🚕 สมาพันธ์แท็กซี่ไทย ร้องก้าวไกล กรมขนส่งฯ กำหนดค่าจูนมิเตอร์ 300 บาทต่อคัน ชี้แพงเกินเหตุ หวั่นเอื้อประโยชน์นายทุน 5 บริษัท ผูกขาดตรวจสอบมิเตอร์ ด้าน ‘สุเทพ’ ประธาน กมธ.แรงงาน อัด รัฐบาลปล่อยแท็กซี่เดือดร้อน เพราะมัวแต่สนใจผลประโยชน์ตัวเอง
เกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ได้ยื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกลขอให้ตรวจสอบค่าธรรมเนียมการปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ที่มองว่าราคาแพงเกินความเป็นจริง
เกรียงไกร กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า
1- ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้แท็กซี่นำรถเข้าไปปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ ในวันที่ 16 มกราคม 2566 ค่าธรรมเนียมคันละ 300 บาท โดยกำหนด 5 บริษัทที่จะเป็นผู้ดำเนินการด้วย พร้อมกับได้นำโครงสร้างกล่องมิเตอร์มาให้สื่อมวลชนตรวจสอบ
2- ราคาที่กรมการขนส่งฯ กำหนดมาไม่เป็นธรรม เพราะต้นทุนดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้สูง กับขั้นตอนที่เพียงถอดน็อต 4 ตัว และแปะตะกั่วที่เป็นของกรมการขนส่งฯ
3- ปัจจุบันมีแท็กซี่ในระบบทั้งหมด 80,000 คัน รวมเป็นเงิน 24,000,000 บาท อยากทราบว่าเงินจำนวนนี้จะไปตกที่ใคร
4- การที่กรมการขนส่งฯ กำหนด 5 บริษัทที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มองได้ว่าเป็นการรวมหัวกันเพื่อกินแท็กซี่หรือไม่ การต้องแปะตะกั่วของกรมการขนส่งฯ เท่านั้น ทำให้หากมิเตอร์มีปัญหาหรือเสียหายในภายหลัง ผู้ขับแท็กซี่ไม่สามารถซ่อมเองได้ ต้องไปซ่อมกับ 5 บริษัทดังกล่าว
“ตนมองว่าแท็กซี่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่มีใครมองเห็น จึงอยากให้ กมธ.การแรงงาน เข้ามาดูแลพูดคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ”
5- ด้านสุเทพ อู่อ้น ในฐานะประธาน กมธ.การแรงงาน กล่าวว่า เงิน 300 บาท ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนขับแท็กซี่ ใช้จ่ายใน 1 วัน ทั้งเติมก๊าซ เติมน้ำมัน รับประทานอาหาร และใช้จ่ายในครอบครัว ปกติการตรวจสภาพมิเตอร์จะทำเป็นประจำอยู่แล้ว 3 ครั้งต่อปี ครั้งละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 150 บาท แล้วเหตุใดครั้งนี้จึงเก็บเพิ่มเป็น 300 บาท
“ยิ่งหากเป็นการกำหนดจากฝั่งรัฐให้ปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ ก็ควรบริการฟรีด้วยซ้ำ โดยเบื้องต้น กมธ.การแรงงาน จะส่งหนังสือให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พิจารณาเรื่องนี้”
สุเทพกล่าว
“แท็กซี่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 ขอถามไปยังรัฐบาลว่าที่จนถึงวันนี้ ผู้ขับแท็กซี่ยังไม่ได้รับการดูแล เพราะปัจจุบันรัฐบาลมัวแต่สนใจผลประโยชน์ส่วนตนจนลืมแรงงานแท็กซี่หรือไม่”