🚢 พิจารณ์ เผยข้อมูลใหม่จากแหล่งข่าวระบุ “ครีบกันโคลง” ถูกถอดออกจากเรือหลวงสุโขทัยก่อนวันที่ล่ม ชี้ที่กองทัพเรือตอบโต้เรื่องการซ่อมบำรุงเรือฟังไม่ขึ้น ไม่จริงใจ เพราะไม่ยอมเปิดเอกสารการซ่อมบำรุงให้เคลียร์ กมธ. ทหารขอเอกสารไป 3 อาทิตย์แล้วข้อมูลสำคัญยังไม่ส่งมา โปรดรีบเข้ามาชี้แจงโดยเร็ว
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก CSI LA เมื่อวานนี้ได้ออกมาเปิดเผยเอกสารกองทัพเรือ ที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย พร้อมระบุว่าแผ่นเหล็กที่ใช้ซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยในปี 2561 เคยมีปัญหาไม่ผ่านมาตรฐานกองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ เพราะแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำบางกว่าที่กำหนดไว้ พร้อมตั้งข้อสังเกต ว่าการซ่อมบำรุงโดยกองทัพเรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นใช้เหล็กชนิด high-tensile จริงหรือไม่ และการเชื่อมเหล็กและวัสดุที่ใช้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
โดยโฆษกกองทัพเรือและเจ้ากรมอู่ทหารเรือออกมาตอบโต้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการเปิดเผยเอกสารการตรวจสอบก่อนซ่อมบำรุงโดย กองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ กรมอู่ทหารเรือ เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุง
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาให้ความเห็นโดยระบุว่าการออกมาตอบโต้ของกองทัพเรือ ในลักษณะที่ด้อยค่าเพจ CSI LA ว่าเปิดเอกสารไม่ครบ เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะในขณะเดียวกันกองทัพเรือก็ไม่ได้เอาเอกสารอะไรออกมายืนยันข้อกล่าวอ้างของตัวเองเช่นกัน
และที่สำคัญ จากที่ตัวเองได้ติดตามเรื่องนี้มาในคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร มาตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 และได้มีการขอเอกสารสำคัญจากกองทัพเรือไปทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย
- เอกสารการตรวจสอบ checklist ก่อนการออกเรือ ว่ามีการตรวจสอบความพร้อมด้านใดบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ เสื้อชูชีพ แพชูชีพ
- เอกสารการประเมินสภาพอากาศก่อนการตัดสินใจออกเรือ
- รายชื่อ กำลังพลที่ประจำการ พร้อมตำแหน่งในปัจจุบันและที่ผลัดเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2559
- บันทึกการสื่อสารทางวิทยุนับจากที่ออกเดินเรือจนถึงเวลาที่เกิดเหตุ
- ประวัติการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน
- ประวัติบันทึกการปฏิบัติภารกิจของเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2559
- ประวัติบันทึกการเติมเชื้อเพลิงในภารกิจแต่ละครั้ง
- รายชื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
📌 แต่จนถึงวันนี้ กองทัพเรือได้จัดส่งเอกสารมาให้คณะกรรมาธิการฯ เพียงสองรายการเท่านั้น คือรายการที่ 2) และ 3) แต่เอกสารที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง คือเอกสารรายการที่ 5) “ประวัติการซ่อมเรือ” ซึ่งจะเป็นข้อมูลหลักที่สามารถนำมาใช้พิจารณาได้ว่าเรือหลวงสุโขทัย ถูกซ่อมบำรุงตามวงรอบและได้มาตรฐานหรือไม่ กลับยังไม่มีการส่งมอบให้คณะกรรมาธิการฯ มาจนถึงวันนี้
พิจารณ์ยังระบุด้วย ว่าจากที่ตัวเองได้รับทราบมาจากแหล่งข่าวในกองทัพเรือ ยังมีความเป็นไปได้ว่านอกเหนือจากแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำแล้ว ยังมีส่วนประกอบสำคัญของเรืออีกชิ้นหนึ่งที่อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าที่ผ่านมาได้มีการซ่อมบำรุงเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ นั่นคือ “ครีบกันโคลง” ที่ใช้ป้องกันการโคลงของเรือเมื่อต้องกระทบกับคลื่น
ซึ่งแหล่งข่าวยังบอกว่า ครีบกันโคลงทั้งสองข้างของเรือชำรุดเสียหายมาระยะหนึ่งแล้ว และไม่ได้มีการติดตั้งเข้าไปใหม่ในการซ่อมบำรุงครั้งล่าสุด ซึ่งเรื่องนี้ก็ย่อมต้องมีรายละเอียดบ่งบอกอยู่ในเอกสารประวัติการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย ที่ตัวเองได้ขอไปในคณะกรรมาธิการฯ ด้วย ดังนั้น จึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้กองทัพเรือเร่งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แก่คณะกรรมาธิการฯ โดยเร็ว เพื่อพิสูจน์ว่าการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยเป็นไปตามมาตรฐานอย่างที่กองทัพเรือได้กล่าวอ้างจริง