รู้หรือไม่ ?! ว่า 2 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเสี่ยงติดเชื้อ HIV มากขึ้น มติ เพราะ รมว. สาธารณสุข ไม่ยอมเซ็นงบป้องกันโรคของกองทุน สปสช.
1- ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ พ.ย. 65) หน่วยให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ของภาคประชาสังคมจำนวนมาก ไม่สามารถให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ทำให้คนที่ต้องการรับยา PrEP, PEP ซึ่งเป็นยาป้องกัน HIV หรือแม้แต่การแจกถุงยางอนามัยฟรี ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ์ สำหรับคนที่มีสิทธิบัตรทอง/ข้าราชการไปรับได้ที่โรงพยาบาล หรืออาจจะต้องจ่ายค่ายาสำหรับคนที่ไม่มีสิทธิบัตรทอง/สิทธิข้าราชการ
2- สาเหตุที่หน่วยให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ไม่สามารถบริการประชาชนได้ เพราะงบประมาณในส่วนของการป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 รายการ ได้แก่ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP), ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ (PP-HIV), ค่าบริการผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณรวม 5,146.05 ล้านบาท ไม่ถูกอนุมัติ โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3- สาเหตุที่อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยังไม่ลงนาม เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเมืองของอนุทิน มีข้อสังเกตในประเด็น การนำงบที่เกี่ยวกับโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and Promotion: P&P) จากกองทุนบัตรทอง ไปใช้ดูแลทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
4- ที่ปรึกษานายอนุทินมองว่างบประมาณของกองทุนบัตรทอง สงวนเฉพาะประชาชนที่ใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลตามสิทธิ์บัตรทอง ประมาณ 40 ล้านคน เท่านั้น คนที่ใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลอื่นไม่ว่าจะเป็น สิทธิ์ข้าราชการ และสิทธิ์ประกันสังคม ไม่มีสิทธิ์ใช้งบประมาณจากกองทุนบัตรทองส่วนนี้
5- เมื่อรัฐมนตรีไม่เซ็นอนุมัติหลักเกณฑ์และงบประมาณ ทำให้กองทุน สปสช. ต้องออกหลักเกณฑ์การให้บริการใหม่แก่หน่วยบริการสุขภาพ โดยให้หน่วยให้บริการร่วม จัดสรรสิทธิ์ในการป้องกันเชื้อ HIVให้เฉพาะคนที่มีบัตรทองเท่านั้น
6- ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุที่อนุทินเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจกับความเห็นทางกฎหมายแบบนั้น หรือด้วยเหตุผลทางการเมืองอื่นใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนคือ หน่วยให้บริการเกิดความยุ่งยากในการพิสูจน์สิทธิ์ การรณรงค์ป้องกันเชื้อ HIV และการให้บริการยา PrEP, PEP และถุงยางอนามัยแบบเดิมที่ให้บริการคนทุกคนทำไม่ได้ และทำลายหลักการ “นิรนาม” หรือ Non-Stigmatize สำหรับผู้มีความเสี่ยงรับเชื้อ HIV
7- เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลได้ออกมาตั้งคำถามถึงมาตรฐานการตีความกฎหมายของอนุทิน ว่าเป็นการตีความกฎหมายที่ผิดไปอย่างสิ้นเชิง
“โดยหลักการตาม พ.ร.บ. กองทุน สปสช. ถือว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการตามกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลตามสิทธิ์อื่น โดยเฉพาะประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการ ให้ใช้เงินจากสิทธิ์ที่ตนเองมีก่อน”
“การป้องกันเชื้อ HIV และโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and Promotion: P&P) อื่น ไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิ์รักษาพยาบาลของข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ดังนั้นคนไทยที่ต้องการใช้สิทธิ์ตรงนี้จึงอยู่ในหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน”
8- นพ.วาโย ยังกล่าวอีกด้วยว่า ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐมนตรีสาธารณสุขควรต้องเข้าใจสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน สิทธิในการป้องกันโรคไม่ควรเป็นแค่เฉพาะสิทธิของคนไทยแต่ควรครอบคลุมถึงคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคนี้ในประเทศไทยไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังมีกลุ่มคนต่างชาติน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรืออื่นๆ
“การที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ์ตรงนี้ไปถึง 2 เดือน เกิดจากความโง่เขลาของรัฐมนตรีโดยแท้ ไม่ทราบว่าท่านมีบ้านอยู่อวกาศหรืออย่างไร ถึงได้ชอบสร้างสุญญากาศ ครั้งนี้เป็นสุญญากาศด้านการป้องกันเชื้อ HIV ที่ประเทศไทยเคยได้รับการยอมรับในระดับบนานาชาติมายาวนาน”
นพ.วาโยกล่าวทิ้งท้าย
“ขอเรียกร้องให้นายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความกล้าหาญในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนและสังคม อย่ามัวแต่สนเทคนิคทางกฎหมายและการเมือง รีบเซ็นอนุมัติงบประมาณส่วนนี้ให้การป้องกันเชื้อ HIV ในสังคมไทยเป็นไปได้แบบที่เคยเป็นมาโดยเร่งด่วน”