หลังจากห่างหายไปถึงสองปีจากสถานการณ์โควิด ในที่สุดงานประเพณีปีใหม่ของพี่น้องชาติพันธุ์ก็ได้กลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่นี่ ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งพี่น้องชาวม้งได้กลับมาจัดงานประเพณีปีใหม่ชาวม้งอีกครั้ง
ชาวม้งในเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับหลากหลายสีสันตามแบบฉบับบ้าง ตามแบบแฟชั่นสมัยใหม่บ้าง เดินกันขวักไขว่ละลานตา จับจ่ายซื้อของ ร่วมกิจกรรมและการละเล่นต่างๆ ยกโทรศัพท์ถ่ายภาพเก็บบรรยากาศแห่งความสุขร่วมกัน นี่คือบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองอันชื่นมื่นทั้งสำหรับทั้งพี่น้องชาวม้งและคนนอกที่ได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้
ซึ่งรวมถึง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ มานพ คีรีภูวดล ส.ส. ชาวกะเหรี่ยงหนึ่งเดียวในสภา จากพรรคก้าวไกล ที่ได้มาร่วมเฉลิมฉลองร่วมกับพี่น้องชาวม้งในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้ ก่อนแวะเยี่ยมเยียนทานข้าวกับทั้งชาวม้งที่บ้านทรัพย์ล้อม และชาวกะเหรี่ยงที่บ้านรวมใจพัฒนา
แต่การมาของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงการมาเพื่อเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่เราได้มีโอกาสรับฟังปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่ม รวมถึงปัญหาคลาสสิคพื้นฐานที่สุดของพี่น้องชาติพันธุ์แทบจะทุกชนเผ่า นั่นคือเรื่อง “ที่ดิน”
อย่างที่บ้านทรัพย์ล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านชาวม้งที่จัดตั้งขึ้นมาใน อ.พบพระ จ.ตาก หลังสิ้นสุดความขัดแย้งระหว่างกองทัพไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผ่านนโยบาย 66/2523 ซึ่งกองทัพภาค 3 ได้อพยพพี่น้องชาวม้งซึ่งเป็นมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยอมวางอาวุธ จากชุมชนดั้งเดิมที่ อ.อุ้มผาง มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่แทน พร้อมคำสัญญาว่าจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่พวกเขาในการทำกิน
กว่า 30 ปีผ่านไปหลังจากคำสัญญาในวันนั้น กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทุกอย่างแล้วเพื่อให้พี่น้องชาวม้งที่นี่ได้อยู่อาศัยกันเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ ส่งเสริมการเพาะปลูกภายใต้คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จัดตั้งสถานีอนามัย โรงเรียน และสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญจำเป็น ครบถ้วนแทบทุกอย่างแล้ว ยกเว้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่พวกเขา
“ทางการชอบอ้างว่าถ้าให้กรรมสิทธิ์เมื่อไหร่ ชาวบ้านขายให้นายทุนแน่ ๆ แต่เขาไม่เข้าใจว่าเราชาวม้ง ถ้าไม่ใช่สุดวิสัยจริงๆ จะไม่มีทางขายที่ดินให้ใครเป็นอันขาด จะกี่ล้านก็ไม่ขาย
หนึ่งในผู้ใหญ่ของชุมชนชาวม้งบ้านทรัพย์ล้อม เล่าให้เราฟังถึงความหวังที่พวกเขารอคอยมาอย่างยาวนานตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา
วันนั้นเรายอมที่จะทิ้งที่ดินทำกินและลมฟ้าอากาศที่อุ้มผางบ้านเกิดเดิมของพวกเรา มาตั้งรกรากที่นี่ ก็เพราะคำสัญญาว่าเราจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่นี่ วันนี้คำสัญญาเหล่านั้นได้รับการเติมเต็มจนเกือบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขอแค่อย่างสุดท้าย คือกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น เราก็จะไม่ติดใจอะไรอีกต่อไปแล้ว”
ในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน ที่ทำงานผ่านกลไกกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับที่ดินจำนวนกว่า 600 เรื่อง ในจำนวนนี้มีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาติพันธุ์ โดยที่ลักษณะของปัญหาก็แทบจะไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการถูกรุกไล่ หรือการไม่สามารถใช้ประโยชน์ไปได้มากกว่าการเพาะปลูก หรือกระทั่งการไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้เลยจากที่ดินที่แผ้วถางขึ้นมาโดยบรรพบุรุษของตัวเอง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากปัญหากรรมสิทธิ์ ที่รัฐได้ผูกขาดครอบครอง อ้างความเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้ โดยไม่คำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์
นี่คือปัญหาคลาสสิคที่ชาวชาติพันธุ์แทบทุกกลุ่มต้องเผชิญ นั่นคือการไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือผืนดินบรรพบุรุษของตัวเอง หรือที่ดินที่รัฐกึ่งบังคับกึ่งโน้มน้าวย้ายพวกเขาให้มาอยู่ อย่างเช่นกรณีที่บ้านทรัพย์ล้อมแห่งนี้ และต้องเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยโดยการ “อนุโลม” จากรัฐ หรือการเป็น “ผู้เช่า” ที่ดินจากรัฐ ที่แทบจะไม่สามารถทำกินอย่างอื่นได้เลยนอกจากการเกษตร
เมื่อขาดกรรมสิทธิ์ก็ขาดซึ่งความมั่นคง เพราะสถานะของพวกเขาก็เป็นได้แต่เพียงผู้อยู่อาศัย ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ การขยับขยายหรือยกระดับการทำกินใดๆ ก็ติดข้อจำกัด นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อย รวมถึงชาวไทยที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ถูกล็อกเอาไว้ให้อยู่กับความยากจนชั่วนาตาปี และนี่คือเหตุผลว่าทำไมกรรมสิทธิ์จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขา
จากการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยที่เราเป็นพรรคอนาคตใหม่จนเป็นพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องง่ายมากที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ขอเพียงผู้กุมอำนาจรัฐมีเจตจำนงที่แน่วแน่ และใช้อำนาจรัฐนั้นเพื่อออกกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตามให้แก่ชาวบ้าน ตามลักษณะเฉพาะและความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ และนั่นคือสิ่งที่พรรคก้าวไกลมีแนวนโยบายเตรียมเอาไว้แล้ว รอการเปิดตัวในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้
ศักราชใหม่ 2566 คือศักราชแห่งความหวังสำหรับคนไทยที่จะได้เข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง และเป็นปีที่พรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะได้ส่งผู้แทนของพี่น้องชาติพันธุ์ ที่เราได้คัดเลือกมาแล้วให้เป็นผู้สมัครของพรรคก้าวไกล เข้าไปผลักดันแก้ไขปัญหาพื้นฐานอื่นๆ ของชาวชาติพันธุ์อย่างเต็มที่