นได้”
ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์ ยังยืนยันว่า ในฐานะผู้เสนอญัตติ ข้อสงสัยทั้ง 3 ประเด็นได้ถูกชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว การขอขยายระยะเวลาศึกษาไปอีก 45 วัน เป็นเพียงการเตะถ่วงทางการเมืองเท่านั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันจับตาการทำงานของวุฒิสภาและส่งเสียงกดดัน เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำไปสู่ทางออกจากปัญหาทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน